ทินกร เทียนประทุม ความสำเร็จทะลุล้าน

น้อยคนนักที่ใช้ดีแทคแล้วจะไม่รู้จักเอทีเอ็มซิม แต่ใครจะรู้บ้างว่าเส้นทางก่อนมาเป็นเอทีเอ็มซิมและเจ้าของไอเดียต้องฝ่าฟันอุปสรรคในการทำโปรเจกต์นี้กี่ด่าน และใช้เวลานานแค่ไหน

ทินกร เทียนประทุม ผู้อำนวยการกลุ่มพัฒนากลยุทธ์ของดีแทค วัย 37 ปี เป็นคนที่ชื่นชอบข่าวสารและเทคโนโลยี ชอบใช้ฟังก์ชันหรือแอพพลิเคชั่นใหม่ๆ บนโทรศัพท์มือถือ ชอบท่องเว็บ และชอบพบปะพูดคุยกับหลายๆ คน หลายๆ อาชีพ เพราะเรื่องราวรอบตัวนี่เอง ที่ช่วยให้เขาคิดงานออก และแจ้งเกิดคำว่า “เอทีเอ็มซิม” ในสมองตั้งแต่ปี 2549

ชีวิตปกติ จะมีคนเข้ามาเสนอเทคโนโลยีใหม่ๆ กับทินกรแทบทุกวัน วันหนึ่งเข้ามาเสนอฟังก์ชันที่เป็นไดนามิกเมนู สามารถอัพเดตความเคลื่อนไหวบนโทรศัพท์มือถือ เพิ่มลดเมนู Over the Air และรักษาความปลอดภัยในการใช้งานได้

“ผมปิ๊งไอเดียตั้งแต่ได้ยินผู้ผลิตเสนอ นำไดนามิกเมนูกับความปลอดภัยมารวมกัน คิดถึงเอทีเอ็มที่มีมานานแล้ว น่าโคลนเมนูตามตู้เอทีเอ็มมาใส่ในซิม ทำให้เช็กเงินบนมือถือได้และต้องปลอดภัย คิดแล้วก็เขียนผังให้ผู้ผลิตกลับไปพัฒนาต่อ ดูความเป็นไปได้ ใช้เวลาประยุกต์ให้เหมาะกับมือถือนานมาก ก่อนไปเสนอคุณซิคเว่ เบรกเก้ (อดีตซีอีโอ) พอเรื่องผ่านก็พัฒนาต่อ แล้วก็ได้ทำบล็อกอัพไปโชว์งานไอซีที 2007”

หลังจากนั้นทินกรติดต่อกับธนาคารใหญ่ๆ หลายแห่ง แต่อุปสรรคสำคัญในการนำเมนูเอทีเอ็มมาใส่ในซิมคือ เรื่องความปลอดภัย เพราะถ้าเชื่อมต่อกับธนาคารผ่านอินเทอร์เน็ต ความปลอดภัยด้านข้อมูลลูกค้าก็จะลดลง

“กสิกรเป็นธนาคารแรกที่เราเข้าไปคุย เรื่อง Security เป็นโจทย์สำคัญมากในการทำเซอร์วิส กว่าจะขายเซอร์วิสผ่านใช้เวลาอยู่ 6 เดือน คือผมต้องไปขายโปรดักต์กับทางฝ่ายการตลาดก่อน แล้วก็ไปขายทางหลังบ้าน คือด้านเทคนิคว่าจะเชื่อมต่อยังไง ผ่าน SMS หรือ GPRS ขั้นตอนเป็นยังไง ลงทะเบียนยังไง ความปลอดภัยเป็นแบบไหน ใช้แล้วต้องรอข้อมูล 5 นาทีก็ไม่ได้ โจทย์เหล่านี้ทำให้ผมต้องทำการบ้านเยอะมาก”

