เปิดเบื้องลึก เอเชียนเกมส์ 2018 ไม่ปัง แพ็กเกจทำข่าวสุดแพง

มหกรรมกีฬาเอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 18 ที่ประเทศอินโดนีเซีย กำลังจะปิดฉากลงในวันที่ 2 กันยายนนี้แล้ว ท่ามกลางความเงียบเหงา มาดูสาเหตุสำคัญที่ทำให้ข่าวกีฬาเอเชียนเกมส์ปีนี้ดร็อปลง

ออกอากาศเพียง 2 ช่อง 

ในยุคทีวีเดิมที่ยังอยู่ในระบบแอนะล็อก การซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอดกีฬาเอเชียนเกมส์จะเป็นเป็นภารกิจของทีวีพูล หรือโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทยแต่เพียงผู้เดียว โดยทีวีพูลที่มีสมาชิกหลักคือ ช่อง 3, 5,7 ,9 และ 11 เวียนถ่ายทอดสดวันละช่องตามลำดับ

เมื่อเข้าสู่ยุคทีวีดิจิทัล ที่มีช่องทีวีถึง 25 ช่อง ประกอบกับลิขสิทธิ์ของเอเชียนเกมส์ตกอยู่ในเอเจนซี่ เดนท์สุ ซึ่งเสนอขายทีวีพูล แต่เมื่อทีวีพูลยังไม่ตอบรับเดนท์สุจึงไปสนอขายให้กับทีวีดิจิทัลช่องอื่นๆ จนกระทั่งมาสรุปที่เวิร์คพอยท์ ซึ่งกลุ่มเดนท์สุเป็นหนึ่งในผู้ถือหุ้นใหญ่ของเวิร์คพอยท์อยู่แล้วการเจรจาจึงไม่ยาก

การซื้อลิขสิทธิ์เอเชียนเกมส์ครั้งนี้ เพราะเวิร์คพอยท์ต้องการขยายฐานผู้ชมของช่องเพิ่มขึ้นจากกลุ่มผู้ดูกีฬา

แม้ไม่มีรายงานเป็นทางการว่าค่าลิขสิทธิ์ที่เวิร์คพอยท์ซื้อในครั้งนี้เท่าไร แต่มีรายงานว่ามูลค่าอยู่ที่ประมาณ 70-100 ล้านบาท ซึ่งรวมค่าจัดการประสานงานและการถ่ายทอดทั้งหมด

เดิมทีเวิร์คพอยท์ตั้งใจว่าจะถ่ายทอดสดรายการนี้แต่เพียงผู้เดียว แต่ก็ติดปัญหากฎ Must Have ของ กสทช.ที่ระบุให้กีฬาเอเชียนเกมส์เป็นหนึ่งใน 7 ประเภทกีฬาที่จะต้องออกอากาศทางฟรีทีวี โดยมีเงื่อนไขว่า แมตช์ที่คนไทยแข่งขันจะต้องมีการเผยแพร่อย่างทั่วถึง ทำให้เวิร์คพอยท์ต้องวิ่งหาทีวีดิจิทัลช่องอื่นๆ มาร่วมถ่ายทอดสดด้วยตามคำแนะนำของ กสทช.

หลังจากการเจรจากับหลายช่อง เวิร์คพอยท์ได้ข้อสรุปเบื้องต้นว่าจะร่วมมือกับ NBT ของกรมประชาสัมพันธ์ แต่เกิด accident ในนาทีสุดท้าย เมื่อ กสทช.ไม่อนุมัติให้ NBT มีโฆษณาได้

พีพีทีวีจึงส้มหล่น เข้ามาเสียบแทน ด้วยราคาพิเศษประมาณ 5 ล้านบาท สำหรับการ Sub licence ในครั้งนี้

เมื่อมีเพียง 2 ช่องที่ได้สิทธิถ่ายทอดสด แม้ว่าเวิร์คพอยท์จะอยู่ในกลุ่มช่องแถวหน้าอันดับ 3-4 ส่วนพีพีทีวีอยู่ในระหว่างอันดับ 10-12 แต่ด้วยฐานผู้ชมที่ยังไม่ได้แมสทั่วประเทศ การโหมประชาสัมพันธ์มหกรรมกีฬาเอเชียนเกมส์ ทำได้แค่เพียงที่ช่องเวิร์คพอยท์เพียงช่องเดียวเท่านั้น เทียบกับในอดีตในนามทีวีพูล การโหมโปรโมตพร้อมๆ ทั้งทุกช่องใหญ่ และทำกันล่วงหน้าก่อนมหากรรมกีฬาแข่งขันประมาณ 1 เดือน ทำให้เกิดกระแสความตื่นเต้น รับรู้ในประชาชนในวงกว้างได้มากกว่า

