สนับสนุน “ความเท่าเทียม” อย่างไรไม่ให้เป็นแค่การตลาด ศึกษาจาก แสนสิริ-ยูนิลีเวอร์-ดีแทค องค์กรต้นแบบ UNDP

UNDP ความเท่าเทียม แสนสิริ ยูนิลีเวอร์ ดีแทค
ถ้าองค์กรเอกชนสักแห่งลุกขึ้นมาออกนโยบายด้าน “ความเท่าเทียม” ทั้งทางเพศ ชาติ ศาสนา ฐานะ ผลกระทบจะเกิดขึ้นเป็นวงกว้างในสังคม เพราะเอกชนเกี่ยวพันกับทั้งพนักงาน ลูกค้า และคู่ค้าตลอดซัพพลายเชน เอกชนจะเป็นตัวเร่งความเปลี่ยนแปลงที่ดี ทำให้ UNDP เลือกจัดพันธกิจส่งเสริมการสร้างนโยบายความเท่าเทียมผ่านองค์กรเอกชน และคัดเลือก 3 องค์กรต้นแบบในไทย ได้แก่ แสนสิริ, ยูนิลีเวอร์ และ ดีแทค เพื่อร่วมมือกันส่งแรงบันดาลใจและแนวทางปฏิบัติให้องค์กรอื่นๆ

“ประเทศไทยนั้นมีความอดทนอดกลั้นต่อ LGBTQ+ แต่ไม่ใช่การโอบรับความหลากหลายนั้นเข้ามา” เรอโน เมแยร์ ผู้แทนโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ ประจำประเทศไทย (United Nations Development Programme: UNDP) กล่าวโดยสรุป

ความหมายของเขาคือประเทศไทยมีความอดทนต่อ LGBTQ+ เพศที่สามไม่ต้องหวั่นกลัวอันตรายต่อชีวิตหากเปิดเผยตัวตน แต่ที่ทางในสังคมยังมีส่วนที่ปิดกั้นไม่ให้เข้าถึง บางอาชีพยังไม่ต้อนรับ LGBTQ+ แม้กระทั่งเพศหญิงเอง ประเทศไทยมีอัตราส่วนผู้บริหารหญิงในองค์กรเอกชนที่มากกว่าหลายประเทศในโลก แต่ในวงการการเมืองการปกครองระดับสูงนั้นมีผู้หญิงอยู่น้อยมาก นอกจากนี้ยังมีความเหลื่อมล้ำทางชนชั้นที่เป็นปัญหาในประเทศ

“ไทยทำได้ดีกว่าหลายประเทศ เราเปิดกว้างกว่าคนอื่น แต่ยังมีจุดที่พัฒนาได้อีก” เมแยร์กล่าว

 

3 องค์กรต้นแบบทำอะไรเพื่อ “ความเท่าเทียม” ?

เพื่อให้เกิดการพัฒนาดังกล่าว UNDP มองเห็นความสำคัญของการผลักดันผ่านองค์กรเอกชน โดยมีการจัด Roundtable Discussion รวมองค์กรเอกชนและภาครัฐมาพูดคุยเพื่อศึกษาแนวนโยบายและการปฏิบัติด้านความเท่าเทียม เพื่อให้ UNDP ได้รวบรวมองค์ความรู้ เป็นแกนกลางเครือข่ายในการให้คำปรึกษาองค์กรที่ต้องการจะสร้างความเท่าเทียมในอนาคต

UNDP ความเท่าเทียม แสนสิริ ยูนิลีเวอร์ ดีแทค
(จากซ้าย) ชารัด เมห์โรทรา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทค, ณัฏฐิณี เนตรอำไพ ผู้จัดการอาวุโสฝ่ายองค์กรสัมพันธ์ บริษัท ยูนิลีเวอร์ ประเทศไทย, เศรษฐา ทวีสิน ประธานอำนวยการและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) และเรอโน เมแยร์ ผู้แทนโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ ประจำประเทศไทย (UNDP)

โอกาสนี้ UNDP คัดเลือก 3 องค์กรต้นแบบความเท่าเทียมขึ้นมาเพื่อจะเป็น ‘พี่ใหญ่’ ที่ให้คำแนะนำองค์กรอื่นได้ ได้แก่ แสนสิริ, ยูนิลีเวอร์ และ ดีแทค ด้วยนโยบายองค์กรที่ปฏิบัติจริงและได้ผลจริง ไม่ใช่การ ‘Pinkwashing’ หรือสนับสนุน LGBTQ+ เพื่อประโยชน์ทางการตลาดเท่านั้น

“แสนสิริ”

เป็นองค์กรสัญชาติไทยแห่งแรกที่ร่วมลงนามในสัญญา UN Global Standards of Conduct for Business ของ UNDP สัญญานี้คือสัญญาว่าองค์กรจะปฏิบัติต่อพนักงาน LGBTQ+ อย่างเท่าเทียม ให้สวัสดิการที่เท่าเทียมกัน เช่น ลาเพื่อจัดสมรสกับคู่ชีวิต, ลาฌาปนกิจคู่ชีวิต, ลาเพื่อดูแลคู่ชีวิตและบุตรบุญธรรม และยังสามารถลาเพื่อผ่าตัดแปลงเพศได้ 30 วันต่อปี รวมถึงสิทธิที่บริษัทให้แก่คู่สมรส คู่ชีวิต LGBTQ+ จะได้รับด้วย เช่น วัคซีนทางเลือก ประกันสุขภาพ

