“บิ๊กซี” เชนค้าปลีกขนาดใหญ่ได้ปักหลักทำธูรกิจในเมืองไทยมา 25 ปีแล้ว และได้เปลี่ยนมือมาอยู่ภายใต้ “เจ้าสัวเจริญ” แห่งเบียร์ช้าง ผ่าน BJC หรือ บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) ได้เกือบ 2 ปีแล้ว
ยุคใหม่ของ “บิ๊กซี” เปลี่ยนไปหลายอย่าง ทั้งในแง่ของสินค้าที่มีมากขึ้นกว่าเดิม เมื่อก่อนสินค้าบนชั้นขาดไปบ้าง แต่เมื่อ “BJC” เข้ามาพร้อมเงินในกระเป้า ปัญหาเรื่องสินค้าขาดหมดไป ของในร้านเต็มตลอด การจัดการหลังบ้านดีขึ้น คิวในแคชเชียร์ไม่ต้องรอนาน จัดโปรโมชั่นเยอะมากขึ้น เพื่อรับมือกับการแข่งขันในภาคค้าปลีก ที่นับวันจะมีแต่เพิ่มไม่ลด
ฐานลูกค้าเพิ่มขึ้นจาก 10 ล้านคน เป็น 16 ล้านคน ซึ่งเพิ่มขึ้นจากการใช้ “ดาด้า” ของฐานลูกค้า เข้ามาปรับให้สอดคล้องกับพฤติกรรมของเป้าหมายหลัก ได้แก่ แม่บ้าน, แม่และเด็ก กับ ผู้สูงอายุ โดยแต่ก่อนการทำโปรโมชั่นเป็นแมสที่จับลูกค้าทุกคน แต่เดี๋ยวนี้โปรโมชั่นแมสก็ยังมีอยู่ แต่ก็มาบางส่วนที่ปรับเป็นเฉพาะกลุ่มมากขึ้น
ปีนี้มี 2 เรื่องหลักที่บิ๊กซีกำลังทำ เริ่มด้วย “ร้านกาแฟ” ที่ทดลองตั้งแต่ต้นปี เนื่องจากเห็นถึงโอกาสของตลาดที่มีขนาดใหญ่ และในเครือก็มีธุรกิจกาแฟอยู่แล้ว ใช้ชื่อแบรนด์ “ปากซอง” ตอนนี้มีทั้งหมด 10 สาขา แผนการขยายสาขากำลังอยู่ในระหว่างพิจารณา เนื่องจากเดิมก็มีร้านจากผู้เช่าอื่นอยู่แล้ว เบื้องต้นจะขยายไปในสาขาของบิ๊กซีก่อน ยังไม่วางแผนออกไปข้างนอก ด้วยมองว่า ชื่อของแบรนด์ยังไม่แข็งแรงมากพอที่จะต่อสู้กับแบรนด์เจ้าตลาดอื่นๆ
อีกเรื่องคือการเพิ่งฟอร์แมตใหม่ของไฮเปอร์มาร์เก็ตด้วยพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปของลูกค้าไม่ค่อยเดินไฮเปอร์มาร์เก็ต แต่มักจะไปเดินซูเปอร์มาร์เก็ตมากกว่า เนื่องจากครอบครัวมีขนาดที่เล็กลงจึงไม่จำเป็นที่จะต้องไปเดินสาขาใหญ่บิ๊กซีจึงเปิด “ฟู้ด เพลส” ขึ้นมารองรับ โดยพื้นที่ 50% จะเป็นสินค้าสำหรับใช้ในชีวิตประจำวัน อีก 50% เป็นอาหาร ที่เน้นสินค้าออแกนิกส์และสุขภาพตามเทรนด์มากขึ้น ปีนี้จะเปิด 2 แห่งที่สามย่านมิตรทาวน์ และเกตเวย์ บางซื่อ