ราคาแพ็กเกจทำข่าวสูงลิ่ว

ในอดีต เมื่อลิขสิทธิ์เป็นของทีวีพูล ช่องทีวีทั้ง 5 ช่องสมาชิก สามารถส่งทีมไปทำข่าวได้ตามปกติ โดยเฉพาะกีฬาที่มีนักกีฬาไทยไปร่วมทำการแข่งขัน แต่เนื่องจากในครั้งนี้ลิขสิทธิ์ครั้งนี้ตกอยู่ในมือของเอกชน คือ เวิร์คพ้อยท์ ซึ่งได้คิดค่าลิขสิทธิ์จากช่องทีวีต่างๆ ที่ต้องการไปทำข่าวที่สนามแข่งขันมาออกอากาศในช่องตัวเอง

มีทั้งหมด 3 แพ็กเกจ ราคาตั้งแต่ 5 ล้านบาท, 3 ล้านบาท, 2 ล้านบาท และถูกสุด 2 แสนบาทต่อวัน

 

ด้วยราคาค่าลิขสิทธิ์ที่สูงลิบเช่นนี้ ทำให้บรรดาช่องทีวีดิจิทัลส่วนใหญ่ตัดสินใจไม่ส่งทีมข่าวไปรายงานข่าว และไม่ซื้อภาพข่าว บางช่องใช้วิธีรายงานแห้ง หรือไม่รายงานเลย

ในขณะที่ช่องใหญ่ๆ อย่างช่อง 7 ก็หันไปใช้ภาพนิ่ง หรือผลงานในอดีตของนักกีฬาที่ได้เหรียญรางวัลแทน และส่งทีมข่าวไปเจาะในแคมป์นักกีฬาไทย บางช่องใช้ภาพข่าวจากสำนักข่าวต่างประเทศมารายงานแทน ส่วนช่อง 3 ส่งนักข่าวไปทำข่าว และซื้อภาพข่าวลิขสิทธิ์จากเวิร์คพอยท์บ้าง

นอกนั้นมีเพียงไม่กี่ช่องที่ซื้อภาพข่าวบ้าง แต่มีการต่อรองราคากันอย่างเต็มที่ แถมบางช่องที่ส่งทีมข่าวไปทำข่าว เลี่ยงไม่จ่ายค่า AD Card โดยการไปขอ AD Card จากการกีฬาแห่งประเทศไทยแทน

ทำให้ความเข้มข้นความตื่นเต้นของการรายงานข่าวในครั้งนี้ลดดีกรีความเร้าใจในหมู่ผู้ชมลงไป

ฟุตบอลไทย ตกรอบแรก คอนเทนต์ไฮไลต์ลดลง

ความนิยมของการถ่ายทอดสดรายการกีฬามีความสัมพันธ์กับผลงานของนักกีฬาไทยที่ลงแข่งด้วย เมื่อฟุตบอลชายไทย กีฬาที่ได้รับความนิยมสูงสุดของไทย และเป็นความหวังของคนไทย ต้องตกรอบแรกเร็วกว่าความคาดหมาย ความสนใจของผู้ชมรายการถ่ายทอดสดจึงยิ่งลดน้อยลงไป

ยิ่งถ้าไปเทียบกับกีฬาเอเชียนเกมส์ 2014 ที่เกาหลีใต้ แมตช์ที่ทีมฟุตบอลชายไทยลงแข่งขันกับรอบรองชนะเลิศกับเกาหลีใต้ และแพ้ไป 0-2 ประตู ถ่ายทอดสดทางช่อง 3 เป็นแมตช์ที่เรียกเรตติ้งได้สูงสุดของเอเชียนเกมส์ เมื่อ 4 ปีที่แล้ว โดยได้เรตติ้งสูงถึง 7.883

เมื่อไม่มีฟุตบอล แถมฟุตบอลหญิงก็ตกรอบสองตามไป ยังดีที่กีฬาวอลเลย์บอล กีฬายอดฮิตของคนไทย โดยแมตช์ที่ทีมหญิงไทยโค่นทีมญี่ปุ่น คู่รักคู่แค้นได้ แข่งวันที่ 23 สิงหาคม

และเป็นแมตช์ที่ได้เรตติ้งสูงสุด ตั้งแต่มีการถ่ายทอดเอเชียนเกมส์ในครั้งนี้ โดยได้เรตติ้งอยู่ที่ 5.347 (สำหรับผลเรตติ้งที่ออกมาตั้งแต่เปิดการแข่งขันจนถึงวันที่ 31 สิงหาคม)

