จัดพอร์ตให้เป๊ะ เกษียณให้ไว “ผ่อนส่งความมั่งคั่ง” ได้สไตล์คนรุ่นใหม่

ดย ตราวุทธิ์ เหลืองสมบูรณ์ CEO Jitta Wealth

คุณเป็นคนนึงที่ฝันอยากจะเกษียณเร็วไหมครับ? ฝันนี้จะเป็นจริงได้ ถ้าคุณตั้งเป้าหมายชีวิตว่า อยากจะมีอิสรภาพทางการเงินให้ได้ก่อนอายุ 60 ปี

แน่นอนว่า การมีชีวิตที่มีอิสรภาพทางการเงิน เป็นความปรารถนาของคนทุกเพศทุกวัยทั้งนั้นโดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ เพราะการมีอิสระภาททางการเงิน นั่นหมายถึง คุณจะสามารถมีชีวิตที่ไม่ต้องถูกกำหนดให้ใช้เวลาวันละ 8-10 ชั่วโมงทำงานให้กับบริษัทดังเช่นยุคสมัยของคนรุ่นเก่าคุณปู่คุณย่าหรือแม้แต่คุณพ่อคุณแม่ของพวกเรา ภาพจำที่มี พวกท่านต้องทุ่มเทเวลาทำงานเพื่อเติบโตในตำแหน่งหน้าที่การงานทำให้มีรายได้สูงๆ เพื่อเป้าหมายความมั่งคงในบั้นปลายชีวิตวัยเกษียณ ขณะที่รูปแบบการออมเงินของพวกท่านจะเน้นการฝากเงินเป็นหลัก ส่วนการลงทุนก็จะเป็นพันธบัตรรัฐบาลที่มีความเสี่ยงต่ำได้ผลตอบแทนรูปดอกเบี้ย พวกท่านจะไม่ค่อยกล้าลงทุนหุ้นเพราะกลัวขาดทุนหรือเงินต้นหายหมด

แตกต่างกับคนรุ่นใหม่ ส่วนใหญ่หันมาสนใจเรื่องการเงินการลงทุนต่างๆ บางกลุ่มเรียนยังไม่จบก็เข้ามาลงทุน บางกลุ่มเริ่มทำงานก็วางแผนทางการเงิน เรียนรู้เรื่องการลงทุนต่างๆ ด้วยตัวเอง กล้าลงทุนกล้าเสี่ยง ตัดสินใจรวดเร็ว พวกเขาเติบโตมากับเทคโนโลยีที่ช่วยให้เข้าถึงข้อมูลข่าวสารต่างๆ ได้อย่างรวดเร็ว ภายใต้บริบทสภาพเศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนแปลงด้วย นื่คือ วิถีชิวิตทางการเงินของคนรุ่นใหม่ เรียกว่าฉีกแนวความคิดเดิมๆของคนรุ่นเก่าทิ้ง

ในช่วง 7-8 ปีที่ผ่านมา นักลงทุนรุ่นใหม่เข้ามาสู่โลกแห่งการลงทุนมากขึ้น สะท้อนจากข้อมูลตลาดหลักทรัพย์ มีการเปิดบัญชีของคนรุ่นใหม่ Generation Y มีจำนวนมากขึ้นและมากกว่าคน Generation อื่น ๆ และในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ผู้ลงทุนส่วนใหญ่ที่มีความแอ็กทีฟที่สุด คือ นักลงทุน Generation Y และมีมูลค่าการซื้อขายหลักทรัพย์ที่เพิ่มมากขึ้น เนื่องจากมีความมั่งคั่งทางการเงินมากขึ้น และเทรนด์ของการซื้อขายหลักทรัพย์ผ่านทางอินเทอร์เน็ตด้วย ทำให้ปัจจุบัน ตลาดหุ้นไทยมีสัดส่วนการลงทุนผ่านอินเทอร์เน็ตเพิ่มขึ้นกว่า 80-90 % ของทั้งหมด หากเทียบกับเมื่อก่อนนักลงทุนจะซื้อขายผ่านผู้แนะนำการลงทุนมากกว่า

