จำนวนประชากรไทยทุกวัยเข้าถึงอินเทอร์เน็ตสัดส่วนกว่า 80% ทำให้ทุกวันนี้ Social Media Platform กลายเป็น “เครื่องมือ” สำคัญของนักการตลาด สินค้าและแบรนด์ต่างๆ ทั้งบิ๊ก คอร์ปอเรท เอสเอ็มอี กระทั่งพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ ที่ต้องติดตามการเปลี่ยนแปลงและอัพเดตฟีเจอร์ใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา
มัณฑิตา จินดา (ครูทิป) ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายดิจิทัล มาร์เก็ตติ้ง บริษัท เวิร์คพอยท์ เอ็นเทอร์เทนเมนท์ จำกัด (มหาชน) และและผู้ก่อตั้ง Digital Tips Academy เปิดเวทีอบรมกลยุทธ์การตลาดออนไลน์รูปแบบ Seminar on Stage (SOS) อัพเดตเทรนด์ “6 Social Media Platform” ทรงอิทธิพล ที่มีการเปลี่ยนแปลงในปี 2019
1. Facebook คือ Group and Community
เริ่มที่ Facebook ที่ยังครองตำแหน่งแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียเบอร์หนึ่งของประเทศไทย มีผู้ใช้งานมากที่สุดกว่า 53 ล้านบัญชี จากยุคการแชร์เรื่องราวของ Friend & Family ปี 2019 Mark Zuckerberg กล่าวไว้ชัดในงาน F8 2019 ว่า ต่อไปคือยุค The Future is Private ทิศทางของ Facebook คือ Group and Community
เพราะเฟซบุ๊กเริ่มเห็นว่าคนมีแนวโน้มอยากพูดคุยในกลุ่มต่างๆ ที่คนเองสนใจมากกว่าพูดคุยแบบสาธารณะ ดังนั้นเฟซ บุ๊กจะมีการแนะนำกรุ๊ป (Group Recommendations) ที่ผู้ใช้งานสนใจให้เข้าร่วมกลุ่มได้ง่ายขึ้น อีกทั้งจะมีฟีเจอร์เฉพาะแต่ละกรุ๊ป เช่น กรุ๊ป Health Support สมาชิกโพสต์โดยไม่ต้องเปิดเผยชื่อหรือหน้าของตนเอง ส่วนกรุ๊ปหางาน คนหางานสามารถกรองโพสต์รับสมัครงานและรับสมัครงานผ่านเฟซบุ๊กได้ หรือ กรุ๊ปซื้อขาย มีฟีเจอร์ให้สั่งซื้อของได้ง่ายขึ้น
เฟซบุ๊กยังใส่ฟีเจอร์ Group Tap ซึ่งเป็นแท็ปที่รวบรวมเอากรุ๊ปต่างๆ ของผู้ใช้รวมถึงกรุ๊ปแนะนำที่ผู้ใช้งานสนใจมาไว้ในที่เดียวกัน
ปัจจุบันในประเทศไทยมีผู้ใช้ Facebook Group กว่า 1 ล้านกรุ๊ป โอกาสของนักการตลาด เอสเอ็มอี พ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ ในการใช้ฟีเจอร์ Group คือ ต้องลองเข้าไปเป็นสมาชิกเพื่อเก็บข้อมูลใน Group ต่างๆ เพื่อดูบทสนทนา ที่จะทำให้เห็นถึงความสนใจของผู้บริโภค หรือการเป็นสมาชิกกรุ๊ปซื้อขาย และสร้าง Group ของตัวเอง เพื่อโอกาสถูกแนะนำกรุ๊ปกับผู้ใช้งาน
“ธุรกิจที่มีการสร้างกรุ๊ป จะได้พื้นที่ในการประชาสัมพันธ์ธุรกิจเพิ่มขึ้น เพราะกรุ๊ปจะมีโอกาสถูกดึงขึ้นมา แสดงในฟีดของผู้ใช้”
2. Instagram คือ Photo Sharing Platform
สำหรับ Instagram หรือ IG คือแพลตฟอร์มที่โดดเด่นเรื่องการแชร์ “รูปภาพ” สวยงาม ปัจจุบันมีผู้ใช้งานกว่า 1,000 ล้านคน มีผู้ใช้กว่า 200 ล้านบัญชี ที่เข้าไปดูโปรไฟล์ขายของอย่างน้อย 1 โปรไฟล์ต่อวัน ในไทย ปี 2019 คาดมีผู้ใช้ IG กว่า 14 ล้านบัญชีที่แอคทีฟ ในจำนวนนี้ 5.1 ล้านบัญชีอยู่ในกรุงเทพฯ ผู้ใช้ IG ในประเทศไทยเป็นผู้หญิง 63%
มีหลายธุรกิจที่สามารถใช้ IG เป็นเครื่องมือการสื่อสารโฆษณาแบรนด์ได้ดี จากการเข้าใจอินไซต์ลูกค้าที่ชอบถ่ายรูปโชว์ใน IG ที่ชัดเจนคงเป็นร้านอาหารที่ตกแต่งร้าน จัดมุมถ่ายภาพ หรือจะมีชื่อร้านอยู่บนจาน ชาม บนโต๊ะอาหาร เพื่อให้การถ่ายภาพแต่ละคน มีชื่อของร้านและแบรนด์ติดกับภาพถ่ายที่จะถูกโพสต์ลง IG
อีกเครื่องมือสำคัญกับฟีเจอร์ IG Stories มีผู้ใช้ทั่วโลกกว่า 500 ล้านคนต่อเดือน เป็นเครื่องมือการตลาดกระตุ้นการขายแบบด่วนได้ดี เหมาะกับกลยุทธ์ “โปรไฟไหม้” จำกัดเวลาให้ต้องตัดสินใจซื้อ
