ต่างชาติแค่สีสัน! คอนโดอยากโตยาว ต้องพึ่งลูกค้าไทยซื้ออยู่จริง 80%

เน็กซัส พรอพเพอร์ตี้ ชี้ราคาที่ดิน ทำเล และการขยายตัวของเมือง เป็นปัจจัยหลักส่งให้ราคาคอนโดมิเนียมปรับตัวสูงขึ้น

การเข้ามาซื้อคอนโดเพื่อลงทุนของชาวต่างชาติ ที่หวังผลการลงทุนระยะยาว อาจเป็นเพียงสีสันให้วงการอสังหาในช่วงระยะเวลา 1-2 ปีนี้ แนะผู้ประกอบการให้คำนึงถึงกลุ่มลูกค้าคนไทยที่ซื้อเพื่ออยู่จริง และควรศึกษาถึงความต้องการที่แท้จริงของผู้บริโภคก่อนพัฒนาสินค้า เพื่อให้ได้สินค้าที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการสูงสุด เพื่อการเติบโต อย่างมั่นคงและยั่งยืนของตลาดคอนโดมิเนียม

นลินรัตน์ เจริญสุพงษ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เน็กซัส พรอพเพอร์ตี้ มาร์เก็ตติ้ง จำกัด พบว่าอัตราการเติบโตของอุปทานโดยเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 10% ต่อปี โดยราคาจะปรับเพิ่มสูงขึ้น 8-12% ต่อปี

การที่ราคาคอนโดมิเนียมที่สูงขึ้นเป็นเพราะปัจจัย ราคาที่ดินที่สูงขึ้น ที่ดินหายากขึ้น การเปลี่ยนแปลงนี้จะเป็นปัจจัยให้ผู้ประกอบการต้องพิจารณาในการพัฒนาสินค้า เพื่อตอบสนองกับการเติบโตของตลาดในระยะยาวแบบยั่งยืนอีกด้วย

ภาพรวมตลาดคอนโดมิเนียมไตรมาส 2 ของปี 2561

คอนโดมิเนียมในตลาดกรุงเทพฯ เติบโตขึ้น 9,395 หน่วย จาก 20 โครงการ ทำให้ในตลาดมีคอนโดมิเนียมรวม 573,000 หน่วย

  • ทำเล ที่มีคอนโดมิเนียมเปิดใหม่มากที่สุด คือ บริเวณจรัญสนิทวงศ์ และสะพานควาย ซึ่งเป็นเขตรอบใจกลางเมือง
  • ราคา พบว่าภาพรวมตลาดราคาเฉลี่ยคอนโดมิเนียมปรับตัวสูงขึ้น 5% ในช่วงครึ่งปีแรก คือ 137,100 บาท/ตารางเมตร

แต่เมื่อเจาะลงมาใน กลุ่มตลาดใจกลางเมือง พบว่ายังคงเป็นตลาดที่มีการปรับตัวของราคาสูงที่สุด คือ 6% หรือ 223,000 บาท/ตารางเมตร

ส่วนตลาดรอบใจกลางเมืองปรับตัวสูงขึ้น 4% หรือ 110,000 บาท/ตารางเมตร และตลาดรอบนอกราคาปรับตัวสูงขึ้นอีก 3% หรือ 75,000 บาท/ตารางเมตร ตามลำดับ

สำหรับความต้องการคอนโดมิเนียมในกรุงเทพฯ หลายปีที่ผ่านมาพบว่าเป็นดีมานด์จากคนไทย ที่ซื้อเพื่อการอยู่อาศัยจริงมากกว่า 80% แต่ช่วง 1-2 ปีนี้ จะเห็นได้ว่าเริ่มมีกำลังซื้อจากชาวต่างชาติมากขึ้น โดยจะซื้อผ่านนายหน้าเป็นหลัก ส่วนใหญ่ซื้อเพื่อการลงทุน ปล่อยเช่าทั้งในแบบระยะสั้นและระยะยาว เพราะคาดหวังในผลตอบแทนรายปีและจากราคาที่ปรับตัวสูงขึ้น