แม้แต่รูปแบบการลงทุนของคนรุ่นใหม่ก็มีการกระจายตัวในสินทรัพย์ต่างๆ มากขึ้นและมากกว่าคน Generation อื่นๆ แม้ว่าพวกเขาจะกล้าได้กล้าเสียและตัดสินใจได้รวดเร็ว เพราะมีความหวังผลจากการลงทุน โดยมองในมุม Upside Gain มากกว่า แต่ก็เรียนรู้การกระจายความเสี่ยงในการลงทุน

Photo : Shutterstock

สิ่งที่น่าสนใจคือ เทรนด์ที่นักลงทุนรุ่นใหม่ Gen Y ให้ความสนใจมากขึ้นเรื่อยๆ คือ การออกไปลงทุนต่างประเทศ เปิดกว้างรับรู้สถานการณ์การลงทุนต่างๆ ในต่างประเทศ

ภาพขยายของกลุ่มคนรุ่นใหม่มีความตื่นตัวเรื่องการเงินการลงทุนมากขึ้นๆ การที่ได้หลายคนขยันทำงาน ประหยัด เก็บออม เพื่อเร่งลงทุนใฝ่ฝันที่จะมี ‘อิสรภาพทางการเงิน’ เพื่อที่จะ ‘เกษียณเร็ว’ ไม่ต้องรออายุ 60 ปีเหมือนคนรุ่นก่อนๆ คนรุ่นใหม่มีความฝันที่อยากไปทำสิ่งที่รักงานที่ชอบอีกหลายสิ่ง

อย่างไรก็ตาม แต่ก็ต้องยอมรับว่า คนรุ่นใหม่แต่ละคนมี Lifestyle ที่แตกต่างกัน ความต้องการใช้เงินและวิธีการเก็บเงินเพื่อนำไปใช้ในอนาคตย่อมแตกต่างกันไปด้วย

ไลฟ์สไตล์ทางการเงินของคนรุ่นใหม่ 3 แบบ

วันนี้ผมจะนำไลฟ์สไตล์ทางการเงินของคนรุ่นใหม่ 3 แบบมาเล่าครับ การมีความรู้ด้านการเงินการลงทุนตั้งแต่อายุยังน้อย จะช่วยให้คุณออกแบบชีวิตที่ตัวเองต้องการได้ง่ายขึ้นสุดๆ

ไลฟ์สไตล์การเงินของคนรุ่นใหม่กลุ่มแรก คือ แบบ DINK ย่อมาจาก Double Income, No Kids จะเป็นวิถีคู่รักที่อยู่ด้วยกันมีรายได้คูณสองแต่ยังไม่มีลูก กลุ่มนี้จะมองว่าสุขภาพจิตที่ดีอยู่เบื้องหลังความมั่นคั่งทางการเงิน พวกเขาจึงโหมเก็บออมและนำเงินไปลงทุนให้ได้มากที่สุด เร่งให้ตัวเองมีอิสรภาพทางการเงินและสามารถใช้ชีวิตอย่างอิสระได้เร็วที่สุดก่อนจะอายุ 60 ปี

Photo : Shutterstock

จริงๆ คำว่า DINK ปรากฏครั้งแรกตั้งแต่ 30 กว่าปีก่อนพร้อมกับคำว่า Yuppie แต่กลับมาถูกพูดถึงอีกครั้งหลังวิกฤติซับไพรม์ในปี 2552 เพราะคู่รักจำนวนมากตัดสินใจไม่มีลูกหรือชะลอการมีลูกออกไปหลังจากเกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ ซึ่งคนรุ่น Millennials (ผู้ที่เกิดระหว่างปี 2524 – 2539) บางกลุ่มจะใช้กลยุทธ์แบบ DINK ตอบโจทย์ชีวิตอิสระ

ไลฟ์สไตล์การเงินของคนรุ่นใหม่กลุ่มที่สอง จะเป็นแบบ HENRY หรือ High Earner, Not Rich Yet จะเป็นกลุ่มที่มีรายได้สูงเกิน 100,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อปี ที่อาศัย และทำงานในเมืองใหญ่ แต่ก็มีค่าใช้จ่ายสูง แถมยังโดนเก็บภาษีจนอ่วม พวกเขาจึงมีเป้าหมายเก็บออม และนำเงินไปลงทุนเพื่อให้มีอิสรภาพทางการเงินเหมือนกัน

