สภาเศรษฐกิจโลกทำนาย ‘ความเท่าเทียมทางเพศ’ จะเกิดจริงในอีก 136 ปี!

รายงานฉบับใหม่จาก ‘World Economic Forum’ (WEF) หรือ ‘สภาเศรษฐกิจโลก’ คาดการณ์ว่าการบรรลุความเท่าเทียมทางเพศทั่วโลกจะใช้เวลาเกือบ 136 ปี ซึ่งเพิ่มขึ้นจากประมาณการเดิมที่วางไว้คือ 100 ปี

WEF มีมาตรการชี้วัดความเท่าเทียม 4 วิธี ได้แก่ 1.การมีส่วนร่วมทางเศรษฐกิจ 2.โอกาสทางการศึกษา 3.โอกาสและการเข้าถึงทางด้านสุขภาพ และ 4.การเสริมสร้างอำนาจทางการเมือง เมื่อพิจารณาจากข้อมูลดังกล่าวแล้วองค์กรพบว่า ช่องว่างในการเพิ่มขีดความสามารถทางการเมืองได้กว้างขึ้นอย่างมีนัยสำคัญนับตั้งแต่รายงานปี 2020 ในขณะที่การมีส่วนร่วมทางเศรษฐกิจดีขึ้นเพียงเล็กน้อย

“เราหวังว่ารายงานฉบับนี้จะใช้เป็นคำเรียกร้องให้การปลูกฝังถึงความเท่าเทียมทางเพศ เป็นเป้าหมายหลักของนโยบายและแนวปฏิบัติในการจัดการการฟื้นตัวหลังการระบาดของ COVID-19 เพื่อประโยชน์ของเศรษฐกิจและสังคมของเรา” Saadia Zahidi กรรมการผู้จัดการ WEF เขียนในรายงาน

ในขณะที่สัดส่วนของผู้หญิงในกลุ่ม ผู้เชี่ยวชาญ มีจำนวนเพิ่มขึ้น แต่ก็มีความ ไม่เสมอภาคของรายได้ และจำนวนผู้หญิงที่อยู่ใน ตำแหน่งบริหาร ยังคงเป็นปัญหาอยู่ ขณะที่ช่วงการระบาดใหญ่จำนวน ผู้หญิงตกงาน มีอัตราที่สูงกว่าผู้ชาย และเมื่อเศรษฐกิจฟื้นตัวพวกเขาก็ได้รับการว่าจ้างใหม่ในอัตราที่ช้ากว่าผู้ชาย

“ความก้าวหน้าต่อความเท่าเทียมทางเพศกำลังเกิดขึ้นในเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมขนาดใหญ่หลายแห่ง แต่ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการที่ผู้หญิงต้องทำงานในภาคส่วนที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุดจากการถูกล็อกดาวน์ รวมทั้งยังมีแรงกดดันเพิ่มในการต้องดูแลที่บ้าน”

นอกจากนี้ รายงานดังกล่าวสะท้อนถึงข้อกังวลที่เกิดขึ้นในงานวิจัยก่อนหน้านี้ โดยองค์การสหประชาชาติคาดการณ์เมื่อเดือนกันยายนปีที่แล้วว่าผลกระทบจากการแพร่ระบาดอาจผลักให้ผู้หญิงอีก 47 ล้านคนตกอยู่ในความยากจน

“นั่นเหมือนกับประเทศสเปนทั้งประเทศตกอยู่ในความยากจน เป็นเพราะเราเห็นผู้หญิงถูกเลิกจ้างแรงงาน” Melinda Gates ประธานร่วมของมูลนิธิบิลและเมลินดาเกตส์ กล่าว

ทั้งนี้ ประเทศที่มีช่องว่างระหว่างเพศน้อยที่สุดคือ กลุ่มนอร์ดิก ที่ประกอบด้วย ไอซ์แลนด์, นอร์เวย์, สวีเดน, ฟินแลนด์ และเดนมาร์ก ขณะที่สหรัฐอเมริกาอยู่ในอันดับที่ 30 ในด้านความเท่าเทียมกันทางเพศ

Source