ภาพยนตร์ GIRLS DON’T CRY บทต่อยอดการตลาด BNK48

เริ่มฉายไปแล้วสำหรับภาพยนตร์สารคดี BNK48: GIRLS DON’T CRY จากผลงานการกำกับของเต๋อ นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์ ที่มาพร้อมกับความท้าทายที่ว่า จะทำอย่างไรให้คนที่ไม่เคยสนใจไอดอลกลุ่มนี้มาก่อนเดินเข้ามาดูภาพยนตร์เรื่องนี้

ส่วนถ้าจะทำถามว่าทำไม BNK48 ต้องสร้างหนังของตัวเอง

เหตุผลที่สนับสนุนการทำภาพยนตร์ที่ดีที่สุด ก็เพราะการตลาดต้องมีสตอรี่ ยิ่งมีสตอรี่มากยิ่งมีประเด็นให้ติดตาม ทั้งต่อตัวแบรนด์และแฟนคลับ การโยนโจทย์แล้วทำสิ่งใหม่ๆ ขึ้นมา ทำให้แบรนด์ไม่อยู่นิ่ง มีความเคลื่อนไหวอยู่เสมอ

เพราะฉะนั้นภาพยนตร์สารดคีของ BNK48 ที่ออกมาครั้งนี้ ณ ตอนนี้ก็คาดเดาได้เลยว่า อาจจะมีภาคต่อที่จะเป็นเรื่องเล่าให้กับแบรนด์อย่างต่อเนื่อง เหมือนที่ AKB48 ต้นตำรับในญี่ปุ่น ก็ทำออกมาแล้วหลายภาคด้วยกัน

ภาพยนตร์ฉายวันแรกเมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2561 ที่ผ่านมา โดยก่อนมีภาพยนตร์หากย้อนไปดูการตลาดของ BNK48 จะเห็นว่าเดินตามรอย AKB48 วงลิขสิทธิ์ต้นตำรับมาตลอด ทั้งการเปิดเธียร์เตอร์เปิดรับสมาชิกรุ่นใหม่ รวมถึงเปิดบริษัทใหม่ บีเอ็นเคโปรดักชั่นเพื่อที่จะให้วงมีรายการทีวีเป็นของตัวเอง

โดย บีเอ็นเคโปรดักชั่น เป็นบริษัทร่วมทุนระหว่างบริษัท บีเอ็นเค48 ออฟฟิศ ผู้ดูแลวง BNK48 บริษัท เวิร์คพอยท์ เอ็นเตอร์เทนเมนท์ จำกัด (มหาชน) และ จิรัฐ บวรวัฒนะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โรสอาร์ทิสท์เมเนจเม้นท์ จำกัด (RAM) ซึ่งร่วมลงทุนในนามส่วนตัว

ดาร์กดราม่า หรือมาร์เก็ตติ้งก็เป็นเรื่องจริงที่ต้องยอมรับมัน

พอพูดกันว่าสารดคีเรื่องนี้เป็นการถ่ายทำเบื้องหลังของสมาชิกไอดอลวง BNK48 ที่อนุมัติการสร้างโดยบริษัทผู้ดูแลเอง คนก็คิดกันไปก่อนแล้วว่า จริงเหรอ ใครจะกล้าเอาเบื้องหลังที่เชื่อแน่ว่าไม่สวยงามเหมือนสิ่งที่แฟนคลับได้เห็นเบื้องหน้าออกมาสู่สายตาคนภายนอก บริษัทกล้าเหรอที่จะเปิดเผยเรื่องราวการแข่งขันของไอดอล ที่โดยรูปแบบของวงแล้วจะมีต้องมีการหมุนเวียนสับเปลี่ยนสมาชิกที่มีทั้งเข้ามาใหม่ จบออกไป หรือมีการเปลี่ยนตำแหน่งในวง ไปตามความนิยมจากแฟนคลับตามคอนเซ็ปต์ของแพลตฟอร์มที่วางเอาไว้