ทั้งนี้คนรุ่นใหม่แบบ HENRY ถูกพูดถึงครั้งแรกในนิตยสาร Fortune ปี 2003 โดย HENRY หมายถึงกลุ่มคนที่มีรายได้ระหว่าง 100,000 – 500,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อปี ซึ่งถือว่าเป็นรายได้ที่สูงในสหรัฐฯ สมัยนั้น แต่คนกลุ่มนี้กลับไม่รู้สึกว่าตัวเองมีรายได้สูงหรือร่ำรวยกว่าค่าเฉลี่ย เพราะส่วนใหญ่จะทำงานที่ ‘มีเกียรติ’ ในสังคม เช่น งานสายเทคโนโลยี บริษัท Management Consulting ธนาคารเพื่อการลงทุน หรือสำนักงานกฎหมาย

Photo : Shutterstock

ซึ่งบริษัทเหล่านี้ตั้งสำนักงานอยู่ในเมืองศูนย์กลางธุรกิจที่มีค่าครองชีพสูงกว่าปกติ ไม่ว่าจะเป็นนิวยอร์ก ชิคาโก หรือซาน ฟรานซิสโก ขณะเดียวกันแม้มีรายได้สูง แต่ก็ต้องจ่ายภาษีรูปแบบพิเศษของสหรัฐฯ ที่เรียกว่า Alternative Minimum Tax (AMT) ซึ่งเป็นอัตราสูงที่สุดสำหรับคนกลุ่มที่มีรายได้ช่วง 100,000 – 500,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อปี ในช่วงเวลานั้น

สุดท้าย ไลฟ์สไตล์การเงินของคนรุ่นใหม่แบบ FIRE หรือ Financial Independence, Retire Early คือคนที่ทำงานเพื่อโหมเก็บเงินและลงทุนอย่างหนัก จะได้มีอิสรภาพทางการเงินและใช้ชีวิตอย่างที่ต้องการให้เร็วที่สุด

Photo : Shutterstock

คนกลุ่ม FIRE ก็ยังสามารถแยกย่อยได้อีกหลายแบบตามไลฟ์สไตล์ย่อยๆ ของแต่ละกลุ่ม เช่น

  • Lean FIRE หมายถึงคนกลุ่ม FIRE ที่เลือกใช้ชีวิตแบบประหยัด และลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นลง เพื่อจะได้มีอิสรภาพทางการเงินให้เร็วที่สุด
  • Fat FIRE หมายถึงคนกลุ่ม FIRE ที่ต้องการใช้ชีวิตอย่างเต็มที่โดยไม่ต้องคอยกังวลเรื่องงบประมาณซึ่งตรงข้ามกับกลุ่มแรก แต่คนกลุ่มนี้ก็ต้องยอมทำงานที่ยาวนานขึ้นเพื่อเก็บเงินให้ได้เพิ่มขึ้นมากด้วย
  • Coast FIRE หมายถึงคนที่รีบเก็บเงินและลงทุนตั้งแต่เริ่มทำงาน ซึ่งแนวคิดนี้คุณอาจนำไปปรับใช้กับชีวิตตัวเองได้ดีครับ

วิถีคนรุ่นใหม่แบบ Coast FIRE คือ เขายอมใช้ชีวิตอย่างประหยัดในช่วงการทำงาน 10 ปีแรกเพื่อเก็บเงินให้ได้มากที่สุด และเงินก้อนนี้จะถูกนำไปลงทุนเพื่อเป้าหมายเดียวคือการ ’เกษียณเร็ว’ นั่นเอง หลังจากนั้น 10 ปีถัดมาก็ให้ทำงานและใช้จ่ายได้ตามปกติ โดยห้ามแตะต้องเงินลงทุนเพื่อ ‘เกษียณเร็ว’ ที่เก็บมาในช่วง 10 ปีแรกอย่างเด็ดขาด เพื่อให้เงินลงทุนงอกเงยขึ้นตามระยะเวลาที่ลงทุนนั่นเองครับ