ทินกรต้องกลับไปเสนออยู่หลายครั้ง และเพื่อให้เอทีเอ็มซิมไม่มีช่องโหว่ บุคลากรที่ใช้ของดีแทคมากถึงร้อยคน ตั้งแต่ทีมเน็ตเวิร์ค ทีม SMS ทีมพัฒนา ทีมดีไซน์ ทีมการตลาด ทีมดูแลความปลอดภัย โอเปอเรชั่น และซัพพอร์ต ซึ่งทุกฝ่ายต้องดิวงานกับแต่ละทีมของกสิกรโดยตรง เป็นการพัฒนาเซอร์วิสร่วมกัน และก่อนนำโปรดักต์ไปให้ลูกค้าใช้ ทินกรเองก็ทดลองโอนเงินนับร้อยครั้ง พนักงานดีแทคได้ทดลองใช้ก่อน จนแน่ใจว่าลูกค้าจะได้รับบริการที่ถูกต้องและปลอดภัย

ดีแทคไม่มีสิทธิ์เข้าถึงบัญชีธนาคารลูกค้า การที่ลูกค้าโทรเข้ามาถามหรือแจ้งปัญหาก็จะตอบไม่ได้ในบางคำถาม ทินกรจึงต้องสร้างทางเชื่อม

“คอลเซ็นเตอร์ดีแทคกับคอลเซ็นเตอร์กสิกรจะลิงค์กันหมด ยกตัวอย่างลูกค้าโทรเข้ามาบอกว่าโอนเงินแล้วยังไม่ได้รับ คอลเซ็นเตอร์ดีแทครับเรื่องแล้วส่งต่อให้กสิกร ทำให้รู้สึกว่าเป็นพนักงานดีแทคอีกคนที่รับเรื่องต่อ ทำเซอร์วิสของเราเป็นโปรเฟชชันนอล โดยที่ลูกค้าจะไม่ต้องพูดซ้ำเรื่องเดิม”

เมื่อดีแทคผสานกำลังกับธนาคารกสิกร ทำให้เอทีเอ็มซิมเป็นบริการเสริมที่ใหญ่ที่สุดของดีแทคในปี 2551 และเมื่ออายุครบปี จำนวนลูกค้าก็สูงถึง 1,000,000 คน นับยอดการทำธุรกรรมทางการเงินแล้วมีมากกว่า 3 ล้านรายการ มูลค่ากว่า 5.5 พันล้านบาทต่อเดือน และจำนวนเงินโอนโดยเฉลี่ยผ่านเอทีเอ็มซิมอยู่ที่ 10,000 บาท

ขั้นตอนผูกซิมกับบัญชีครั้งแรกจะยุ่งยาก เพราะต้องเปลี่ยนซิม คัดลอกรายชื่อผู้ติดต่อ นำรหัสผ่านแบบใช้ครั้งเดียวไปใส่ตู้เอทีเอ็ม ยืนยันเลขที่บัญชี และยืนยันการใช้งาน

“เอทีเอ็มซิมเป็นแอพพลิเคชันบนซิมที่ใช้งานผ่าน SMS กรณีระบบล่มหรือตู้เอทีเอ็มเสีย เอทีเอ็มซิมก็ยังสามารถเช็กยอดเงินได้อยู่ เป็นเซอร์วิสที่ผูกกับซิมที่ใช้งานง่าย และให้ใช้ฟรีเดือนละ 5 ครั้ง ผมมองว่าซิมนี้เป็น Value พิเศษที่ให้กับลูกค้าดีแทคกับลูกค้ากสิกร ทำให้เกิด Stickiness ได้ ยิ่งลูกค้าใช้บ่อยเท่าไร ยิ่งสร้าง Value ให้กับเอทีเอ็มซิมและดีแทคมากขึ้นเท่านั้น”

