คดีหุ้น ส.ส. – ส.ว. จุดเปลี่ยน สู่ “นิติรัฐ”

กลายเป็นปมร้อนฉ่า เขย่าขวัญกลุ่มคนที่เรียกว่า “นักการเมือง” หลังจาก กกต. มีมติให้16 ส.ว. สิ้นสมาชิกภาพตามรัฐธรรมนูญ

เนื่องจากถือหุ้นในธุรกิจสื่อ และบริษัทที่เป็นคู่สัญญาสัมปทานกับรัฐ หรือคู่สัญญาอันมีลักษณะผูกขาดตัดตอน เข้าข่ายกระทำการขัดมาตรา 48 เข้าข่ายขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 265(2)

ขึ้นเขียง ลุ้นระทึกรอผล “เชือด”

ไม่ว่าผลวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญจะออกเช่นใด ก็จะกลายเป็น “บรรทัดฐาน”โดยเฉพาะในทางการพิจารณาข้อกฎหมายในลักษณะเดียวกันต่อไป กับกลุ่ม ส.ส.

นักการเมืองอีก “ล็อตใหญ่” ที่อยู่ในข่ายถูก กกต. “สอย” เช่นเดียวกัน

ส.ส. ที่ถูกร้องเรียนรวมแล้ว 80 กว่าราย แม้จะหักผู้ที่ถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง หรือลาออกไปแล้ว ก็ยังคงเหลือ ส.ส. ที่ “ติดบ่วง” อีก 60-70 คน หากนับเป็นจำนวนเสียง ก็ถือว่ามากพอที่จะจะส่งผลกระทบทางการเมือง

หาก ส.ส. กลุ่มนี้ต้อง “มีอันเป็นไป”

โดยเฉพาะกับ “เสถียรภาพรัฐบาล” ที่ทั้ง 6 พรรคการเมืองโดนฤทธิ์ของ “พิษหุ้น” ไป ถึง 30 กว่าคน หากเสียงจำนวนนี้หายไป

สุ่มเสี่ยงที่เกิดภาวะ “เสี่ยงปริ่มน้ำ” อีกครั้ง

ถึงแม้ว่าจะมีมี ส.ส. ฝ่ายค้าน ทั้งพรรคเพื่อไทย พรรคประชาราช อีก 26 เสียงที่ติดบ่วงอยู่ด้วย และต้องรอวัดผลจากการเลือกตั้งซ่อม และการเลื่อนลำดับในบัญชี ส.ส. มาทดแทนก็ตาม

แต่เหตุปั่นป่วนเกิดขึ้นกับการเมืองที่ต้องวุ่นแก้ปมร้อนกันในช่วงหนึ่ง

ทั้งนี้สิ่งที่ตามมาหลังการสอย ส.ว. โดย กกต. คือการแสดงอาการ “ดิ้นพล่าน” ของนักการเมืองในสภาฯ ที่ปวดแสบปวดร้อนเพราะ“พิษหุ้น” กันระนาว

นอกเหนือไปจากการเตรียมข้อมูลเอกสารการถือครองหุ้น เพื่อเป็นข้อ “แก้ต่าง” ทางกฎหมาย ยังมีความพยายามเอ่ยอ้างหาเหตุผลมาเป็น “ข้อแก้ตัว” ในความผิดพลาดที่เกิดขึ้น

โดยเฉพาะการ “โยนบาป” ให้ “รัฐธรรมนูญ”

ยิ่งในสถานการณ์ยามนี้ ที่ประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญ กฎหมายหลักของประเทศ เพื่อลบล้างความผิดของคนการเมืองที่กระทำความผิด และถูกจับติดคุกคุมขังทางการเมือง กำลังร้อนแรง

ด้วยเกม “นิรโทษกรรม”

มีความพยาม “ลบล้างความผิด” คืนอิสรภาพให้แก่นักโทษการเมือง ในคุก 111 และ 109 ที่ถูกจองจำ ในฟลอร์คณะกรรมการสมานฉันท์เพื่อศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

เหตุของ “พิษหุ้น” จึงกลายเป็นเหตุ “สมอ้าง” ในการโละรัฐธรรมนูญ

โดยมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ของผู้ที่ได้รับผลกระทบจากกรณีการถือครองหุ้น ว่าเป็นเพราะรัฐธรรมนูญปี50 ที่ร่างขึ้นด้วยความเคียดแค้นชิงชัง

จุดมุ่งหมายเพียงจะ “ทำลายล้าง” อดีตผู้นำ แต่ส่งผลกระทบต่อนักการเมืองคนอื่นๆ ไปด้วย

