เมื่อตลาดเครื่องดื่มชูกำลังอยู่ในภาวะหดตัว การหันไปขยายฐานคนรุ่นใหม่ และการขยายไปสู่ต่างประเทศ จึงต้องเดินหน้าอย่างเข้มข้น
โรงงานผลิต เป็นอีกหนึ่งในปัจจัยที่จะช่วยสนับสนุนให้การไปสู่เป้าหมายได้รวดเร็วยิ่งขึ้น จึงเป็นที่มาของการย้ายฐานการผลิตบรรจุภัณฑ์ของคาราบาว กรุ๊ป มารวมศูนย์อยู่ที่ อ.บางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา บนพื้นที่ 182 ไร่ เพียงแห่งเดียว ด้วยงบลงทุน 8,700 ล้านบาท (ไม่รวมที่ดิน)
ประกอบไปด้วย โรงงานบรรจุเครื่องดื่มชูกำลัง (CBD) โรงงานผลิตขวดแก้ว (APG) และโรงงานผลิตกระป๋องอะลูมิเนียม (ACM) ที่ได้ย้ายฐานการผลิตจากโรงงานเดิมที่บางบ่อมาที่นี่ทั้งหมด เตรียมรองรับการเติบโตในอนาคต
โดยเฉพาะโรงงานกระป๋องอะลูมิเนียมแห่งใหม่ ยังร่วมทุนกับบริษัท SHOWA DENKO Group จากญี่ปุ่น เป็นโรงงาน Top 5 ในด้านนี้ มีลูกค้ารายสำคัญอย่างคิรินและซัปโปโร ซึ่งใช้งบลงทุนกว่า 2,200 ล้านบาท ก่อสร้างโรงงานผลิตกระป๋อง ทำให้คาราบาวกรุ๊ปมีกำลังการผลิตกระป๋องของตัวเอง 1,000 ล้านกระป๋องต่อปี เพื่อการส่งออกโดยเฉพาะ โดยมีความเร็วในการผลิตกระป๋องแบบอ้วนเตี้ย (Stubby Can) สูงถึง 2,400 กระป๋องต่อนาที
ส่วนโรงงานผลิตขวดแก้ว จะเพิ่มกำลังการผลิต จาก 640 ล้านขวด/ปี เพิ่มขึ้นเป็น 1,300 ล้านขวดปีในปี 2561 ปี และโรงงานบรรจุสินค้าเครื่องดื่มชูกำลัง (CBD) รูปแบบขวดกว่า 1,600 ล้านขวด/ปี ส่งออกไปจีนและพม่า และแบบกระป๋องส่งออกหมดปีละกว่า 1,500 ล้านกระป๋อง
โรงงานผลิตทั้ง 3 แห่งนี้ ถูกคาดหมายว่าจะรองรับกำลังการผลิตได้อีก 2 ปี
กมลดิษฐ สมุทรโคจร รองกรรมการผู้จัดการ และ Chief Production Officer (CPO) กลุ่มโรงงาน บริษัทคาราบาวกรุ๊ป จำกัด บอกว่า การมีโรงงานผลิตกระป๋องอะลูมิเนียมเป็นของตัวเอง จะช่วยลดต้นทุนและช่วยเพิ่มผลกำไรในระยะยาว ในอนาคตหากมีกำลังการผลิตเหลือจะสามารถผลิตและจำหน่ายให้กับลูกค้ารายอื่นได้อีกต่อไป
“ยังมีกำลังการผลิตเหลือ แต่ต้องดูยอดส่งออกด้วย โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ที่เป็นพระเอกในจีนอย่างเครื่องดื่มชูกำลังคาราบาวแบบไม่อัดแก๊สในบรรจุภัณฑ์แบบกระป๋องสั้นขนาด 250 มล. ซึ่งถ้ายอดขายที่จีนเดินหน้าไปได้ดี ก็อีกไม่นานอาจลงทุนโรงงานใหม่เพิ่ม”
โรงงานทั้ง 3 แห่งของคาราบาวแดง ใช้เทคโนโลยีเพิ่มเรื่องการผลิตรวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น ช่วยลดต้นทุน ลดกำลังคน ซึ่งผู้ประกอบการไทยจะก้าวไปแข่งขันในระดับโลกได้ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องพึ่งพานวัตกรรมและเทคโนโลยีเหล่านี้