3. Line Official Account คือ No.1 CRM
LINE ในประเทศไทยมีผู้ใช้กว่า 44 ล้านบัญชี การเปลี่ยนแปลงสำคัญในปี 2019 คือ Line Official Account (OA) ปัจจุบันมี 3 ล้านบัญชี โดยจะเปลี่ยนผู้ใช้ Line@ เป็น OA เพื่อให้มีการบรอดแคสต์ด้วยจำนวนที่เหมาะสม ไม่ให้รบกวนผู้บริโภคที่ใช้งานไลน์มากเกินไป เพื่อเป็นการรักษาฐานลูกค้าเก่า เพราะต้นทุนการหาลูกค้าใหม่มีค่าใช้จ่ายสูงกว่า 5 เท่า
ที่ผ่านมาพบว่าสถิติผู้ใช้ไลน์ 1 คน ได้ข้อความจากการบรอดแคสต์สูงถึงวันละ 60 ข้อความ ในช่วงที่เทศกาลช้อปปิ้งของอีคอมเมิร์ซ ทั้ง 11.11 หรือ 12.12 ร้านค้าบางร้านมีการบรอดแคสต์ทุก 1 นาที ทำให้ผู้ใช้งานอยู่ในภาวะ Over Broadcasting จึงปรับ Line@ เป็น OA ซึ่งมีเครื่องมือให้ลูกค้าให้ใช้งานมากขึ้น เช่น Rich Menu ที่สามารถใส่ลิงค์เว็บไซต์ได้ ติดแท็กลูกค้า (Chat Tag) แบ่งลูกค้าออกเป็นกลุ่มๆ เพื่อแยกดูแลในแต่ละสเต็ปการขาย มีการทำ Poll และ Survey ที่สำคัญสามารถใช้ประโยชน์จาก Timeline Post โดยไม่มีค่าใช้จ่าย
เป้าหมายของ “ไลน์” ต้องการเป็นแพลตฟอร์ม CRM กับผู้บริโภคที่ใช้งาน ในฝั่งธุรกิจเอง ไลน์ ยังเป็นแพลตฟอร์มที่เปลี่ยน “ลูกค้าขาจรเป็นขาประจำ” ได้ดี
4. Twitter คือ Interest Network
Twitter เป็นโซเชียลมีเดียที่เติบโตเร็วทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทย ที่โตเร็วสูงสุดติดอันดับ 5 ของโลก ผู้ใช้ 68% เป็นกลุ่ม Millennials นับเป็นช่องทางการสื่อสารที่เร็วที่สุด คนส่วนใหญ่จะพูดถึงสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นและเป็นกระแสสนใจในขณะนี้ จึงเป็นแพลตฟอร์มที่ผู้ใช้เชื่อมต่อกัน (Interest Network) ด้วย # Hashtag การสื่อสารบนแพลตฟอร์มทวิตเตอร์ คือความ Real และเร็ว รูปภาพจึงไม่ได้เน้นความสวยงามเหมือน IG
สิ่งที่โดดเด่นของ Twitter Ads คือ การยิงโฆษณาไปหาคนที่สนใจหรือติดตามแอคเคาน์อื่น (คู่แข่ง) ได้
5. YouTube คือ Content Library
พฤติกรรมคนดูวิดีโอแต่ละแพลตฟอร์มไม่เหมือนกัน หากเป็น Facebook คือวิดีโอสั้น กระชับและน่าสนใจ แต่หากเป็น YouTube คือการดูยาว สถิติที่น่าสนใจ ความยาวเฉลี่ยในการดูวิดีโอยูทูบต่อครั้งอยู่ที่ 40 นาที เพิ่มขึ้น 50% ทุกปี โดย 90% ของคนอายุ 22 – 38 ปี ดูยูทูบ เพื่อคนหารีวิวสินค้า และสัดส่วน 37% ของคนอายุ 18 – 34 ปี นิยมดูยูทูบ แบบรวดเดียวจบ
ยูทูบจึงเป็นเครื่องมือที่ทุกคนสามารถเป็น Creator ได้ หรือการใช้ Influencer รีวิว รวมทั้งการสร้าง Brand Chanel ซึ่งปัจจุบันแบรนด์ต่างๆ นิยมสร้างแชนแนลบนยูทูบ เพื่อนำเสนอคอนเทนต์โดยไม่มีข้อจำกัดเรื่องความยาว และกฎระเบียบต่างๆ ที่ไม่สามารถทำได้บนสื่อทีวี
หากเป็นวิดีโอที่มีเด็กอายุต่ำกว่า 13 ปี ในเนื้อหา มีโอกาสยอดวิวสูงกว่าวิดีโอทั่วไป 3 เท่า คลิปวิดีโอ YouTube เป็น Digital Footprint ที่อยู่ตลอดไปจึง Content Library หากคลิปได้รับความนิยมจะเป็น Asset สร้างรายได้ไปตลอด
6. Tiktok คือ Short Video Platform
เป็นที่รู้กันว่าความสนใจคนเรามีสมาธิสั้นมากน้อยยิ่งกว่าปลาทอง 9 วินาที Gen Y มีระยะเวลาสนใจแค่ 12 วินาที ส่วน Gen Z เหลือ 8 วินาที จึงเป็นที่มาของแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย Tiktok ที่เป็น Short Video Platform ความยาว 15 วินาที ทำให้ Tiktok เป็นแพลตฟอร์มที่กำลังมาแรง เป็น Content Discovery Platform ของทุกกลุ่มไม่ใช่แค่คนรุ่นใหม่เท่านั้น