หรือที่ชี้ว่า ผู้คุมกฎกติกาทั้ง กกต. และศาลรัฐธรรมนูญไม่ควรตีความ “หยุมหยิม” เพราะการถือหุ้นเล็กน้อย ไม่ส่งผลต่อการบริหารบริษัทสัมปทานรัฐ ก็ไม่สมควรโดนลงโทษ

รวมทั้งการออกมาสำทับของนักวิชาการบางส่วน ที่ให้เหตุผลสอดคล้องกับคนการเมือง ยกเหตุผลเรื่องหลักนิติศาตร์ “เข้มข้น” จะส่งผลเสียในภาพรวม

แทนที่จะประยุกต์หลักรัฐศาสตร์มาใช้ควบคู่ เทียบเคียงข้อกฎหมายที่ควรให้ “เป็นคุณ” มากกว่ามุ่ง “เอาโทษ”

หากไม่ขบคิดพิจารณาถี่ถ้วน ก็อาจะเคลิ้มคล้อยในเหตุผลต่างๆ นานาข้างต้น

ทั้งที่หลายเรื่องหลายประเด็น เป็นการหยิบยกที่ไม่รู้ว่า ตั้งใจพูดทั้งที่รู้ หรือเพราะไม่รู้จริงๆ
แต่อาจทำให้ผู้คนส่วนใหญ่เข้าใจผิด

เชื่อตามการ “ป้ายสี รธน.”

จริงอยู่ ในมาตรา 48 ที่มีข้อห้ามสำหรับ ส.ส. – ส.ว. เข้าไปถือหุ้นหรือมีส่วนบริหารในกิจการสื่อ อาจเป็นเรื่องใหม่ ที่ไม่เคยมีมาในรัฐธรรมนูญฉบับก่อน

และหากจะอ้างก็อ้างได้ว่า มาตรานี้ร่างขึ้นมาเพราะมุ่งทำลายใครบางคน โดยยกกรณีที่บริษัทอดีตนายกฯ เข้าไปฮุบกิจการไอทีวี หรือกวาดต้อนครอบครองหุ้นในกิจการสื่อหลายแห่ง

แน่นอนว่าข้อกล่าวหาการ “แทรกแซงสื่อ” ของอดีตนายกฯ ก็เป็นต้นแบบที่สำคัญ ที่นำไปสู่การร่างกฎเกณฑ์กติกา เป็นเครื่องมือในการปกป้องคุ้มครองสื่อ ที่ถือเป็นเรื่องที่ดีมิใช่หรือ

การมีกฎเกณฑ์กติกาขึ้นมาปกป้อง ควบคุม ไม่ให้ใครคนใดคนหนึ่ง หรือคณะบุคคลอื่นใดเข้ามามามีอิทธิพลครอบงำสื่อ ไม่ว่าจะเป็นวิทยุ โทรทัศน์ หนังสือพิมพ์

และใช้อิทธิพลนั้นแทรกแซง ขัดขวาง การทำหน้าที่ของสื่อสารมวลชนที่ดี

ในเมื่อเคยมีกรณีตัวอย่างมาแล้วว่า ข้อเท็จจริงที่ผ่านการปรุงแต่ง กำหนดประเด็น ทำให้เกิดการบิดเบี้ยวในข้อมูลข่าวสารที่ส่งออกมาถึงประชาชน

สื่อที่ไม่เป็นอิสระ สื่อที่ถูกแทรกแซง สื่อที่เป็นเพียงกระบอกเสียงรับจ้าง สร้างผลกระทบต่อประเทศชาติบ้านเมือง ในทางที่เลวร้ายมากน้อยเพียงใด?

ขณะเดียวกัน ในเรื่องการห้าม ส.ส. – ส.ว. ถือครองหุ้นในสัมปทานรัฐ ที่เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญไม่ต้องการให้เกิดการแทรกแซงเกิดความเสียหายแก่รัฐ

เพื่อป้องกันการแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบในระหว่างปฏิบัติหน้าที่

เป็นบทบัญญัติในหมวดการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ ในส่วนที่เกี่ยวกับการป้องกันการกระทำที่เป็นการ “ขัดกันแห่งผลประโยชน์” ที่ถูกมองว่าเป็น “ยาแรง” ของนักการเมืองบทนี้

บทบัญญัตินี้ไม่ได้เพิ่งถูกกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญปี 2550 แต่ประการใด

