‘iAM’ แตกค่ายเพลง ‘Independent Records’ ดันไอดอลสู่ ‘ตลาดแมส’ เพิ่มโอกาสทำเงิน

หากพูดถึงตลาด ไอดอล บ้านเรา แน่นอนว่าชื่อของ BNK48 ยังคงเป็นชื่อแรก ๆ ที่ใครหลายคนนึกถึง แต่แน่นอนว่าปัจจุบันกระแสอาจจะไม่อยู่ในจุดพีคเหมือนช่วง ‘คุกกี้เสี่ยงทาย’ ฟีเวอร์ อีกทั้งยังเจอกับช่วง COVID-19 มาเบรกไป 2 ปี ทำให้ บริษัท อินดิเพนเด้นท์ อาร์ทิสท์ เมเนจเม้นท์ จำกัด หรือ iAM ต้นสังกัดศิลปินวง BNK48 และ CGM48 ต้องหาทาง เปิดตลาดใหม่ โดยการคลอด ค่ายเพลง เพื่อต่อยอดศักยภาพน้อง ๆ ไอดอล เพื่อหาโอกาสสร้างรายได้และเพิ่มฐานแฟนคลับกลุ่มใหม่ ๆ

เจ็บหนักจากโควิด

ย้อนไปช่วง 5-6 ปีก่อนที่เป็นช่วงพีคของ BNK48 สามารถทำรายได้สูงสุดถึงปีละ 600-700 ล้านบาท เลยทีเดียว แต่หลังจากที่เจอกับการระบาดของ COVID-19 ส่งผลให้งานอีเวนต์ต่าง ๆ ไม่สามารถจัดได้ ทำให้รายได้ในปีที่ผ่านมาของบริษัทลดเหลือแค่ 190 ล้านบาท เท่านั้น

แน่นอนว่าบริษัทก็มีการปรับตัว ทั้งการเน้น ออนไลน์ มากขึ้นเพื่อชดเชยรายได้ ไม่ว่าจะเป็นการจัดคอนเสิร์ตออนไลน์ การจัดกิจกรรม Virtual greeting แทนที่การจับมือ รวมถึงการทำเหรียญโทเคน, NFT เพื่อสร้าง BNKVerse โดยตั้งเป้าที่จะดันให้รายได้ 50% มาเป็น ออนไลน์ จากเดิมที่มีสัดส่วนราว 30% และลดสัดส่วนรายได้จากเมอร์ชันไดซ์ และ อีเวนต์ จาก 35% ให้เหลือ 25%

เปิดค่ายเพลงหวังให้แมสขึ้น

อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่าวงไอดอลนั้นเป็นตลาดที่นีช ซึ่งจุดแข็งก็คือความเหนียวแน่นของ Core Fanclub หรือเหล่า โอตะ แต่การจะทำให้ BNK48 แมสมากขึ้น จ๊อบซัง ณัฐพล บวรวัฒนะ ประธานฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท อินดิเพนเด้นท์ อาร์ทิสท์ เมเนจเม้นท์ จำกัด จึงได้ฉีกไปทำคอนเทนต์ใหม่ ๆ อย่างภาพยนตร์ ผ้าผีบอก ที่เพิ่งฉายไป และ ซีรีส์ ที่จะได้เห็นในปลายปีนี้

นอกจากนี้ ที่ผ่านมาค่ายก็ได้ชิมลางลองทำเพลงจับฐานแฟนคลับต่างจังหวัด ซึ่งถือว่าเป็นกลุ่มที่ใหญ่อย่างเพลง โดดดิด่ง ร้องเพลงประกอบภาพยนตร์ ไทบ้านxBNK48 จากใจผู้สาวคนนี้ ซึ่งมียอดวิวใน YouTube กว่า 189,218,183 views หรือเพลง หมกกบ ร้องเพลงประกอบภาพยนตร์ ผ้าผีบอก

ล่าสุด บริษัทจึงได้แตกค่ายเพลงภายใต้สังกัด iAM เป็นการขยายธุรกิจกลุ่มมิวสิกในชื่อ Independent Records (อินดิเพนเด้นท์ เรคคอร์ด) โดยจะดึงศิลปินจาก BNK48 +CGM48 ทั้ง 77 คน เพื่อทำเพลงให้สามารถเข้าถึงทุกเพศทุกวัยได้มากขึ้น เบื้องต้น ได้มีศิลปินเดี่ยวและเกิร์ลกรุ๊ปภายใต้ค่ายเพลงใหม่ ได้แก่

  • แก้ว-ณัฐรุจา ชุติวรรณโสภณ กับเพลง “อาการชัด”
  • เพลงประกอบภาพยนตร์ The Cheese Sisters Namneung x Noey โดยตาหวาน-อิสราภา ธวัชภักดี
  • eRa (อีล่า) เพลงอิสาน เน้นความสนุก
  • QRRA (คาร่า) สไตล์เพลงทีป็อป
  • INDY CAMP ซีซั่น 2 ต่อยอดจากความสำเร็จในซีซั่นที่ 1
  • Queenie (ควินนี่) ซึ่งแตกไลน์มาจากโปรเจกต์ชราไลน์