ในแง่ของสินค้า แสนสิริเป็นบริษัทอสังหาริมทรัพย์ซึ่งลูกค้ามักจะมีการกู้สินเชื่อบ้าน บริษัทจึงพบปัญหาอย่างหนึ่งว่า คู่ชีวิต LGBTQ+ จะไม่สามารถกู้ร่วมกันได้เพราะไม่มีทะเบียนสมรสและไม่ถูกยอมรับว่าเป็นคู่ชีวิตทางพฤตินัย แสนสิริจึงเข้าพบกับธนาคารพาณิชย์หลายแห่งเพื่อเจรจาขอให้ลูกค้า LGBTQ+ ที่เป็นคู่ชีวิตกัน พิสูจน์ได้ สามารถกู้ร่วมได้เป็นกรณีพิเศษ การเจรจาเหล่านั้นสำเร็จจนถึงทุกวันนี้

แสนสิริช่วยเจรจาสินเชื่อบ้านให้ลูกค้าคู่ชีวิต LGBTQ+ สามารถกู้ร่วมกันได้
“ยูนิลีเวอร์”

บริษัทผลิตสินค้าของใช้ในชีวิตประจำวัน เมื่อบริษัทใหญ่ขยับ จะมีผลกับลูกค้าจำนวนมาก ทำให้ยูนิลีเวอร์มีนโยบายการให้ความเท่าเทียมในหลายด้าน เช่น การสร้างความหลากหลายในโฆษณา ใช้คนธรรมดาหรือคนที่มีความแตกต่างให้มากขึ้น, สร้างสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยในที่ทำงาน เพื่อให้ LGBTQ+ สามารถแสดงตัวตนได้โดยไม่รู้สึกหวาดกลัวและไม่มีผลกระทบต่อการทำงานหรือการเลื่อนขั้น, ตั้งเป้าเพิ่มการจ้างงานผู้พิการให้มีสัดส่วน 5% ภายในปี 2568 เป็นต้น

ยูนิลีเวอร์ ความเท่าเทียม
โฆษณาของ Sunsilk ที่พูดถึง LGBTQ+ มาตั้งแต่ปี 2562
“ดีแทค”

บริษัทในเครือเทเลนอร์ กรุ๊ป เนื่องจากเป็นบริษัทโทรคมนาคม ทำให้ดีแทคจะให้ความสำคัญกับการกระจายการเข้าถึงโทรคมนาคมอย่างเท่าเทียมในทุกกลุ่ม ทำให้จะดูแลกลุ่มที่ต้องการการดูแล เช่น โครงการ ‘ดีทั่วดีถึง ดีไปด้วยกันทุกคน’ ช่วยให้ผู้พิการเข้าถึงอินเทอร์เน็ต โครงการ Safe Internet ช่วยเสริมภูมิคุ้มกันออนไลน์ ป้องกันไซเบอร์บูลลี่ให้กับกลุ่มเยาวชน ให้ความรู้การใช้อินเทอร์เน็ตอย่างปลอดภัยแก่ผู้สูงวัย

ส่วนการจัดการภายในองค์กรของดีแทคก็มีนโยบาย ‘Zero-Tolerance’ ต่อการกีดกันด้วยเพศ ชาติ ศาสนา และมีสวัสดิการสำหรับ LGBTQ+ สามารถลาผ่าตัดแปลงเพศได้ และผู้หญิงสามารถลาคลอดบุตรได้ 6 เดือนต่อปี เพื่อให้ผู้หญิงไม่ต้องเลือกระหว่างชีวิตการงานหรือครอบครัวเมื่อวางแผนมีบุตร

ดีแทค ความเท่าเทียมนั่นคือรากฐานที่แต่ละบริษัททำมาตลอดหลายปี แต่ล่าสุดหลังจากร่วม Roundtable กับ UNDP ทำให้แต่ละบริษัทสามารถเรียนรู้ซึ่งกันและกันได้ และมีการประกาศจุดยืนร่วมกัน สร้างโครงการขยายผลเพื่อทำร่วมกันในประเด็นความเท่าเทียมต่อไป เช่น แนวคิดการสนับสนุนซัพพลายเออร์ในซัพพลายเชนที่เป็นบริษัทของ LGBTQ+ แต่ปัญหาคือยังไม่เคยมีใครจัดทำลิสต์บริษัทที่บริหารโดย LGBTQ+ มาก่อน ซึ่งทำให้ทุกบริษัทจะร่วมมือกันเพื่อรวบรวมฐานข้อมูลดังกล่าว

 