กฤษณ์พงษ์ นิลวงษ์ ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด บริษัท คาราบาวตะวันแดง จำกัด บอกว่า ตั้งแต่ 2545 ที่คาราบาวเปิดตัวเป็นครั้งแรกกับบทเพลงเพื่อชีวิต และเมสเสจ “นักสู้ผู้ยิ่งใหญ่” เพื่อขายในประเทศ
จนเวลานี้ ได้ขยายไปสู่การเป็นแบรนด์ตลาดโลก ได้ปรับภาพลักษณ์ให้มีความทันสมัยมากขึ้น ด้วยเมสเสจ “ทำให้สุดฝีมือ” (Do your best) เพื่อสอดรับกับเทรนด์ของตลาดโลกที่คนรุ่นใหม่นิยมดื่มเครื่องดื่มชูกำลังมากขึ้น
โดยในไทยเอง พบว่ามากกว่า 60% ของผู้บริโภคอายุน้อยกว่า 40 ปี มีอัตราการบริโภคเครื่องดื่มชู
แผนการตลาดนี้ จึงมุ่งไปที่การปรับภาพลักษณ์แบรนด์ให้มีความทันสมัย เข้าถึงกลุ่มคนรุ่นใหม่มากขึ้น จากเทรนด์โลกที่พบว่าโลกกำลังขับเคลื่อนด้วยคนหนุ่มสาว ซึ่งกลุ่มนี้นิยมหันมาดื่มเอนเนอร์ยีดริงก์มากขึ้น ครึ่งปีหลังปี 2561 ใช้งบการตลาดกว่า 100 ล้านบาทจัดกิจกรรส่งเสริมการขายและโปรโมชั่นมากขึ้นในรายพื้นที่ รวมถึงทำการตลาดในช่องทางออนไลน์มากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่อายุต่ำกว่า 40 ปีลงมา พบว่ามีอัตราการดื่มเครื่องดื่มชูกำลังเพิ่มขึ้น 102%
รวมถึงแผนการขยายเครื่องดื่มชูกำลังใหม่ที่เป็น Cabornated drink กลิ่น ‘กรีน แอปเปิล’ ในรูปแบบกระป๋องขนาด 325 มล. ใช้แรปเปอร์หนุ่ม “โต้ง Twopee” เป็นพรีเซ็นเตอร์ โดยเริ่มขายที่เซเว่น อีเลฟเว่น ต่อไปจะขยายช่องทางใหม่ๆ เพิ่มรสชาติให้หลากหลาย
‘สาวบาวแดง’ หรือโปรโมชั่น เกิร์ล ของคาราบาวแดง จะทำหน้าที่อย่างเข้มข้นและละเอียดมากขึ้น เพื่อเป็นอาวุธในการบุกช่องทางเทรดดิชันนัลเทรด ซึ่งเครื่องดื่มชูกำลังขายผ่านช่องทางนี้ถึง 80%
อย่างไรก็ตาม แม้จะพยายามลดทอนความดุดันและภาพลักษณ์ของนักรบจับดาบสู้ศึก รวมถึงเพลงเพื่อชีวิตในอดีตที่ตอกย้ำและสื่อสารกับผู้บริโภคมาเน่ิ่นนาน แต่ดีเอ็นเอสำคัญของแบรนด์อย่างแอ๊ด-คาราบาว หรือ ยืนยง โอภากุล ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่อันดับ 3 ใน CBG ด้วยสัดส่วน 7.05% ยังคงเดินสายทำกิจกรรม บุก On-ground activity ทั่วไทยเช่นเคย
คาราบาวแดงตั้งเป้าเติบโตในปีนี้ 30% แบ่งเป็นอัตราการเติบโตในประเทศ 10% และในต่างประเทศ 20% โดยคาราบาวแดงตั้งเป้าหมายชิงตลาดเอ็ม 150 ให้ได้ภายใน 2-3 ปี ด้วยส่วนแบ่งการตลาด 33% โดยเฉพาะการบุกอีสาน ซึ่งถือเป็นภูมิภาคหลักของตลาดเครื่องดื่มชูกำลัง (30%) ซึ่งคาราบาวแดงยังมีส่วนแบ่งการตลาดในภาคอีสานห่างจากผู้นำกว่าเท่าตัว.