55% ของคนทำงานยังมี “เงินเก็บ” ไม่พอใช้หลัง “เกษียณ” หรือยังไม่รู้ว่าเมื่อถึงวันนั้นจะมีพอหรือเปล่า

เกษียณ
Photo by Tima Miroshnichenko / Pexels
World Economic Forum สำรวจกลุ่มตัวอย่างจากคนวัยทำงานในหลายทวีป พบว่าคนส่วนใหญ่ 55% ยังไม่มี “เงินเก็บ” พอใช้หลัง “เกษียณ” หรือยังไม่รู้ว่าเมื่อถึงวันนั้นจะมีพอหรือเปล่า อย่างไรก็ตาม 44% ของคนวัยต่ำกว่า 40 ปียังฝันถึงการเกษียณในวัยไม่เกิน 60 ปี แม้แนวโน้มของคนส่วนใหญ่จะทำไม่ได้ตามเป้า

คนในโลกนี้พร้อมแค่ไหนที่จะ “เกษียณ” อายุ? World Economic Forum (WEF) หาคำตอบผ่านการสำรวจกลุ่มตัวอย่าง 397 คนจากหลากหลายทวีป ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในทวีปอเมริกาเหนือ ทวีปยุโรป ออสเตรเลีย/นิวซีแลนด์ ทวีปเอเชีย และตะวันออกกลาง ตามลำดับ โดย 90% สำรวจในกลุ่มคนที่จบการศึกษาชั้นปริญญาตรีขึ้นไป แต่มีการกระจายตัวของกลุ่มอายุ ตั้งแต่ไม่เกิน 20 ปี จนถึงกลุ่มอายุมากกว่า 70 ปี

การสำรวจครั้งนี้เกิดขึ้นเพราะสหประชาชาติพบว่าค่าเฉลี่ยอายุขัยประชากรได้ปรับตัวสูงขึ้นมาก จากอายุขัย 48 ปีในปี 1950 ขึ้นมาเป็น 73 ปีในปี 2019 และยังคาดการณ์ว่าตัวเลขนี้จะขึ้นไปแตะ 81 ปีในปี 2100 อีกด้วย

ด้วยอายุขัยที่เพิ่มมากขึ้นจากคนรุ่นพ่อแม่หรือรุ่นปู่ย่าตายายถึง 20 ปี นั่นแปลว่าประชากรวัยเกษียณในยุคต่อจากนี้จะต้องมีเงินเก็บเตรียมไว้ใช้หลังเกษียณมากกว่าเดิม มิฉะนั้นอาจเกิดความเสี่ยงที่จะกลายเป็นคนยากไร้ในวัยชราได้

นอกจากอายุขัยจะเพิ่มขึ้นแล้ว ความคาดหวังของคนยุคนี้ยังต้องการจะเกษียณเร็วด้วย โดย 44% ของคนวัยไม่เกิน 40 ปี หวังว่าตนจะได้เกษียณในวัยไม่เกิน 60 ปี

(Photo : Shutterstock)

ในทางกลับกัน มีคนกลุ่มใหญ่เหมือนกันที่ต้องการทำงานไปเรื่อยๆ โดยมี 40% ของผู้ถูกสำรวจที่ต้องการทำงานไปจนอายุมากกว่า 65 ปี หากแยกตามประเทศที่อาศัยอยู่ คนทำงานจนถึงวัยชรามักจะอยู่ในเอเชียแปซิฟิก เช่น เกาหลีใต้ สิงคโปร์ ญี่ปุ่น นิวซีแลนด์ อินเดีย จีน

แล้วคนเรามองว่า “ตนเองต้องการรายได้เท่าไหร่หลังเกษียณ?” คำตอบเป็นดังนี้

  • 9% ต้องการ 1 ส่วน 3 ของรายรับสุทธิปัจจุบัน
  • 24% ต้องการ 1 ส่วน 2 ของรายรับสุทธิปัจจุบัน
  • 38% ต้องการ 2 ส่วน 3 ของรายรับสุทธิปัจจุบัน
  • 23% ต้องการเท่ากับรายรับสุทธิปัจจุบัน
  • 6% ต้องการมากกว่ารายรับสุทธิปัจจุบัน
เกษียณ
(ที่มา: World Economic Forum)