อีกอย่าง เบื้องหลังไอดอล ก็ไม่ใช่กระบวนการผลิตสินค้าที่ต้องโชว์มาตรฐานการผลิตเพื่อสร้างความไว้วางใจจากผู้บริโภคเสียหน่อย

แต่นี่แหละที่เด็ด เพราะการเปิดเผยเรื่องราวเหล่านี้ แม้จะบอกว่าวางใจในทีมการผลิตและการคิด การเก็บข้อมูล เพื่อนำมาถ่ายทอดของผู้กำกับมากน้อยเพียงไร แต่ทั้งหมดทั้งมวลในขั้นตอนท้ายสุดก็ต้องผ่านสายตาของเจ้าของลิขสิทธิ์อยู่ดี ว่าจะโอเคที่จะปล่อยผลงานนั้นออกไปหรือไม่

นั่นคือเหตุผลแรก ที่อาจจะทำให้คนเข้าใจและเชื่อตั้งแต่ว่า ภาพยนตร์สารดคี BNK48 คือส่วนหนึ่งของกลยุทธ์การตลาดที่บริษัทผู้ดูแลสร้างออกมาตามโรดแมปของธุรกิจตามต้นแบบลิขสิทธิ์ ซึ่งวางไว้อยู่แล้วตั้งแต่ต้น รวมทั้งมีการทำให้เห็นมาแล้ว เพียงแต่นี่เป็นครั้งแรกที่ทำกับแบรนด์ BNK48 ซึ่งเป็นวงน้องสาวเท่านั้นเอง

เพราะฉะนั้นไม่ว่าเรื่องราวในภาพยนตร์จะดูดาร์กดราม่า หรืออย่างไรในความรู้สึกของใคร ทั้งโอตะและผู้ชมภาพยนตร์ทั่วไป และแม้จะปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นเรื่องจริงอีกมุมหนึ่งของ BNK48 ที่ถูกถ่ายทอดออกมาในอีกรูปแบบ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ด้วยเช่นกันว่า นี่คือลำดับขั้นตอนการทำตลาดของแบรนด์ที่มีอยู่แล้วตั้งแต่ต้น ดังนั้นขึ้นชื่อว่าดูภาพยนตร์ก็อย่าไปคิดจริงจังอะไรมาก

วางกรอบการตลาดแล้วมองหนังผ่านมุมมองของผู้กำกับ

สำหรับเครดิตของผู้กำกับอย่าง เต๋อ นวพล และครีเอทีฟ ไดเร็กเตอร์ของ แซลมอน เฮาส์ อย่าง วิชัย มาตกุล ซึ่งได้รับความไว้วางใจให้เป็นผู้สร้างภาพยนตร์ เพราะมีสไตล์การผลิตผลงานที่มีแนวทางไม่ซ้ำใคร พวกเขามีไอเดียอย่างไรในการทำหนังเรื่องนี้

ทั้งคู่ตอบรับงานนี้เพราะบริษัทผู้ดูแล BNK48 เปิดกว้างเต็มที่เรื่องการนำเสนอ บวกกับความที่ไม่ได้เป็นโอตะ และต่างก็มีความรู้จักเกี่ยวกับสมาชิกในวงน้อยมาก ทำให้โปรเจกต์หนังครั้งนี้เริ่มต้นด้วยวิถีแห่งหนังโดยแท้จริง

นวพล เริ่มจากการทำเซอร์เวย์หาข้อมูลด้วยการเกาะติดกิจกรรมไปกับสมาชิกเป็นเวลา 1 เดือนเต็ม เพื่อสังเกต ศึกษา จนได้รับความไว้วางใจจากสมาชิกในวง ที่จะถ่ายทอดความรู้สึกและเรื่องราวของตัวเองเพื่อบันทึกไว้เลือกเป็นส่วนหนึ่งของภาพยนตร์ เขาได้แรงกระตุ้นเชิงบวกจากแนวคิดที่เคยมีความสนใจอยากทำสารคดีเกี่ยวกับเกิร์ลกรุ๊ป บอยแบนด์ อยู่แล้ว พร้อมกับแนะว่าถ้าไม่มองว่าหนังเรื่องนี้คือ BNK48 อีกมุมหนึ่งก็คือเรื่องราวของวัยรุ่น ซึ่งจัดว่าตรงกับกลุ่มเป้าหมายหลักของผลงานส่วนใหญ่ที่ผ่านๆ มาของเขาอีกด้วย

