เป็นแบรนด์ใหญ่ ขยับตัวทีก็เป็นข่าว เมื่อสตาร์บัคส์ (Starbucks) ออกมาประกาศเตรียมปรับโครงสร้างองค์กร-ปรับลดพนักงานและปิด 150 สาขาเพื่อรับมือกับธุรกิจค้าปลีกหลังเผชิญปัญหายอดขายหดตัวโดยเฉพาะในอเมริกา ขณะที่เพิ่งเปิดแผนการขยายงานในจีนเฉลี่ยนับพันสาขาต่อไปไปไม่นาน
ล่าสุดจากการอ้างอิงของเอกสารภายในบริษัทที่ เควิน จอห์นสัน ซีอีโอของสตาร์บัคส์ ส่งถึงพนักงานโดยมีใจความสำคัญ เพื่อร่วมสร้างอนาคตด้วยกัน พร้อมกับรับมือและปรับการทำตลาดให้สอดคล้องกับธุรกิจค้าปลีกที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว
“แผนการดังกล่าวประกอบด้วยการเลย์ออฟ และการปิดสาขาที่มียอดขายต่ำ จำนวน 150 สาขา โดยคาดการณ์ว่าการปรับโครงสร้างองค์กรจะเริ่มพิจารณาภายในสัปดาห์นี้ (สิ้นเดือนกันยายน 2561) และเสร็จสิ้นทุกกระบวนการในเดือนพฤศจิกายนซึ่งจะมีการเปลี่ยนแปลงผู้นำของบริษัทและเกิดผลกระทบของคู่ค้าที่ไม่ใช่ธุรกิจค้าปลีก ซึ่งทางบริษัทจะพัฒนาทิศทาง ของทีมผ่านตัวองค์กรในด้านขนาด,ขอบเขตและเป้าหมายเพื่อความคล่องตัว”
ทั้งนี้ ถึงแม้ว่าจะยังไม่ได้มีการประเมินว่าจะเลย์ออฟจะมีจำนวนเท่าใด แต่จะเริ่มประเมินจากตำแหน่งระดับรองประธานกรรมการ ภายใต้การจัดลำดับความสำคัญที่จำเป็นต่อองค์กรตอบสนองความต้องการของลูกค้าให้มากที่สุด และปลดพนักงานบางส่วนที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับด้านการขาย-การให้บริการ เพราะอย่างไรบริษัทยังเน้นเรื่องการตอบสนองความพอใจของลูกค้าให้มากที่สุด โดยปัจจุบันสตาร์บัคส์มีพนักงานในสำนักงานใหญ่ที่ Sodo ประมาณ 5,000 คน
สตาร์บัคส์ยุคปรับโครงสร้าง เริ่มต้นในยุคของ เควิน จอห์นสัน
จอห์สัน อดีตผู้บริหารของไมโครซอฟท์ที่มาเข้ารับตำแหน่งต่อจาก Howard Schultz ในปี 2560 โดยใช้ประสบการณ์ทางด้านเทคโนโลยีและธุรกิจสร้างนวัตกรรมให้กับแบรนด์สตาร์บัคส์ในภาพรวม แต่ระยะหลังเกิดการเปลี่ยนแปลงมากมายเนื่องจากยอดขายตกลง
ไม่ว่าจะเป็นการเปิดตัวเมนูใหม่สำหรับ Frappucino ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นจุดขายหลักของช่วงบ่าย นอกจากนี้ยังได้ขยายการให้บริการอาหารที่หลากหลายมากยิ่งขึ้น จับกลุ่มผู้บริโภคที่พรีเมียมขึ้นกว่าเดิม ทั้ง Starbucks Roastery และ Starbucks Reserve
ส่วนในประเทศจีนสตาร์บัคส์หาพันธมิตรเพิ่มเพื่อขยายตลาด โดยลงนามในสัญญาร่วมกับ Ele.me สตาร์ทอัพในเครืออาลีบาบาที่ให้บริการส่งอาหาร โดยจะเริ่มต้นทดลองบริการส่งกาแฟถึงบ้านผ่านแพลตฟอร์ม Ele.me ในปักกิ่งและเซี่ยงไฮ้ ในเดือนกันยายนนี้ก่อนขยายสู่ 30 เมืองและ 2,000 สาขาทั่วจีน
ทั้งนี้เพราะธุรกิจส่งอาหารกลายเป็นเทรนด์ใหม่ที่กำลังได้รับความนิยมเพราะสะดวกและคล่องตัว ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของคนยุคได้เป็นอย่างดี
ในอเมริกา ก่อนหน้านั้นก็ยังมีการจับมือกับ Nestle ผ่านดีลยักษ์ใหญ่มูลค่า 7.15 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่งต่อประสบการณ์การดื่มกาแฟสตาร์บัคส์ไปสู่บ้านหลายล้านครัวเรือนทั่วโลกผ่านเครือข่ายและชื่อเสียงของ Nestle
แต่ละดีลของสตาร์บัคส์ที่ปรับเปลี่ยนานี้ บอกได้คำเดียวว่า เทใจไปทางเทคโนโลยีและการเลือกใช้ศักยภาพของพันธมิตรต่างๆ ในการขยายธุรกิจมากกว่าการพึ่งพาการเติบโตจากภายในแต่เพียงอย่างเดียวจริงๆ.