“ซิตี้แบงก์” ขายธุรกิจรายย่อย 13 ประเทศ “ไทย” โดนด้วย! เตรียมถอนตัวจากตลาด

“ซิตี้กรุ๊ป” ประกาศขายกิจการลูกค้ารายย่อยใน 13 ประเทศทวีปเอเชียและยุโรปตะวันออก จากแรงกดดันของนักลงทุนที่ต้องการให้ธนาคารลดต้นทุน โดยหนึ่งในประเทศที่อยู่ในรายชื่อตัดขายคือประเทศ “ไทย” ธุรกิจบัตรเครดิต สินเชื่อ เงินฝากจะถูกขายออกทั้งหมด และซิตี้จะหันไปเน้นธุรกิจบริหารความมั่งคั่งแทน

The Financial Times รายงานเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 15 เม.ย. 2021 ถึงความเคลื่อนไหวดังกล่าวของ “ซิตี้กรุ๊ป” โดยเป็นการตัดสินใจที่เกิดขึ้นหลังซีอีโอคนใหม่ “เจน เฟรเซอร์” เข้ารับตำแหน่งได้กว่า 1 เดือน เฟรเซอร์เข้าประชุมร่วมกับนักลงทุนรายใหญ่ของธนาคารหลายครั้งก่อนจะเกิดการตัดสินใจครั้งนี้ขึ้น

“แม้ว่าธุรกิจใน 13 ประเทศเหล่านี้ต่างทำได้อย่างยอดเยี่ยม แต่ตลาดไม่สามารถขยายตัวได้อย่างที่เราต้องการเพื่อจะแข่งขันต่อ” เฟรเซอร์กล่าว “ฉันวางนโยบายอย่างชัดเจนถึงการให้ความสำคัญสูงสุดของเรา นั่นคือการให้ผลตอบแทนกับนักลงทุน”

ซิตี้กรุ๊ป เป็นธนาคารสัญชาติอเมริกันที่ขยายตัวไปยังลูกค้ารายย่อยต่างประเทศได้มากที่สุด หากเปรียบเทียบกับธนาคารอเมริกันอื่นๆ

13 ประเทศเหล่านี้จะถูกตัดขายกิจการรายย่อยออกไป ได้แก่ ออสเตรเลีย บาห์เรน เกาหลีใต้ จีน ไต้หวัน อินเดีย อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ไทย เวียดนาม โปแลนด์ และรัสเซีย

(Photo : Shutterstock)

ซิตี้กรุ๊ปประกาศด้วยว่า ธนาคารจะหันไปมุ่งเน้นธุรกิจบริหารจัดการความมั่งคั่งแทน โดยมีศูนย์กลางการดำเนินกิจการเพียง 4 แห่ง คือ สิงคโปร์ ฮ่องกง UAE และลอนดอน (อังกฤษ)

“เราได้ตัดสินใจว่า เราจะเสี่ยงทุ่มลงทุนในธุรกิจความมั่งคั่ง” เฟรเซอร์กล่าว

ทั้งนี้ ธุรกิจลูกค้ารายย่อยของ 13 ประเทศที่ซิตี้จะออกจากตลาด ทำรายได้รวมกันอยู่ที่ 4.2 พันล้านเหรียญสหรัฐ เป็นสัดส่วนที่ไม่สูงมากหากเทียบกับรายได้รวมทั้งเครือปีก่อนซึ่งอยู่ที่ 7.43 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ โดยปีก่อนซิตี้กรุ๊ปมีผลขาดทุน

ธุรกิจลูกค้ารายย่อยของธนาคารซิตี้แบงก์ในไทยนั้น มีบริการประกอบด้วย บัตรเครดิต สินเชื่อ และเงินฝาก สำหรับธุรกิจบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ เมื่อปี 2561 ซิตี้แบงก์เคยรับซื้อพอร์ตบัตรเครดิตกว่า 1 แสนรายมาจากธนาคารทิสโก้ โดยธนาคารทิสโก้เองก็รับซื้อจากสแตนดาร์ด ชาร์เตอร์ดมาเมื่อปี 2559 แต่ตัดสินใจขายให้ซิตี้แบงก์เพราะมองว่าไม่ใช่ความถนัดของธนาคาร

ไมค์ มาโย นักวิเคราะห์หลักทรัพย์จาก Wells Fargo สนับสนุนการตัดสินใจครั้งนี้ของซิตี้กรุ๊ป โดยมองว่าเป็นการพัฒนาที่ชัดเจนที่สุดของธนาคารในรอบทศวรรษ

เขายังให้ความเห็นด้วยว่า เฟรเซอร์ตัดสินใจขายกิจการภายในระยะเวลาแค่ 46 วันหลังรับตำแหน่ง นั่นทำให้เห็นสัญญาณว่าธนาคารกำลังรับมือกับปัญหาด้วยความรู้สึกของ “ความฉุกเฉิน”

Source