ใครที่ชื่นชอบ กันดั้ม ไม่น่าพลาดที่มาของ บันได (BANDAI) ธุรกิจขายของเล่นรายใหญ่ของญี่ปุ่น ซึ่งเพจ Power-up mag ได้นำเสนอเรื่องราวการต่อสู้ของธุรกิจ กว่าจะมายิ่งใหญ่ได้ถึงเพียงนี้
Bandai Ep.2
ก่อนจะเดินหน้ากันต่อไปขอย้อนกลับไปในช่วงยุค 50 สักเล็กน้อย คุณนาโอฮารุ ผู้ก่อตั้ง จริงจังกับงานนี้มาก เขาเปิดฝ่ายพัฒนาสินค้าใหม่ สร้างโกดัง ทำการส่งออกสินค้าไปยังต่างประเทศตั้งแต่ช่วงนี้แล้ว และในช่วงนี้แหละที่เขาออกโลโก้แรกของบริษัท ในนาม BC (หมายถึง Bandai Company ตามชื่อญี่ปุ่นในตอนนั้นคือ Bandai-Ya) และมีการออกโฆษณาทางทีวีที่มีเนื้อหาว่าเครื่องหมาย BC เครื่องหมายที่รับประกันคุณภาพ
เมื่อพูดถึงทีวี ก็นำเราไปสู่ก้าวต่อไปของบันได ที่จะกลายเป็นแนวทางการผลิตสินค้าของบริษัทต่อมาจนปัจจุบัน นั่นก็คือสินค้าที่อิงกับเหล่าตัวละคร เพราะถ้าเป็นแค่รถธรรมดาทั่วๆ ไป มันก็ไม่มีความโดดเด่น หรือสตอรี่ของตัวเอง แต่ถ้าเป็นรถของตัวละครมันก็จะแตกต่าง และตัวละครนั้นๆ ก็มีเรื่องราว มีสื่ออื่นๆ ที่จะช่วยโปรโมตขายสินค้าด้วย
บันไดเริ่มเข้ามาผูกพันกับ ”คาแร็กเตอร์” ตั้งแต่จุดเริ่มต้นของทีวีอนิเมะของญี่ปุ่น ด้วยการเป็นสปอนเซอร์รายการ แลกกับเวลาโฆษณาสินค้าที่ผลิตจากทีวีอนิเมะซีรีส์แรกของญี่ปุ่นอย่าง “อะตอม เจ้าหนูปรมาณู” ของปรมาจารย์นักวาดการ์ตูนชาวญี่ปุ่นอย่างโอซามุ เท็ตสึกะ ที่ออกฉายในปี 1963
ก่อนที่จะไปประสบความสำเร็จอย่างสูงด้วยการเป็นผู้อุปถัมภ์หลักของทีวีซีรีส์ แนวฮีโร่แปลงร่างอมตะอีกชุดอย่าง “อุลตร้าแมน” ที่เอย์ยิ สึบุราญ่า ผู้สร้างสัตว์ประหลาดอมตะอย่าง “ก็อตซิล่า” สร้างออกฉายทางทีวี (หลังจากผลิตหนังสัตว์ประหลาดแต่ไม่มีฮีโร่มาพักใหญ่) และก็ผูกพันกับทางสึบุราญ่าโปรดักชั่น ผู้ผลิตซีรีส์นี้มาตั้งแต่นั้น และบันไดก็พบว่าการออกของเล่นที่ผูกกับรายการทีวีสำหรับเด็กนี่แหละที่เป็นกลยุทธ์ทางการตลาดที่ได้ผลที่สุด
หนึ่งในสินค้าจากคาแร็กเตอร์ที่โด่งดังมากในช่วงแรกๆ นี้คือของเล่นที่สร้างมาจากซีรีส์ยอดฮิตจากอเมริกายุค 60 เรื่อง Flipper ที่เคยมาฉายในเมืองไทยในชื่อ “โลมาเพื่อนรัก” ซึ่งเป็นเรื่องของเด็กชายกับปลาโลมาแสนรู้ ของเล่นชุดนี้ไปได้รางวัลในงานแสดงสินค้าที่นิวยอร์กด้วย มันคือปลาไขลานที่ว่ายน้ำได้ บันไดผลิตสินค้าออกมาหลายอย่างด้วยกัน
ของเล่นสำหรับเล่นในน้ำนี้ถือว่าเป็นหมวดหมู่ที่ทำรายได้ดีมากในช่วงยุคโชวะ เพราะช่วงนั้นบ้านในญี่ปุ่นยังมีห้องอาบน้ำใช้กันน้อย ประชาชนแม้แต่ในโตเกียวก็ยังพึ่งพา “โรงอาบน้ำ” ทำให้ที่นั่นเหมือนสนามเด็กเล่นของเด็กๆ ที่มาอาบน้ำกับครอบครัว
เมื่อเด็กๆ มาชุมนุมกันก็ไม่แปลกที่จะมีการเอาของเล่นมาเล่นมาอวดกัน นั่นนำไปสู่ของเล่นอีกชุดที่ขายดีของบันไดคือ Crazy Foam อันนี้เป็นโฟมอาบน้ำที่มีจำหน่ายในอเมริกาด้วย เป็นโฟมอาบน้ำที่ข้นเหนียวคล้ายครีมโกนหนวดมาในบรรจุภัณฑ์ลายต่างๆ สามารถทำยอดขายได้ถีง 2.4 ล้านชิ้นในเวลาเพียง 3 เดือน
สินค้าของบันไดที่ได้รับความนิยมในยุค 60 นี้ก็มี ขุดรถแข่งบังคับ ที่เป็นรางแข่งเอารถวางแล้วมีรีโมตบังคับ ที่เด็กรุ่นเก่าๆ (แปลว่าคนแก่ๆ) คงจะพอนึกออก.
ที่มา : https://www.facebook.com/pages/category/Magazine/Power-Up-Mag-279183085751638/
อ่านข่าวเกี่ยวเนื่อง