ผลประกอบการไตรมาส 2 ของ 3 ยักษ์ใหญ่วงการโทรคมนาคม แสดงให้เห็นชัดเจนว่า ค่ายที่มีคลื่นให้เพียงพอกับการใช้งานมีอัตราการเติบโตทางธุรกิจ ในขณะที่ดีแทค แม้มีคลื่นในมือมาก แต่กำลังจะหมดอายุสัมปทาน ทำให้สถานการณ์การลงทุนเครือข่ายเข้มข้นต่างกัน
รายได้จากการให้บริการในธุรกิจมือถือ กลุ่มทรูเติบโตสูงสุด เมื่อเทียบกับอีก 2 ค่าย มีรายได้ในไตรมาส 2 ปีนี้อยู่ที่ 18,367 ล้านบาท เติบโต 9.6% จากช่วงไตรมาสที่ 2 ของปีที่แล้ว ด้วยจำนวนลูกค้าทั้งหมด 28.1 ล้านราย เพิ่มขึ้น 446,000 ราย
ส่วน เอไอเอส มียอดรายได้บริการมือถืออยู่ที่ 31,203 ล้านบาท เติบโต 1.3% และมีจำนวนลูกค้าทั้งหมด 40.1 ล้านราย เพิ่มขึ้น 44,700 ราย
แต่ดีแทค มีรายได้จากการให้บริการลดลง 2.3% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว โดยมีรายได้ส่วนนี้อยู่ที่ 16,033 ล้านบาท จากจำนวนลูกค้าทั้งหมด 21.6 ล้านราย ลดลงจากไตรมาสก่อน 2 แสนราย
เอไอเอสรายงานด้วยว่ามีค่าใช้จ่ายด้านการตลาดลดลง 25% เทียบกับปีก่อน และลดลง 4% เมื่อเทียบกับไตรมาสแรกปีนี้ โดยมีค่าใช้จ่ายอยู่ที่ 2,160 ล้านบาท จากค่าใช้จ่ายการทำแคมเปญ โทรศัพท์มือถือที่ลดลงและเจาะจงลูกค้าเฉพาะกลุ่ม ชดเชยกับค่าโฆษณาที่เพิ่มขึ้นเพื่อสร้างการรับรู้ของแบรนด์ ทำให้อัตราส่วนค่าใช้จ่ายการตลาดต่อรายได้รวมอยู่ที่ 5.1% ลดลงจาก 7.3% ในไตรมาส 2/2560 และ 5.5% ในไตรมาส 1/2561
ทั้งนี้ในไตรมาส 2 นี้ เอไอเอสเปิดตัวพรีเซ็นเตอร์ใหม่ถึง 3 คน คือ แบมแบม GOT7, ทีมนักแสดงจากละครบุพเพสันนิวาส รวมถึงเบลล่า ราณี และ เวียร์ ศุกลวัฒน์
ส่วนดีแทค ค่าใช้จ่ายในการขายและการตลาด อยู่ที่ 1,062 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.3% จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และเพิ่มขึ้น 1.0% จากไตรมาสก่อน โดยส่วนใหญ่เป็นผลจากค่าใช้จ่ายด้านโฆษณาที่เพิ่มขึ้นเพื่อโปรโมตบริการ “dtac TURBO” ที่เปิดตัวในไตรมาสนี้ รวมทั้งใช้ในแคมเปญ “ใจดี” เพื่อเสริมสร้างภาพลักษณ์ของแบรนด์ โดยดีแทคมีพรีเซ็นเตอร์คือ นาย ณภัทร และ ซันนี่ สุวรรณเมธานนท์
ในขณะที่กลุ่มทรูไม่ได้มีรายงานแยกเรื่องค่าใช้จ่ายทางการตลาดของแต่ละธุรกิจออกมาชัดเจน เพียงแต่รายงานค่าใช้จ่ายในการบริหารรวมทุกธุรกิจอยู่ที่ 8,531 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.7% จากไตรมาสเดียวกันปีที่แล้ว โดยที่กลุ่มทรูให้บริการในรูปแบบคอนเวอร์เจนซ์กับทุกธุรกิจ และมีพรีเซ็นเตอร์ใหม่ในไตรมาสนี้คือ ตูน บอดี้สแลม, โป๊ป ธนวรรธน์ และ 3 พรีเซ็นเตอร์สำหรับตลาดภาคอีสาน ไผ่-พงศธร, มนต์แคน แก่นคูน และ ลำไย ไหทองคำ
สำหรับค่าใช้จ่ายเรื่องการลงทุนเครือข่ายนั้น เอไอเอสรายงานว่า มีค่าใช้จ่ายโครงข่าย ในไตรมาส 2 อยู่ที่ 6,879 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 38% เทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และ 26% เทียบกับไตรมาสก่อน
ส่วนดีแทคค่าใช้จ่ายด้านโครงข่าย อยู่ที่ 1,821 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 13% จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน อันเป็นผลจากการเพิ่มความหนาแน่นของโครงข่าย 2100 MHz ณ สิ้นไตรมาส 2 / 2561 ดีแทคมีจำนวนสถานีฐานรวมทั้ง 4G และ 3G บนโครงข่ายคลื่น 2100 MHz อยู่ที่กว่า 42,700 สถานี เพิ่มขึ้น 19% จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ในขณะที่จำนวนสถานีฐาน 4G บนคลื่น 2300 MHz ที่เปิดให้บริการแล้วอยู่ที่ 609 สถานี
