“เลโก้” ประกาศ “ลดอคติทางเพศ” หลังวิจัยพบ “เด็กผู้หญิง” ถูกกีดกันจากของเล่นบางอย่าง

ทำไมผู้หญิงต้องเล่นแต่ตุ๊กตา? “เลโก้” ประกาศแผนลบล้าง “อคติทางเพศ” ออกจากสินค้าของเล่นของบริษัท หลังผลวิจัยพบว่า “เด็กผู้หญิง” ถูกกีดกันจากของเล่นบางอย่าง เพราะทัศนคติที่ไม่เท่าเทียมกันและการตีกรอบจนเสียความคิดสร้างสรรค์ไป

บริษัทสัญชาติเดนมาร์ก “เลโก้” ประกาศว่า จากนี้บริษัทจะสร้างความมั่นใจว่าของเล่นและการตลาดของแบรนด์จะ “ปราศจากอคติทางเพศและการวางภาพจำที่เป็นอันตราย” แม้ว่าจะไม่ได้ให้แนวทางอย่างชัดเจนว่าจะทำอย่างไร

การปฏิญาณตนครั้งนี้เกิดขึ้นหลังจากแบรนด์สนับสนุนการวิจัยชิ้นหนึ่ง ซึ่งสำรวจความคิดเห็นของเด็กและผู้ปกครองเกือบ 7,000 คนใน 7 ประเทศ โดยสอบถามมุมมองของพวกเขาเกี่ยวกับอาชีพ กิจกรรมนอกเวลาเรียน และของเล่น

งานวิจัยนี้พบว่า 76% ของผู้ปกครองจะสนับสนุนให้ “ลูกชาย” เล่นตัวต่อเลโก้ แต่มีเพียง 24% ที่จะสนับสนุนให้ “ลูกสาว” เล่นเลโก้เหมือนกัน

เลโก้ เด็กผู้หญิง
(Photo : Lego)

รายงานฉบับนี้ยังกล่าวด้วยว่า ผู้ปกครองมีแนวโน้มสนับสนุนให้เด็กผู้หญิงเล่นแต่งตัวตุ๊กตามากกว่าเด็กผู้ชายเกือบ 5 เท่า และเด็กผู้หญิงได้รับการสนับสนุนมากกว่าเด็กผู้ชายเกือบ 4 เท่าถ้าเป็นกิจกรรมประเภทการเต้น การทำอาหาร และการอบขนม

ในทางกลับกัน ผู้ปกครองมีโอกาสสูงกว่ามากที่จะสนับสนุนให้เด็กผู้ชายเล่นเกมฝึกการโค้ดดิ้ง หรือเล่นกีฬา

เลโก้ประกาศในข่าวประชาสัมพันธ์ว่า “สังคมนี้มีความจำเป็นอย่างมากที่จะต้องสร้างมุมมองใหม่ สร้างคำพูดและการกระทำใหม่ เพื่อสนับสนุนการมีความคิดสร้างสรรค์ของเด็กทุกคน”

เด็กผู้หญิงก็เล่นหุ่นยนต์ได้ หรือเด็กผู้ชายอาจจะชอบทำขนมก็ได้

“การละเล่นที่เสริมความคิดสร้างสรรค์มีประโยชน์หลายอย่าง เช่น สร้างความมั่นใจ สร้างความคิดนอกกรอบ สร้างทักษะการเข้าสังคม โดยสิ่งเหล่านี้เด็กๆ ทุกคนสัมผัสได้ แต่ถึงกระนั้น เราก็ยังคงสัมผัสกับประสบการณ์ “สเตอริโอไทป์” ที่มีมานาน ซึ่งคอยแปะป้ายว่ากิจกรรมไหนเหมาะกับเพศใดเท่านั้น” จูเลีย โกลด์มิน ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการตลาด Lego Group กล่าวในแถลงการณ์

นอกจากเรื่องการเล่นและกิจกรรม นักวิจัยพบว่า ผู้ปกครองส่วนใหญ่มักจะจินตนาการถึง “เพศชาย” เมื่อขอให้ลองนึกถึงคนที่ประกอบอาชีพบางอย่าง ไม่ว่าพวกเขาจะมีลูกสาวหรือไม่มีก็ตาม

อคติทางเพศเหล่านี้เด่นชัดมากเมื่อพูดถึงอาชีพอย่าง “วิศวกร” ซึ่งผู้ปกครองถึง 89% จะนึกถึงอาชีพนี้ว่าเป็นของเพศชายในทันที รวมไปถึงอาชีพอย่าง “นักกีฬา” และ “นักวิทยาศาสตร์” ก็เช่นกัน มีแนวโน้มสูงกว่าถึง 5 เท่าที่คนจะนึกถึงอาชีพเหล่านี้ว่าเป็นของผู้ชาย

มาฮิรุ ซูสุกิ เด็กหญิงวัย 11 ปีชาวญี่ปุ่น อีกหนึ่งคนที่จะอยู่ในหนังสั้นของเลโก้ โดยเธอเป็นเด็กนักเรียนผู้ก่อตั้งวงมาร์ชชิ่งแบนด์ขึ้นมาด้วยตนเอง

ในแง่การตลาด เลโก้ต้องการเปิดแคมเปญเพื่อ “เปิดกว้างต่อทุกเพศ” ในชื่อแคมเปญ “Ready for Girls” เน้นการเฉลิมฉลองให้กับความคิดสร้างสรรค์ของเพศหญิง โดยเป็นหนังสั้นหลายตอนเกี่ยวกับความสำเร็จของเด็กผู้หญิงและวัยรุ่นหญิง เช่น ฟาติมา อัลคาอาบี ซึ่งเป็น “นวัตกรที่อายุน้อยที่สุด” ของ UAE หรือ เชลซี แฟร์ เด็กผู้หญิงวัย 11 ปีผู้ก่อตั้งโครงการการกุศลระดมทุนส่งอุปกรณ์ศิลปะให้กับเยาวชนด้อยโอกาสในสหรัฐอเมริกา

“เรารู้ดีว่าเรามีบทบาทที่ต้องทำในการสร้างความถูกต้อง แคมเปญนี้จะเป็นหนึ่งในจุดเริ่มต้นของเราเพื่อสร้างความตระหนักรู้ถึงประเด็นนี้ และเราจะสร้างความมั่นใจว่าการเล่นตัวต่อเลโก้จะต้องโอบรับทุกเพศให้มากที่สุด” โกลด์มินกล่าว

เลโก้เคยเป็นแบรนด์ที่ถูกโจมตีหนักมากว่าเป็นของเล่นที่ตอกย้ำเรื่องอคติทางเพศ เมื่อปี 2011 ตัวต่อชุด “เลโก้ เฟรนด์ส” ถูกวิจารณ์เพราะสร้างตัวต่อเป็นโต๊ะเครื่องแป้งและชุดทำขนมคัพเค้กสีชมพูเพื่อเจาะกลุ่มเด็กผู้หญิง แต่ในหลายปีมานี้ เลโก้พลิกแบรนด์ได้สำเร็จ ล่าสุดเมื่อเดือนพฤษภาคมแบรนด์เพิ่งจะออกตัวต่อชุด “Everyone is Awesome” ซึ่งเป็นเซตตัวต่อสีรุ้งสำหรับ LGBTQ+

Source