ปัจจุบัน “บิ๊กซี” มี 900 สาขา แบ่งเป็น ไฮเปอร์มาร์เก็ต 40 สาขา ซูเปอร์มาร์เก็ต 60 สาขา มินิบิ๊กซี 700 สาขา เพียว (ร้านขายยา) 100 สาขา บิ๊กซี ฟู้ด เพลส 1 สาขา กำลังจะเปิดอีก 2 สาขา ทั้งนี้ โดยในส่วนของ มินิบิ๊กซี ที่ซื้อแฟรนไชส์ได้หยุดขายไปตั้งแต่ต้นปี โดยกำลังอยู่ในระหว่างทยอยซื้อคืนมาเป็นของบริษัททั้งหมด เพื่อจัดการระบบหลังบ้านให้ดีเสียก่อนที่จะเปิดให้ซื้อแฟรนไชส์
อัศวิน เตชะเจริญวิกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทบิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ กล่าวว่า
“นอกจากสาขาปรับให้เข้ากับพฤติกรรมผู้บริโภค สิ่งสำคัญที่ต้องดูแลนอกเหนือจากราคาและความคุ้มค่าคือประสบการณ์ในการซื้อ ที่ต้องเชื่อมโยงทั้งออนไลน์และออฟไลน์ ส่วนความท้าทายยังมีอยู่หลายข้อ ด้วยความที่ธุรกิจรีเทลขึ้นอยู่กับความเชื่อมั่นเป็นหลัก เมื่อไหร่ที่เศรษฐกิจดี การเมืองนิ่ง สินค้าเกษตรขายได้ราคา บิ๊กซีก็จะเติบโตไปด้วย”
ปีหน้าบิ๊กซีเตรียมลงทุนทั้งหมด 10,000 ล้านบาท โดยเตรียมปรับเครื่องแต่งกายเติมสินค้าที่เป็นไลฟ์สไตล์มากขึ้น รวมไปถึงอาหารของแห้ง เน้นเป็นสินค้าใหม่ที่นำเข้าและผลิตเอง
ความเคลื่อนไหวในต่างประเทศ เมื่อต้นปีที่ผ่านมาได้มีการจัดตั้งบริษัทลูกทำเทรดดิ้งในประเทศจีนที่กวางโจวเป็นแห่งที่ 8 ต่อจากกัมพูชา สปป.ลาว มาเลเซีย สิงคโปร์ ฮ่องกง เวียดนาม และพม่า
เพื่อทำการซอสซิ่ง (Sourcing) หรือจัดหาสินค้ากลุ่มนอนฟู้ดเข้ามาจำหน่ายในประเทศไทย อาทิ เครื่องใช้ไฟฟ้า และกระเป๋าเดินทาง ในราคาพิเศษ คุ้มราคา ผู้บริโภคชาวไทยเข้าถึงได้ รวมๆ แล้วประมาณ 3,000 SKU มียอดขายประมาณ 300 – 500 ล้านบาท
การลงทุนขยายธุรกิจในประเทศเพื่อนบ้านจะเริ่มเห็นความชัดเจนได้ช่วงปี 2019 โดยวางแผนขยายในกัมพูชาจำนวน 1 สาขา รูปแบบไฮเปอร์มาร์เก็ต และใน สปป. ลาว อีก 1 สาขา ใช้แบรนด์บิ๊กซีและเป็นรูปแบบไฮเปอร์มาร์เก็ตเช่นเดียวกัน จากตอนนี้มีซูเปอร์มาร์เก็ตอยู่ 46 สาขา
มาเลเซียเป็นประเทศถัดไปที่สนใจจะเข้าไป ก่อนหน้านี้ทาง BJC มีโรงงานแก้วและโรงงานขนมอยู่แล้ว โดยจะนำบิ๊กซีเข้าไปท้าชนกับแบรนด์เจ้าถิ่นที่มีอยู่ราว 2 แบรนด์หลัก คาดว่าจะได้เห็นสาขาแรกในปี 2020 เนื่องจากต้องเข้าไปพูดคุยรายละเอียด และใช้เวลาก่อสร้างอย่างน้อย 10 เดือน โดย 1 สาขาต้องการที่ดินประมาณ 25-40 ไร่.