รู้ว่าเป้าคือ “ความเท่าเทียม” แต่ไม่รู้ว่าต้องทำอย่างไร

แสนสิริมีพนักงานกว่า 4,000 คน ยูนิลีเวอร์มีกว่า 5,000 คน และดีแทคอีก 6,000 คน ผลกระทบที่เกิดจากสามบริษัทนี้สูงมาก แต่จะเปลี่ยนสังคมได้มากกว่านี้เมื่อบริษัทอื่นๆ มีนโยบายความเท่าเทียม ลงไปถึงบริษัทในระดับ SMEs

“จากที่ได้พูดคุยมา บริษัท SMEs จะบอกว่าอุปสรรคหลักของเขาคือ ‘เงินทุน’ ทำให้เขาไม่พร้อมจะให้สวัสดิการคนทุกกลุ่มเสมอภาคกันหมด แต่จริงๆ แล้วบางอย่างสามารถทำได้ทันทีโดยไม่ต้องใช้เงิน เป็นเรื่องที่เริ่มจากทัศนคติของผู้บริหาร สร้างการปฏิบัติต่อทุกคนอย่างเท่าเทียมในชีวิตประจำวัน เพราะเรื่องแบบนี้เป็น top-down ผู้บริหารต้องแสดงให้เห็นก่อนว่าสนับสนุนการแสดงตัวตน ไม่มีการแบ่งแยกรังเกียจ หรือการโปรโมตเลื่อนขั้นก็โปร่งใสว่าไม่ใช้เรื่องเพศมาเกี่ยวข้อง” ณัฏฐิณี เนตรอำไพ ผู้จัดการอาวุโสฝ่ายองค์กรสัมพันธ์ บริษัท ยูนิลีเวอร์ ประเทศไทย กล่าว

“สังคมภายนอกอาจจะยังตัดสินตัวตนของเขา แต่ที่ยูนิลีเวอร์เราไม่ตัดสิน อย่างล่าสุดเรามีผู้บริหาร LGBTQ+ ของไทยที่ได้รับการเลื่อนขั้นไปในระดับโกลบอลแล้ว เห็นได้ว่าเพศไม่มีผลต่อความก้าวหน้า”

Photo : Shutterstock

เรอโน เมแยร์ จาก UNDP กล่าวว่า ทุกวันนี้องค์กรในไทยตระหนักรู้ถึงเรื่อง “ความเท่าเทียม” แล้ว แต่สังคมยังสงสัยว่าการตั้งเป้าต่างๆ จะเป็นแค่การพูด “บลา-บลา-บลา” แต่ไม่มีการลงมือทำหรือเปล่า ซึ่ง UNDP เชื่อว่าส่วนใหญ่มีความตั้งใจที่ดี เพียงแต่ไม่มีประสบการณ์ว่าต้องทำอย่างไรมากกว่า ทำให้ดูเหมือนเป็นการ Pinkwashing อยู่บ่อยครั้ง

“ถ้าทำเรื่องความเท่าเทียมแล้วรายได้เพิ่มในลักษณะเป็นผลพลอยได้ แบบนี้โอเค แต่ถ้าทำเพื่อหาผลประโยชน์เป็นแค่การตลาดเท่านั้น อันนี้ไม่ใช่เรื่องที่ถูกต้อง” เศรษฐา ทวีสิน ประธานอำนวยการและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) กล่าวเสริม

“ถ้าทำเรื่องความเท่าเทียมแล้วรายได้เพิ่มในลักษณะเป็นผลพลอยได้ แบบนี้โอเค แต่ถ้าทำเพื่อหาผลประโยชน์เป็นแค่การตลาดเท่านั้น อันนี้ไม่ใช่เรื่องที่ถูกต้อง”

— เศรษฐา ทวีสิน ประธานอำนวยการและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน)

เมแยร์อธิบายว่า เมื่อปัญหาขององค์กรที่กำลังพยายามสร้างนโยบายความเท่าเทียมคือการไม่มีคู่มือ ไม่มีประสบการณ์ UNDP จึงเข้ามาเป็นสะพานเชื่อมให้องค์กรเหล่านี้ได้คุยกับองค์กรต้นแบบ เพื่อจะให้เห็นว่าการจัดการภายในเริ่มต้นได้จากตรงไหน เช่น การรับสมัครงานที่ไม่กีดกันทางเพศ, วิธีคิดการออกแบบผลิตภัณฑ์เพื่อความเท่าเทียม ต้องคิดให้ถึงต้นตอที่ช่วยแก้ปัญหาได้จริง ไม่ใช่การตลาด หรือการคิดให้ครบทั้งซัพพลายเชนเพื่อพาซัพพลายเออร์มาเปลี่ยนแปลงไปด้วยกัน

บนเวทีการพูดคุยครั้งนี้ยังมองเห็นประเด็นความเท่าเทียมที่ยังต้องพัฒนาในมิติอื่นอีก เช่น ความเหลื่อมล้ำทางสังคม ช่องว่างรายได้ของประชาชน เป็นอีกประเด็นใหญ่ที่ต้องคิดหาวิธีปฏิบัติ และการระดมสมองจากหลายๆ องค์กรจะทำให้ไปด้วยกันได้เร็วกว่าเดิม