เรื่อง : Thanatkit
เมื่อไลน์ประเมินแล้วว่า “เกมโชว์” ถือเป็นคอนเทนต์ที่ได้รับความนิยมในทุกช่วงอายุ ด้วยความสนุกสนานเข้ากับจริตของคนไทย ทำให้ในช่องทีวี “เกมโชว์” ครองเรตติ้งอันดับ 2 รองจากละคร โดยมีฐานผู้ชมอยู่ที่ประมาณ 900,000 – 2,400,000 คนต่อตอน (ข้อมูลจาก TV Digital Watch)
เพียงแต่เกมโชว์แบบตั้งเดิมที่คุ้นเคยมักจะเป็นรายการที่เน้นการสื่อสารทางเดียวที่ผู้ชมสามารถมีส่วนร่วมได้เพียงการรับชมเท่านั้น ยังไม่สามารถเข้าไปมีส่วนร่วมจากที่บ้านได้ เป็นช่องว่างที่ “ไลน์” และ “WXYZ” เทคสตาร์ทอัพน้องใหม่ที่มี “วู้ดดี้ – วุฒิธร มิลินทจินดา” เป็น 1 ในผู้ก่อตั้ง (เป็นการลงทุนในนามส่วนตัวไม่เกี่ยวกับบริษัท Woody World) มองเห็นและตัดสินใจส่ง “เทน เทน” เข้าสู่สนาม
โดย “ไลน์” รับผิดชอบการลงทุนในระบบต่างๆ ซึ่งได้ดึงทีมจากเกาหลีเข้ามาช่วย ส่วน “WXYZ” ลงทุนในด้านโปรดักชั่น รายได้จะแบ่งกันจากค่าโฆษณา
“เทน เทน” เป็นอินเทอร์แอคทีฟไลฟ์โชว์ อยู่ในรูปแบบ Official Account บน LINE App โดยเป็นการแข่งขันที่เปิดโอกาสให้คนดูสามารถเล่นไปพร้อนกันได้ทันทีกับรายการ มีวันละ 1 ครั้งเวลา 3 ทุ่มตรง
เนื้อหารายการจะเป็นแนวคำถามมีทั้งหมด 10 ข้อ 3 ตัวเลือก ชิงเงินรางวัลมูลค่ารวมตั้งแต่หลักหมื่นถึงหลักล้าน ใช้คาแร็กเตอร์แมวเป็นผู้ดำเนินรายการ ในเบื้องต้นใช้เสียงของ “วู้ดดี้” ก่อน ขณะนี้อยู่ในระหว่างหาผู้ดำเนินรายการหลักเข้ามาเสริม และยังมีแขกรับเชิญอีกทั้ง BNK48, นภ พรชำนิ, โทนี่ผี, เบนซ์ อาปาเช่ เป็นต้น ในอนาคตยังวางแผนปั้นผู้ดำเนินรายการที่เป็น AI
ส่วนคนดูจะเป็นกลุ่มแมสอายุตั้งแต่ 15 – 60 ปี แต่เน้นกลุ่ม 20-35 ปีเป็นพิเศษ เริ่มเปิดให้ใช้งานเวอร์ชั่นทดสอบตั้งแต่ 2 เดือนก่อน มีผู้เล่นเกมต่อครั้งเติบโตถึง 11 เท่า จากผู้เล่นเกมพร้อมกัน 5,000 คน เป็น 58,000 คน ระบบรองรับผู้เล่นพร้อมกัน 1 ล้านคน
อริยะ พนมยงค์ กรรมการผู้จัดการ LINE ประเทศไทย บอกว่า “เทน เทน” เป็นเกมโชว์ที่ปิดจุดอ่อนจากรายการแบบเดิมๆ ซึ่ง HQ Trivia แอปเกมแนวตอบคำถามในรูปแบบเกมโชว์ ที่โด่งดังไปทั่วโลก ตรงที่เปิดให้เล่นในแอปไลน์โดยที่ไม่ต้องแยกออกมาเป็นแอปใหม่ ไม่อย่างนั้นคนไม่โหลดแน่นอน
อีกทั้งผู้ที่ชมไม่ได้แค่ชมอย่างเดียวแต่ยังเปรียบเป็นผู้เข้าแข่งขันที่ต้องแข่งกับคนอื่นๆเพื่อชิงเงินรางวัลเป็นของตัวเอง มีการเล่นเฉลี่ย 10 นาทีต่อครั้ง ซึ่งช่วง 10-15 นาที ถือเป็นเวลาที่คนสามารถจดจ่อกับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง โดยที่ไม่เสียสมาธิไปเสียก่อน พร้อมกับใช้วิธีเฉลยพร้อมกันทีเดียวหลังจบเกม เพื่อป้องกันไม่ให้คนที่ตอบผิด ออกไปก่อนที่เกมจะจบ
ผู้ที่ตอบถูกทุกข้อจะถูกนำมารวมกันแล้วหารด้วยจำนวนเงินรางวัลรวมในครั้งนั้นๆ เมื่อสะสมครบ 1,000 บาท จะสามารถถอนออกได้ผ่านการโอนบัญชีธนาคาร พร้อมหักภาษี ณ ที่จ่าย 5%
นอกจากฝั่งผู้ใช้งานแล้ว “เทน เทน” ในแง่การหารายได้ จะใช้วิธีดึงดูดแบรนด์ให้เข้ามาเอ็นเกจเมนต์กับผู้ใช้ ผ่านการเป็นสปอนเซอร์รายการและการแทรกเนื้อหาโฆษณาในรายการ (Tie-in) หรือแม้แต่พัฒนาต่อยอดเป็นเกมโชว์ประเภทอื่นๆ (Spin-off) ในอนาคต
โดยวางโฆษณาได้ในหลายช่วงเวลาทั้งก่อน–ระหว่าง–หรือหลังรายการ ในช่วงทดสอบมีแบรนด์สนใจลงโฆษณาแล้ว 20-30 แบรนด์ ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม กับกลุ่ม FMCG ส่วนกลุ่มใหม่ๆ ก็มีรถยนต์ที่กำลังคุยเข้ามาเพิ่มเติม
“โจทย์สำหรับทุกเกม ทำอย่างไรให้คนอยู่ตั้งแต่ต้นจนจบ ซึ่ง เทน เทน แก้โจทย์ด้วยการเน้นคอนเทนต์ที่สดใหม่ โจทย์ที่ไม่ซ้ำกัน ให้ดูสนุก และแทรกโฆษณาที่จะทำให้ผู้เล่นไม่รู้สึกเบื่อไปก่อน”
ภายในปีหน้า “เทน เทน” ตั้งเป้าจะมีจำนวนผู้เล่นเทียบเท่ากับจำนวนผู้ชมในทีวี คือตั้งแต่ 900,000 คนขึ้นไป
นอกจากนี้ “ไลน์” และ “WXYZ” ยังวางแผนให้ “เทน เทน” เป็นใบเบิกทาง เพื่อปูไปสู่การมีช่องทีวีที่รวบรายการเรียลลิตี้และเกมโชว์ประเภทอินเทอร์แอคทีฟเข้ามาอีก ซึ่งอริยะบอกว่า การไม่นำไปรวมกับ LINE TV เพราะ LINE TV ที่เอาไว้ชมอย่างเดียว แต่รายการอินเทอร์แอคทีฟคนดูจะมีส่วนร่วมด้วย.