อีกทั้งผลการแข่งขันล่าสุดในวันที่ 31 สิงหาคมที่ผ่านมา ทีมวอลเลย์บอลหญิงไทย สามารถเอาชนะทีมเกาหลีใต้ เข้าชิงเหรียญทองเอเชียนเกมส์เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ จึงคาดได้ว่า

แมตช์ถายทอดสดทีมวอลเลย์บอลหญิงของไทยในรอบรองชนะเลิศ และรอบชิงชนะเลิศ น่าจะทำเรตติ้งได้สูงที่สุด

นอกจากวอลเลย์บอล ก็มีแบดมินตัน และมวยสากลสมัครเล่น ที่ได้รับความนิยมมากเช่นกัน แต่เมื่อนักแบดมินไทยไทยทั้งชายและหญิง ตกรอบไปหมดแล้วก่อนหน้านี้ แถมนักมวยไทยมีเหลือเข้าชิงเหรียญทองเพียงคนเดียว ในประเภทนักมวยหญิงเท่านั้น จึงเหลือมวยอีกรายการหนึ่ง ที่ได้รับความนิยมควบคู่ไปกับวอลเลย์บอล

แม้เอเชียนเกมส์ไม่เปรี้ยง แต่การมีแค่ 2 ช่องที่ถ่ายทอด ทำให้เวิร์คพอยท์กลับมายืนในตำแหน่งอันดับ 3 เหนือช่องโมโนอีกครั้ง และทำเรตติ้งเข้าใกล้ช่อง 3 ที่อยู่ในช่วงวิกฤตละครหลังข่าวความนิยมลด เรตติ้งตกต่ำ มีเพียงอังกอร์ละครบู๊ แนวระเบิดภูเขา เผากระท่อม แถมมีฉากปิ้งไก่ในตำนาน ที่ผู้ชมรอดู เพียงเรื่องเดียวที่ช่วยกู้หน้าช่อง 3 เอาไว้ได้ในขณะนี้

ยิ่งเข้าโค้งสุดท้ายของการถ่ายทอดสดเอเชียนเกมส์ น่าจะผลักดันให้เวิร์คพอยท์ขึ้นมาอยู่ในอันดับ 2 ได้หรือใกล้เคียง ส่วนพีพีทีวีก็ได้รับอานิสงส์เช่นดียวกัน แม้จะได้ถ่ายทอดในแมตช์ไม่ใหญ่มาก แต่ก็มีพลังพอให้พีพีทีวีทะยานขึ้นมาติดท็อปเท็นได้สำเร็จมาแล้วในสัปดาห์ที่แล้ว

จับตา ซีเกมส์ 2019 ใครจะได้สิทธิ์ถ่ายทอดสด ถ้าเทียบกันระหว่างเอเชียนเกมส์และซีเกมส์แล้ว กีฬาซีเกมส์จะได้รับความนิยม และความสนใจในหมู่ผู้ชมและคนไทยทั่วประเทศได้มากกว่า เพราะสภาพร่างกายนักกีฬาใกล้กัน แถมไทยยังเป็นเจ้าเหรียญทอง พี่ใหญ่ของภูมิภาคนี้ เรตติ้งผลตอบรับโฆษณาก็มีมากกว่า จึงเป็นอีกหนึ่งมหกรรมกีฬาที่หลายช่องทีวีดิจิทัลกำลังให้ความสนใจอย่างมาก กับกีฬาซีเกมส์ที่จะเกิดขึ้นในปี 2019 ที่ประเทศฟิลิปปินส์

อย่างไรก็ตาม ลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดกีฬาซีเกมส์อยู่ในมือของการกีฬาแห่งประเทศไทย หรือ กกท. โดยทีวีพูลเป็นผู้ถ่ายทอดสดตลอด แต่ในครั้งหน้านี้หลายช่องต่างจับจ้องตาเป็นมัน

โดยเฉพาะช่องที่มีเงินทุนหนา ซึ่งเชื่อว่า กกท.ก็ต้องพิจารณาผลตอบรับจากการเปลี่ยนมือสิทธิ์ของกีฬาเอเชียนเกมส์ปีนี้ด้วยเช่นกัน ทั้งเรื่องความนิยม การโปรโมต และการมีส่วนร่วมของผู้ชมในเกมการแข่งขัน

แต่สุดท้ายจะลงเอยที่ช่องไหน หรือกลุ่มไหน น่าติดตามอย่างยิ่ง.