หลักการในเรื่องการป้องกันการ “ขัดกันแห่งผลประโยชน์” ของ ส.ส. และ ส.ว. นี้ ก็ถูกระบุไว้ในมาตรา 110 วงเล็บ 2 ของรัฐธรรมนูญปี 2540

เป็น “ยาแรง” ที่มีกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนอยู่แล้ว

ดังนั้น การจะอ้างว่า “รธน. บกพร่อง” จึงไม่ใช่เรื่องจริง รวมทั้งที่หยิบยกเหตุผลว่า ไม่รู้ ไม่เข้าใจ หรือสอบถามเจ้าหน้าที่แล้ว ให้ความเห็นว่าการถือครองหุ้นดังกล่าวไม่มีความผิด

ย่อมไม่ใช่ข้ออ้างที่ดีและมีเหตุผล

โดยเฉพาะสำหรับผู้ที่ทำหน้าที่ ส.ส. และ ส.ว. เป็นสมาชิกองค์กรฝ่ายนิติบัญญัติ ร่างกฎหมาย กฎเกณฑ์สำหรับการบังคับใช้ในประเทศชาติบ้านเมือง

อีกทั้งก็เคยมีตัวอย่างให้เห็น ถึงจะเป็นคนละส่วนก็ตามที กับกรณีที่รัฐมนตรีหลายรายในรัฐบาลพล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ที่ต้องหลุดจากตำแหน่ง เพราะถือครองหุ้นเกิน 5 เปอร์เซ็นต์

ทั้งที่ช่วงนั้นบทบัญญัติในมาตรานี้ยังไม่ได้บังคับใช้กับรัฐบาลชั่วคราว แต่ด้วยคำว่า “จริยธรรม” ที่ถูกชูอวดของ ครม.ขิงแก่ รัฐมนตรีเหล่านั้นก็จำต้องยอมสละตำแหน่งไป

หรือล่าสุดเมื่อสมัยรัฐบาลสมัคร สุนทรเวช ก็เคยมีรัฐมนตรีหลุดจากตำแหน่งเพราะเรื่อง “หุ้น 5 เปอร์เซ็นต์” มาแล้ว

หากเทียบเคียงถึงตำแหน่งรัฐมนตรี อยู่ในฐานะฝ่ายบริหาร ที่ต้องเกี่ยวกับการใช้อำนาจรัฐ ที่ความโปร่งใส ธรรมาภิบาล การตรวจสอบถือเป็นเรื่องสำคัญ

แต่ขณะเดียวกัน อย่าลืมว่า ส.ส. และ ส.ว. ก็คือสมาชิกขององค์กรหลัก 3 ฝ่ายที่ถ่วงดุลอำนาจกัน ก็มีความสำคัญเช่นกัน

ถึงตรงนี้ ต้องบอกว่า หากต้องการบ้านเมืองของเราจะหลุดพ้นจากความเป็นสังคมหยวนๆ สังคมอะลุ้มอล่วย เล็กๆ น้อยๆ ก็ประนีประนอมกันไป

สังคมยักคิ้วหลิ่วตา หรือการปิดตาข้างหนึ่ง ที่ทำให้ปัญหาการทุจริตคอรัปชั่นฝังรากลึกในสังคมไทยมาช้านาน

หรือหากไม่อยากให้มีข้ออ้าง “บกพร่องโดยสุจริต” ไม่ให้มีการ “ซุกหุ้น” โดยมีวาระซ่อนเร้นแอบแฝงด้วยต้องการ “ผลประโยชน์” หรือการใช้การตีความกฎหมายแบบ “ศรีธนญชัย

หากต้องการนำพาประเทศก้าวไปสู่ความเป็น “นิติรัฐ” ที่ผู้คนในสังคมให้ความเคารพ ยึดถือยึดหลักในกฎเกณฑ์กติกาของบ้านเมือง อย่างในอารยประเทศ

ต้องการเห็นหลักของธรรมาภิบาล ผู้บริหาร ผู้มีอำนาจของประเทศ มีความโปร่งใส และสามารถตรวจสอบได้

ฉะนั้นผู้คุมกฎเกณฑ์กติกาจะต้องพิจารณาปมหุ้น ส.ส. และ ส.ว. โดยไม่ต้องสนหน้าอินทร์หน้าพรหม ผิดก็ว่ากันไปตามผิด ถูกก็ว่าไปตามถูก

จักต้องทำให้เกิดการบังคับใช้กฎหมายหลักของประเทศให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อสร้าง “มาตรฐาน” ให้เป็นบรรทัดฐานต่อไปในบ้านเมือง

เพื่อก้าวเดินไปสู่ความเป็น “นิติรัฐ”