 

ความเป็นจริงแล้วคนเราจะไม่ได้ “เกษียณ” ตามแผนที่ฝันไว้

แม้ว่าจะมีตัวเลขในใจแล้วว่าควรมีรายได้เท่าไหร่หลังเกษียณ แต่คนถึง 55% กลับยังไม่มีเงินเพียงพอหรือยังไม่รู้ว่าตัวเองจะมีเงินเก็บได้ถึงเป้าที่ตั้งไว้หลังเกษียณหรือไม่ และเฉพาะในกลุ่มคนวัยไม่เกิน 40 ปี มีถึง 37% ที่ยังไม่เคยคำนวณเลยด้วยว่าตนเองต้องมีเงินเก็บหลังเกษียณมากน้อยแค่ไหน

WEF ยังรายงานด้วยว่า ในความเป็นจริงแล้วมีความเป็นไปได้ที่คนส่วนใหญ่จะไม่ได้เกษียณตามแผนที่ฝันไว้ เพราะตัวเลขรายได้หลังเกษียณที่ต้องการไม่สอดคล้องกับความจริงที่สามารถทำได้ นั่นแปลว่าคนทำงานจะมีทางออกอยู่ 4 เส้นทางหากต้องการจะถึงฝัน คือ

  1. เก็บเงินออมให้มากขึ้นตั้งแต่วันนี้
  2. เกษียณให้ช้าลง
  3. ยอมรับที่จะมีรายได้หลังเกษียณน้อยลง
  4. ปรับกลยุทธ์การลงทุนให้เสี่ยงมากขึ้นแต่โอกาสได้ผลตอบแทนจะสูงขึ้น
45% ของกลุ่มคนวัยไม่เกิน 40 ปี คาดว่าตนเองจะต้องมีเงินเก็บเตรียมไว้ดูแลพ่อแม่ยามแก่เฒ่า

อีกประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจที่จะทำให้แผนเกษียณของคนยุคต่อไปยากยิ่งขึ้น เพราะคนกลุ่มใหญ่มองว่านอกจากจะเตรียมเงินเก็บให้ตนเองแล้ว “ยังต้องเตรียมเงินเก็บไว้ดูแลพ่อแม่ยามแก่ชราด้วย” โดย 1 ใน 3 ของผู้ถูกสำรวจเห็นด้วยว่าตนเองจะต้องใช้เงินดูแลพ่อแม่ในอนาคต

ตัวเลขนี้ยิ่งสูงขึ้นในกลุ่มคนวัยไม่เกิน 40 ปี ซึ่งมีถึง 45% ที่คาดว่าตนเองจะต้องมีเงินเก็บเตรียมไว้ดูแลพ่อแม่ยามแก่เฒ่า โดยเฉพาะผู้ถูกสำรวจจากทวีปเอเชียและตะวันออกกลาง รวมถึงคนเชื้อชาติอื่นที่ไม่ใช่คนผิวขาวในทุกทวีป จะยิ่งมีค่าเฉลี่ยปัจจัยเรื่องการดูแลพ่อแม่มากกว่าคนอื่น

สรุปจาก WEF มีความเห็นว่า โลกกำลังก้าวสู่ยุคสมัยใหม่ที่ประชากรต้องเปลี่ยนมุมมองเรื่องการ “เกษียณ” ที่ต่างไปจากคนรุ่นก่อน จากในอดีตคนเรามีขั้นตอนการใช้ชีวิต 3 ขั้น คือ วัยเรียน, วัยทำงาน และวัยเกษียณ แต่ยุคต่อไปชีวิตจะมีหลายขั้นตอนที่ซับซ้อนขึ้นและคนเราอาจจะมีทางเดินหลายแบบ หมายถึงเราจะต้องอาศัยการเรียนรู้ตลอดชีวิต เปลี่ยนแปลงอาชีพ และมีอาชีพใหม่ในช่วงบั้นปลาย รวมถึงโลกทางการเงินอาจจะต้องมีวิธีหรือนวัตกรรมใหม่ที่จะส่งเสริมให้คนยังยืดหยุ่นทางการเงินได้ หากอายุขัยยืนยาวขึ้นกว่าเดิม

Source