นวัตกรรมธุรกรรมบนมือถือนี้ คว้ารางวัลบริการการเงินบนมือถือยอดเยี่ยมของเอเชีย จากงาน GSMA’s Mobile Congress 2008 ที่มาเก๊า และล่าสุดรางวัล Most Innovation Application of the Year ในงาน 2009 Frost & Sullivan Asia Pacific ICT Awards ที่สิงคโปร์

“เอทีเอ็มซิม สามารถเพิ่มลูกค้าเพิ่มขึ้นได้ประมาณเดือนละ 100,000 คน และคาดว่าสิ้นปีนี้จะมีลูกค้าประมาณ 1.2 ล้านคน เวลาคิดงาน ผมคิดเสมอว่าเราเป็นลูกค้า ลูกค้าต้องอะไรที่ใช้งานง่าย ต้อง และ Fulfill หน้าบ้านให้ดี พอมีอะไรที่ใช้งานง่าย พฤติกรรมคนก็เปลี่ยนนะ ที่ชัดเจนคือทุกวันที่ 25 ของเดือน ปริมาณการใช้เอทีเอ็มซิมจะสูงมาก”

ทินกร เจ้าของไอเดียเอทีเอ็มซิมก็ใช้บริการเป็นประจำ และตอนนี้ให้ทีมงานดูแลเซอร์วิสนี้ต่อ เพราะต้องทุ่มไอเดียกับการทำโปรเจกต์ใหม่ เขาเล่าว่าเมื่อใดที่ใช้ความคิด ต้องทำตัวเองให้ผ่อนคลายที่สุด ถ้ารู้ตัวว่าเริ่มเครียดต้องลุกออกไปทำอย่างอื่นหรือเดินเล่น ไม่อย่างนั้นจะคิดงานไม่ออก

ว่างเมื่อไรก็จะหยิบโทรศัพท์มือถือขึ้นมากดเล่น ทินกรยอมรับว่าติดมือถือมาก และยังซื้อใหม่ทุก 2-3 เดือน เขาบอกว่าเป็นคนไม่ติดแบรนด์ ไม่ติดดีไซน์ แต่เรื่องฟังก์ชันต้องมาก่อน และการใช้งานแอพพลิเคชั่นใหม่ๆ บนมือถือ บางครั้งก็ทำให้เกิดไอเดียเจ๋งๆ ได้อีก

กิจกรรมอื่นๆ ได้แก่ เล่นเฮลิคอปเตอร์บังคับ เล่นเปียโน และเล่นฟุตบอล กีฬาที่ชื่นชอบเป็นชีวิตจิตใจ ถึงขนาดจ้างโค้ชมาสอนเพื่อให้เล่นได้ดีที่สุด ทินกรบอกว่าเขาชอบการแข่งขัน เพราะทำให้ชีวิตมีสีสันและได้เจอกับเรื่องท้าทายใหม่ๆ

ผลงานด้านสินค้าและบริการที่ทินกรคิดขึ้น
-ATMSIM
-Freezone
-Dtac WAP Portal
-Smartchat
-Dtac Pushmail
-Music Hub
-Dtac Internet SIM (Pre/Postpaid)
-Dtac Horoscope WAP Portal
-Dtac VDO Zone WAP Portal
-SMS news portal
-Multi-SIM

Profile

Name ทินกร เทียนประทุม
Education
– วิศวกรรมซอฟต์แวร์ มหาวิทยาลัยแห่งแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา
– ระบบการจัดการข้อมูล มหาวิทยาลัยโกลเดนเกต สหรัฐอเมริกา
– ปริญญาตรี เอกระบบการจัดการข้อมูล มหาวิทยาลัยรัฐวอชิงตัน สหรัฐอเมริกา
Career Highlights
– ผู้อำนวยการกลุ่มพัฒนากลยุทธ์ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น
จำกัด (มหาชน)
– ผู้ก่อตั้งและกรรมการผู้จัดการ Wisecom
– วิศวกรระบบ บริษัท ไอบีเอ็ม ประเทศไทย จำกัด
Social Networking Facebook