“จากนี้อะไรที่เป็นออริจินอลของเราเอง ที่ไม่ใช่ไอดอลสไตล์จะอยู่ภายใต้ค่ายเพลงนี้ เพราะต้องยอมรับว่าที่ผ่านมาเราทำเพลงเองอย่าง โด่ดิด่ง เรายังโปรโมตผ่าน BNK48 พอมันเป็นภาพของ BNK48 คนภายนอกที่ไม่ใช่ Fanclub ก็อาจจะมี BIAS คิดว่าเป็นเพลง BNK48 ทำให้ไม่สามารถเสพต่อ แต่พอเราแยกค่ายออกมาการสื่อสารก็จะชัดเจนขึ้น”

ศิลปินเปิดกว้าง = โอกาสทำเงิน

ณัฐพล ย้ำว่า ธุรกิจไอดอลก็ไม่ต่างจากดนตรี แค่เปลี่ยนจากแนวเพลง ไอดอลสไตล์ มาเปิดกว้างมากกว่าขึ้น สามารถทำเพลงได้หลากหลายสไตล์ อาทิ เพลงป็อป, เพลงอีสาน ทำให้เปิดกว้างในการรับรู้ของแบรนด์ดิ้งและตัวน้อง ๆ สมาชิกมากขึ้น แต่สุดท้ายทั้ง 2 ส่วนก็จะมาสนับสนุนกันเองไม่ว่าจะทางไอดอลออกไปสู่ตลาดแมส หรือจากตลาดแมสมาสู่ไอดอล นอกจากจะเปิดกว้างด้านการแสดงศักยภาพแล้ว ในแง่การสร้างรายได้ก็ต้องยอมรับว่ามีมากขึ้น เพราะสามารถหา สปอนเซอร์ ได้หลากหลายสไตล์มากขึ้น

อย่างไรก็ตาม แม้ค่าย Independent Records พื้นที่ให้น้อง ๆ ทั้ง 77 คนได้แสดงศักยภาพในสายงานอื่นนอกจากการเป็นไอดอล แต่จะเป็นในลักษณะ ออดิชั่น ซึ่งเบื้องต้น ค่ายจะเน้นให้โอกาสน้อง ๆ ก่อน ยังไม่มีแผนปั้นศิลปินภายนอกอื่น ๆ แต่เป็นไปได้ที่จะมีการฟีดเจอร์ริ่งกับศิลปินต่างค่าย เพราะต้องยอมรับว่าการเป็น BNK48 มันมีข้อจำกัดอยู่

“ตอนนี้เราให้ความสำคัญกับการเปิดพื้นที่ให้น้อง ๆ แสดงศักยภาพมากกว่าที่จะไปดึงคนนั้นคนนี้มาเป็นศิลปิน แต่ถ้าจะมีฟีจเจอรริ่งกันอันนี้ไม่ติดเลยมีโอกาสแน่เลย”

ตั้งเป้าโกย 100 ล้าน ใน 3 ปี

สำหรับงบการตลาดของเครือวางไว้ที่ 100 ล้านบาท สำหรับใช้ตั้งแต่ปลายปี 2565 จนถึงปี 2567 โดยจะเน้นสร้างการรับรู้ผ่านสังคมออนไลน์ครบทุกแพลตฟอร์มชั้นนำ และออนกราวด์ เช่น กิจกรรมโรดโชว์ หรือคอนเสิร์ต รวมถึงใช้พันธมิตรสื่ออย่าง แพลนบีมีเดีย เพื่อกระจายการรับรู้ โดยภายในปีนี้คาดว่าบริษัทจะมีรายได้ 440 ล้านบาท ตามเป้าหมายที่วางไว้ ส่วนรายได้จากฝั่งของ Independent Records คาดว่าภายใน 3 ปี จะมีรายได้ 100 ล้านบาท

“ต้องยอมรับว่าการแข่งขันในธุรกิจไอดอลและธุรกิจเพลงสูงอยู่แล้ว และยิ่งครึ่งปีหลังจากนี้การแข่งขันยิ่งสูงเพราะทุกอย่างมันอั้นมาจาก 2 ปีที่แล้ว แต่เราเชื่อว่าเราได้เปรียบตรงฐานแฟนคลับที่แข็งแรง ส่วนน้อง ๆ ก็ต้องแสดงความสามารถให้เป็นที่ยอมรับมากขึ้น เพราะตลาดมันกว้างกว่าแค่ไอดอลแล้ว”

ณัฐพลย้ำว่า แม้ว่าตลาดไอดอลจะไม่ฟีเวอร์เหมือนช่วงก่อนหน้านี้ แต่พลังของ โอตะ ยังพร้อมให้การสนับสนุน แม้ว่าเศรษฐกิจจะทำให้กำลังซื้อลดลงก็ตาม ขณะที่งานอีเวนต์ต่าง ๆ ก็ยังไม่กลับมา 100% เหมือนก่อน ยังฟื้นเพียงแค่ 60-70% เท่านั้น แต่เชื่อว่าปีหน้าจะยิ่งแข่งขันสูงแน่นอน เพราะตลาดต้องการสิ่งใหม่ ๆ ไม่ว่าจะตลาดไอดอลหรือตลาดเพลง