แต่ในความเป็นจริงแล้ว ราคาค่าเช่าไม่ได้เติบโตในอัตราส่วนเดียวกับราคาขายของคอนโดมิเนียม

ดังนั้น ในระยะยาวนักลงทุนน่าจะหวังผลกำไรจากราคาขายต่อที่เพิ่มสูงขึ้นได้เป็นหลัก และหากจะคาดว่าต่างชาติจะเข้ามาถือครองคอนโดมิเนียมในสัดส่วน 49% อาจเห็นได้ในบางโครงการเท่านั้น และในที่สุดแล้ว ตลาดที่น่าจะต้องให้ความสนใจเป็นหลักก็ยังคงเป็นตลาดคนไทยนั่นเอง

10 ปีตลาดคอนโดเปลี่ยนไปแค่ไหน

ภาพรวมการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นของตลาดคอนโดมิเนียมในช่วง 7 – 10 ปีที่ผ่านมา

1) ทำเลที่ตั้ง เพราะเมื่อเมืองขยายตัว ส่งผลให้การคมนาคมขนส่งที่ขยายตัวและเติบโตมากขึ้น ส่งผลให้คอนโดมิเนียมขยายบริเวณออกไปด้วย

การเปลี่ยนแปลงที่น่าสนใจ คือ สัดส่วนอุปทานที่เพิ่มสูงขึ้นมากอย่างเห็นได้ชัดในช่วง 7 ปีที่ผ่านมา คือ 2 ทำเลรอบนอก ได้แก่ ธนบุรี-เพชรเกษม ซึ่งจากเดิมในปี 2554 มีเพียง 13,000 ยูนิต แต่ปัจจุบันในไตรมาส 2/2561 พบว่าเพิ่มขึ้นเป็น 66,000 ยูนิต

อีกทำเลหนึ่ง คือ งามวงศ์วาน ติวานนท์ ที่จากเดิมในปี 2554 มีเพียง 17,000 ยูนิต กลับเพิ่มขึ้นเป็น 73,000 ยูนิต

2) ขนาดของห้อง ขนาดห้องของคอนโดมิเนียมเล็กลงอย่างมาก เช่น คอนโดมิเนียม 1 ห้องนอน เดิมมีขนาด 65 ตารางเมตร ปัจจุบันลดลงเหลือเพียง 28 ตารางเมตร ห้องเล็กลงเกินกว่าครึ่งหนึ่งจากเมื่อ 10 ปีที่แล้ว

ในขณะที่คอนโดมิเนียมขนาด 2 ห้องนอน แต่เดิมมีขนาด 120 ตารางเมตร ในปัจจุบันเหลือเพียง 45 – 48 ตารางเมตร เป็นต้น

3) รูปแบบของห้อง (Room Mix) หลายปีก่อน หนึ่งโครงการห้องชุดขนาด 2 และ 3 ห้องนอน จะมีสัดส่วนห้องมากที่สุดของทั้งโครงการ ในขณะที่ห้องชุดขนาด 1 ห้องนอน มีสัดส่วนเพียง 20 – 30% เท่านั้น

แต่ในปัจจุบันห้องชุดแบบ 1 ห้องนอน จะเป็นสัดส่วนหลัก จนแทบจะหาคอนโดมิเนียมขนาด 3 ห้องนอนในโครงการใหม่ๆ ไม่ได้เลย และด้วยขนาดห้องที่เล็กลง ส่งผลให้มีจำนวนห้องในแต่ละโครงการเพิ่มขึ้น

เช่น ที่ดินขนาด 2 ไร่ จากสมัยก่อนที่เคยทำคอนโดมิเนียมตึกสูงได้จำนวน 300 ยูนิต ปัจจุบันเพิ่มเป็น 500 ยูนิต ส่งผลให้มีคอนโดมิเนียมเพิ่มขึ้นในอัตราที่ค่อนข้างสูงในช่วงหลายปีที่ผ่านมา