ทำให้เขาคิดว่านี่คือการกำกับหนังวัยรุ่นเรื่องหนึ่งมากกว่าแค่การถ่ายทอดเรื่องราวของวง BNK48 เพราะอย่างน้อยความเป็นภาพยนตร์ก็ควรจะเป็นผลงานทั่วไปที่เปิดกว้างให้คนทุกกลุ่มเข้ามาดูได้ นอกจากกลุ่มแฟนคลับที่เชื่อว่าต้องมาดูกันอยู่แล้ว

ดังนั้น ถ้าจะให้เหตุผลว่าทำไมคนทั่วไปก็ดูหนังเรื่องนี้ได้ คำตอบที่ได้ก็คือ เพราะทุกคนเคยเป็นวัยรุ่น ที่ล้วนแต่เคยผ่านความรู้สึกสมหวัง เสียใจ หรือความรู้สึกแบบที่สมาชิกในวงแต่ละคนมีเหมือนๆ กัน และนี่คือหนังวัยรุ่น เพียงแต่เล่าผ่านวงไอดอลวงนี้นั่นเอง

แต่ด้วยพิเศษของวง BNK48 ที่มีโอตะหรือแฟนคลับที่เฝ้ารอดูผลงานของสมาชิกในวง เขาก็ต้องเลือกที่จะระวังความรู้ของแฟนคลับ โดยเลือกวิธีนำเสนอภาพของสมาชิกครบทุกคน แต่เลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องมีมากหรือน้อยต่างกันไป โดยถ้าบทน้อย จะเน้นเลือกวางให้อยู่ในตำแหน่งหรือนำเสนอสิ่งที่คนนั้นพูดได้ดีที่สุด โดยมีเป้าหมายว่าอยากให้หนังเป็นเรื่องราวของทุกคนที่สมบูรณ์ในตัวเอง

ที่สำคัญที่สุด แม้จะมีต้นตำรับของแบรนด์มาจากญี่ปุ่น แต่การทำภาพยนตร์ของ BNK48 จะเดินเรื่องภายใต้บริบทแบบไทย ซึ่งก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าคงเลี่ยงไม่พ้นที่จะมีอารมณ์ที่คล้ายกันบ้าง ด้วยแพลตฟอร์มของแบรนด์ที่กำหนดให้สมาชิกต้องตกอยู่ภายใต้ขั้วตรงข้ามระหว่างมิตรภาพและการแข่งขันอย่างหนักหน่วงท่ามกลางกลุ่มคนวัยเดียวกัน

เพราะฉะนั้น ไม่ว่าสตอรี่จะเป็นอย่างไร เรื่องราวเล่าแล้วก็จบไป ในฐานะคนดูแค่เลือกเก็บสาระที่เป็นประโยชน์มาใช้กับตัวเองก็พอ เหมือนดูหนังดูละครแล้วย้อนดูตัว ซึ่งอย่างน้อยก็น่าจะทำให้ได้เรียนรู้ว่าด้วยระบบของวงที่ทำให้ต้องมีการแข่งขันตลอดเวลานั้น แม้จะทำให้มีคนสมหวังผิดหวังอยู่เสมอ แต่ข้อดีที่สุดของการแข่งขันก็คือ การสร้างพัฒนาการอย่างต่อเนื่อง เพราะต้องไม่ลืมว่า ถ้าวงอยู่ไม่ได้ ต่อให้มีสมาชิกมากความสามารถสักกี่ร้อยคนก็คงไม่มีผลดีกับใคร.