“ซิตี้แบงก์” ทุ่ม 100 ล้าน ส่ง “บัตรเครดิตซิตี้ พรีเมียร์” ลุยตลาด แก้เกมหลังหลุดบัตร Co-Brand กับค่ายเดอะมอลล์

ถือเป็นการแก้เกมของธนาคารซิตี้แบงก์ จากหลุดจากการเป็นพันธมิตรกลุ่มเดอะมอลล์ออกบัตรเครดิตร่วม (Co-Brand) ในชื่อบัตรเครดิตซิตี้เอ็ม วีซ่า (Citi M Visa) มานานถึง 10 ปี

แต่แล้วไม่กี่เดือนที่ผ่านมา กลุ่มเดอะมอลล์หันไปออกบัตรเครดิตร่วมกับธนาคารไทยพาณิชย์ ในเบื้องต้นมีสัญญา 5 ปีขึ้นมาแทนที่

ธนาคารซิตี้แบงก์จึงตัดสินใจส่งบัตรเครดิตซิตี้ พรีเมียร์ลงสู่ตลาด

เข้ามาเสียบแทน โดยจะเชิญลูกค้าเดิมที่มีฐานลูกค้าราว 400,000 – 500,000 ใบ ส่วนใหญ่จะเป็นวัยทำงานและชาวต่างชาติ ให้เข้ามาเป็นบัตรใบใหม่ทั้งหมด ส่วนใครที่ไม่อยากย้ายก็ใช้ใบเดิมต่อได้

บัตรเครดิตซิตี้ พรีเมียร์ได้เปิดตัวในประเทศไทยเป็นประเทศที่ 3 ของโลก ต่อจากประเทศสหรัฐอเมริกา และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ อีกทั้งยังถือเป็นประเทศแรกในเอเชีย แปซิฟิก

ซานดีพ บาตระ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ฝ่ายธุรกิจบัตรเครดิตและสินเชื่อบุคคลธนาคารซิตี้แบงก์ ประเทศไทย มองว่าตลาดบัครเครดิตในเมืองไทยยังมีการเติบโตต่อเนื่องในปี 2018 คาดว่าจำนวนบัตรจะเติบโต 6% จากปัจจุบันที่มีบัตรเครดิตในตลาดทั้งหมด 21 ล้านใบ ส่วนการใช้จ่ายมีการเติบโตขึ้น 11%

หมวดที่คนไทยใช้จ่ายผ่านบัครเดรดิตมากที่สุดคือกลุ่มของไลฟ์สไตล์ ไม่ว่าจะเป็นการท่องเที่ยว หรือการช้อปปิ้ง ที่ถือเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้การใช้จ่ายผ่านบัตรเติบโตขึ้น

โดยคนไทยเที่ยวเฉลี่ย 6.6 ทริปต่อคนในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา มากกว่าค่าเฉลี่ยในเอเชียแปซิฟิกที่อยู่ราว 4.6 ทริป พร้อมกันนี้ยังใช้จ่ายกับการท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น 51% เมื่อเทียบกับปีต่อปี สูงกว่านักท่องเที่ยวเอเชียแปซิฟิกที่เติบโต 46% และมากกว่านักท่องเที่ยวทั่วโลกที่ใช้เงินเพิ่มขึ้นเพียง 36%

ด้านช้อปปิ้งคนไทยชอบสินค้าและแบรนด์ที่หลากหลายซึ่งมักจะซื้อทั้งในร้านดิ้วตี้ฟรีและห้างสรรพสินค้าทั้งขนาดกลางและขนาดใหญ่

ดังนั้นบัตรซิตี้พรีเมียร์จึงเข้ามาเพื่อจับกลุ่มคนที่ชื่นชอบทั้งการช้อปปิ้งและท่องเที่ยว ที่มีเงินเดือนตั้งแต่ 30,000 บาทขึ้นไปโดยเฉพาะ โดยเพิ่มแรงจูงใจให้มากขึ้น ด้วยการเติมสิทธิประโยชน์ทั้งในร้านค้า ห้างสรรพสินค้า ร้านค้าปลอดภาษีทั่วโลก สิทธิ์ในการเข้าห้องรับรองพิเศษในสนามบิน และวงเงินป้องกันอุบัติเหตุ เป็นต้น

การทำบัตรเครดิต Co- Brand ถือเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยสร้างความสำเร็จในเมืองไทย แต่ในแง่ของการช้อปปิ้ง ลูกค้าไม่ได้ยึดติดที่จะไปห้างใดห้างหนึ่ง การทำ Co- Brand เฉพาะห้าง จะเป็นการตัดทางเลือกของลูกค้าและยังทำให้บัตรของซิตี้แบงก์ ไม่มีโอกาสที่จะถูกหยิบมาใช้ ซึ่งพฤติกรรมของผู้บริโภคในยุคนี้ต้องการไปซื้อสินค้าที่ห้างสรรสินค้าที่ไหนก็ได้ และไม่จำเป็นว่าจะเป็นร้านออฟไลน์หรือออนไลน์

เพื่อให้บัตรเป็นที่รู้จักมากขึ้น ซิตี้แบงก์ถึงขนาดยอมทุ่มเม็ดเงินการตลาดกว่า 100 ล้านบาท มากที่สุดในรอบ 3 ปีนับตั้งแต่เปิดตัวบัตรเครดิต ซิตี้ เพรสทีจ ในสื่อทั้งออฟไลน์และออนไลน์ โดยดึงชมพู่อารยา เอ ฮาร์เก็ตต์ มาเป็นพรีเซ็นเตอร์ เนื่องจากเห็นว่า ชมพู่มีบุคลิกที่เหมาะกับบัตร จากคาแร็กเตอร์ที่ชื่นชอบการช้อปปิ้งและท่องเที่ยว โดยมีสัญญา 1 ปี

ตั้งเป้าเมื่อถึงสิ้นปีบัตรซิตี้ พรีเมียร์จะมีจำนวนบัตรรายใหม่ทั้งหมดมากกว่า 120,000 ใบ และมียอดใช้จ่ายเฉลี่ย 25,000 บาท/ใบ/เดือน

ปัจจุบันที่ซิตี้แบงก์มีฐานลูกค้าบัตรเครดิตมากกว่า 1 ล้านใบ มียอดแอคทีฟ 90% และมี NPL น้อยกว่าภาพรวมตลาด 50%.