ในขณะที่ทรูรายงานว่า ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานหลัก (ประกอบด้วยต้นทุนในการให้บริการไม่รวมค่า IC และค่าใช้จ่ายในการขายและการบริหารอื่นๆ) เพิ่มขึ้น 4.6% จากไตรมาสเดียวกันของปีที่ผ่านมา และ 6.6% จากไตรมาสก่อนหน้าเป็น 19.9 พันล้านบาท จากค่าใช้จ่ายทีเกี่ยวข้องกับโครงข่าย ซึ่งรวมถึงการจ่ายค่าเช่าให้ DIF ภายหลังการขายสินทรัพย์ให้กองทุนเพิ่มเติม และค่าคอนเทนต์จากรายการฟุตบอลโลก 2018 เป็นหลัก
ไตรมาส 2 ทรูกำไรจริง 456 ล้านบาท หลังหักรายได้พิเศษ
สำหรับผลประกอบการรวมของ 3 ค่ายหลักในไตรมาส 2 ปีนี้นั้น ทรูรายงานว่ามีกำไร 10,037 ล้านบาท เมื่อเทียบกับขาดทุน 1.2 พันล้านบาทก็จริง แต่เป็นรายงานพิเศษ มีรายได้จากการขายทรัพย์สินเข้ากองทุน DIF (Digital Infrastructure Fund) จำนวน 24,745 ล้านบาท และค่าใช้จ่ายพิเศษอีก 1.4 หมื่นล้านบาท ซึ่งหากไม่รวมธุรกรรมการขายสินทรัพย์ให้แก่ DIF และรายการพิเศษ ผลกำไรจะเท่ากับ 456 ล้านบาท เทียบกับขาดทุน 1.2 พันล้านบาทในไตรมาส 2 ปี 2560 และขาดทุน 152 ล้านบาทในไตรมาส 1 ปี 2561
ดังนั้นจึงไม่ได้มีการเปรียบเทียบอัตราส่วน% การเปลี่ยนแปลงของตัวเลขกำไรของกลุ่มทรู เมื่อเทียบกับการขาดทุนในปีก่อนหน้านี้
สำหรับเอไอเอส รายได้ในไตรมาส 2 ปีนี้ อยู่ที่ 42,228 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8.1% โดยมีกำไร 8,005 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 11% เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 2 ของปีที่แล้ว
ในขณะที่ดีแทค มีรายได้อยู่ที่ 18,760 ล้านบาท ลดลง -3.5% มีกำไรเพียง 179 ล้านบาท ลดลง -76% เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีที่แล้ว
ธุรกิจบรอดแบนด์ยังโตต่อเนื่อง
ธุรกิจบรอดแบนด์แข่งเดือด เอไอเอส ทรู รายงานยอดการเติบโตสูงทั้งคู่ เอไอเอส แจ้งว่า รายได้จากธุรกิจอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง อยู่ที่ 1,094 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 48% เทียบกับปีก่อน จากจำนวนลูกค้าที่เพิ่มขึ้น 51,600 ราย มีฐานลูกค้ารวม 623,400 ราย โดยมี ARPU ลดลงเล็กน้อย 1.2% เทียบกับไตรมาสก่อนที่อยู่ที่ 618 บาทต่อรายต่อเดือน มาอยู่ที่ 610 บาท
ธุรกิจบรอดแบนด์ อินเทอร์เน็ตของทรูออนไลน์ มีรายได้จากการให้บริการ 6,491 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 15.6% จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนหน้า จากการขยายบริการบนโครงข่าย FTTH ของกลุ่มครอบคลุมทั่วประเทศ โดยมีฐานลูกค้าบรอดแบนด์เพิ่มขึ้น 8.5 หมื่นราย เป็น 3.4 ล้านราย
บอลโลกทำทรูวิชั่นส์รายได้เพิ่ม 13.4%
สำหรับทรูวิชั่นส์ กิจการเพย์ทีวีของกลุ่มทรูนั้นรายงานว่า มีรายได้จากการให้บริการเพิ่มขึ้น 13.4% จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน โดยมีรายได้รวมอยู่ที่ 3,537 ล้านบาท โดยรายได้ส่วนใหญ่มาจากการถ่ายทอดการแข่งขันฟุตบอลโลก 2018 ซึ่งทุกคู่แข่งขันได้ถูกถ่ายทอดผ่านช่องทางที่หลากหลายของกลุ่มทรู ได้แก่ แอปพลิเคชั่นส์ทรูไอดี โทรศัพท์เคลื่อนที่ อินเทอร์เน็ต และโทรทัศน์
แม้ว่ารายได้จากค่าสมาชิกจะอยู่ที่ 2,011 ล้านบาท ลดลง 1% จากไตรมาสเดียวกันของปี 60 เป็นเพราะผลจากการจบฤดูกาลของพรีเมียร์ลีกในช่วงเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา แต่ทรูวิชั่นส์คาดหวังว่า ฤดูกาลใหม่ที่จะเริ่มในเดือนสิงหาคม ซึ่งได้มีแคมเปญ 4K เข้ามาใหม่ คาดว่าจะได้รับผลตอบรับที่ดีขึ้น
ในไตรมาส 2 ทรูวิชั่นส์มีฐานลูกค้ารวมกว่า 4 ล้านราย โดยมีจำนวนลูกค้าที่สมัครสมาชิกเพิ่มขึ้น 3.5 หมื่นรายเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และเพิ่มขึ้น 9 หมื่นรายเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า เป็น 2.2 ล้านราย.