4) ราคาต่อหน่วย ตลาดซิตี้คอนโด ระดับราคาเริ่มต้นที่ประมาณ 1.5 ล้านบาท – 3 ล้านบาทต่อยูนิต มีสัดส่วนมากกว่า 70% ของจำนวนห้องชุดทั้งหมดในตลาด ซึ่งถือว่าเป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุดในกรุงเทพฯ

แต่ถูกจำกัดด้วยความสามารถในการผ่อนชำระของผู้ซื้อมาโดยตลอด ทำให้ผู้ประกอบการต้องเปลี่ยนแปลงรูปแบบพัฒนาโครงการ กำหนดขอบเขตของต้นทุนให้อยู่ในเงื่อนไขราคาต่อหน่วยที่กำหนด

ด้วยราคาที่ดินที่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้ทำเลของโครงการถูกขยับออกไปไกลจากใจกลางเมืองมากขึ้น โดยเกาะขอบแนวรถไฟฟ้าที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต หรือเข้าไปอยู่ในซอยเล็กเป็นอาคาร 8 ชั้น เป็นต้น

กำลังซื้อกับประเภทคอนโด ใครไหวแค่ไหน

หากวิเคราะห์สัดส่วนรายได้จากกลุ่มคนทำงานในกรุงเทพฯ แล้ว

  • กลุ่มคนทำงานในระดับเจ้าหน้าที่มีรายได้ต่อเดือนไม่เกิน 35,000 บาท สามารถซื้อคอนโดมิเนียมขนาด 1 ห้องนอน ในกลุ่มซิตี้คอนโดระดับราคาไม่เกิน 2.5 ล้านบาท
  • กลุ่มตลาดระดับกลาง (mid market) พนักงานในระดับเจ้าหน้าที่อาวุโสหรือหัวหน้างาน ผู้มีรายได้ไม่เกิน 65,000 บาทต่อเดือน จึงจะสามารถเริ่มซื้อได้
  • ในขณะที่คอนโดระดับไฮเอนด์ผู้ที่สามารถซื้อได้ จะต้องอยู่ในระดับผู้จัดการขึ้นไป หรือผู้ที่มีรายได้ 120,000 บาทต่อเดือน
  • กลุ่มลักซัวรี่และซูเปอร์ลักซัวรี่จะต้องเป็นเจ้าของกิจการและผู้บริหารระดับสูงเท่านั้น

ด้วยราคาคอนโดมิเนียมที่ปรับตัวสูงขึ้นเฉลี่ย 7-8% ต่อปีต่อเนื่องกันมา ทำให้คอนโดมิเนียมมีราคาเพิ่มสูงขึ้นมากกว่ารายได้ของประชากรกรุงเทพฯ ทำให้ซื้อได้ห้องขนาดเล็กลงในทำเลเดิม หรือซื้อห้องขนาดเท่าเดิมในทำเลที่ไกลออกไป   

ในระยะกลางหรือระยะยาวคอนโดมิเนียมในกรุงเทพฯ จะขยายตัวออกไปยังชานเมืองมากขึ้นเรื่อยๆ และศูนย์กลางการทำงาน อาจมีการขยายตัวไปยังบริเวณรอบใจกลางเมืองมากขึ้นเหมือนเช่น พระราม 9 บางซื่อ พหลโยธิน รัชดาภิเษก เป็นต้น

ในขณะที่ตลาดคอนโดมิเนียมใจกลางเมือง การเติบโตของตลาดคอนโดมิเนียมมือสองจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ด้วยราคาที่ต่ำกว่าราคาคอนโดมิเนียมใหม่ ขนาดห้องที่ใหญ่กว่า อยู่อาศัยได้จริง ซึ่งอาจจะไม่เห็นในกลางเมืองกรุงเทพฯ ในระยะ 1-2 ปีข้างหน้า แต่ในระยะยาวลักษณะแบบนี้ก็จะเกิดขึ้นในตลาดกรุงเทพฯ เหมือนเมืองใหญ่ๆ ทั่วไปในโลก เช่น นิวยอร์ก หรือโตเกียว เป็นต้น.