เมื่อครบ 20 ปี มาดูกันว่า มูลค่าพอร์ตอยู่ที่เท่าไหร่และเพียงพอในการนำไปลงทุนเพื่อสร้างกระแสเงินสดเป็นประจำได้มากพอสำหรับการใช้ชีวิตหลังจากนี้แล้วหรือยัง ถ้ายังไม่เพียงพอก็จะต้องทำงานเพื่อเก็บเงินและลงทุนเพิ่มอีก หรือคุณอาจจะย้ายไปทำงานที่อยากทำจริงๆ แต่ได้ค่าตอบแทนน้อยลง ก็เป็นอีกทางเลือกที่คนกลุ่ม Coast FIRE ทำได้

ลงทุนก่อนรวยกว่า ให้เวลาอยู่ข้างเรา

ผมยังมีข้อมูลจากที่ทีมงาน Jitta Wealth ได้ลองทดสอบแนวคิดของคนกลุ่ม FIRE ที่โหมเก็บออมเงินและลงทุนตั้งแต่อายุยังน้อยเพื่อหวังจะ ‘เกษียณเร็ว’ ทำให้เห็นภาพและเข้าใจมากขึ้น ซึ่งได้ข้อสรุปที่น่าสนใจและน่าจะมีประโยชน์คุณมากๆ

Photo : Shutterstock

ในการทดสอบได้สมมติการวางแผนด้านการลงทุนของคน 2 วัยที่เริ่มต้นแตกต่างกัน

คนแรกชื่อนาย A เมื่ออายุ 25 ปี มีความตั้งใจอยากจะเกษียณเร็วเขาจึงโหมเก็บเงินตั้งแต่ตอนนั้นและวางแผนลงทุนเดือนละ 5,000 บาท แบบการลงทุนแบบถัวเฉลี่ย หรือ DCA (Dollar-Cost Averaging) ทุกเดือน ในช่วงอายุ 25 – 34 ปี รวมเป็นระยะเวลา 10 ปี จำนวนเงินลงทุนรวมทั้งหมด 600,000 บาท

คนที่สองชื่อนาย B อายุ 35 ปีแล้วเขามาเริ่มลงทุนเดือนละ 5,000 บาทเและลงทุนแบบ DCA ทุกเดือนเหมือนกัน แต่เริ่มลงทุนช้ากว่านาย A โดยลงทุนในช่วงอายุ 35-54 ปี เป็นเวลา 20 ปี จำนวนเงินลงทุนทั้งหมด 1,200,000 บาท

เพื่อให้ง่ายในการเปรียบเทียบให้เห็นภาพที่ชัดเจน ทีมงานเราได้สมมติต่อไปอีกว่า ทั้งนาย A และนาย B ต่างก็ได้ผลตอบแทน 10% ต่อปีในทุกๆ ปีที่ลงทุน โดยที่ได้ผลตอบแทนทบต้นทุกเดือน และทั้ง 2 คนจะลงทุนจนอายุครบ 60 ปี

คุณคิดว่า เมื่อทั้งคู่อายุ 60 ปีแล้ว ระหว่างนาย A ที่ใส่เงินลงทุนรวม 600,000 บาท กับ นาย B ที่ใช้เงินลงทุนรวม 1,200,000 บาท แล้ว ‘ใครจะมีมูลค่าพอร์ตลงทุนที่สูงกว่ากันครับ’

ผมเชื่อว่า หลายคนคงคิดว่า นาย B จะต้องมีมูลค่าพอร์ตที่สูงกว่าของนาย A แน่ๆ เพราะเงินลงทุนเริ่มต้นของนาย B สูงกว่าของนาย A ถึงหนึ่งเท่าตัวทีเดียว! ใช่มั้ยครับ

แต่ความจริง ก็คือว่า เมื่อทั้งคู่มีอายุ 60 ปี พบว่า มูลค่าพอร์ตของนาย A ที่เข้าลงทุนตั้งแต่เริ่มทำงานใหม่ๆ ใช้เวลาลงทุน 10 ปี กลับมีมูลค่าพอร์ต ‘สูง’ กว่าพอร์ตของนาย B เกือบเท่าตัว ทั้งๆ ที่นาย B ใช้เวลาลงทุนถึง 20 ปีและใช้เงินลงทุนที่สูงกว่าด้วย

Photo : Shutterstock

โดยที่มูลค่าพอร์ตของนาย A ตอนอายุครบ 60 ปีอยู่ที่ราว 10.91 ล้านบาท ขณะที่มูลค่าพอร์ตของนาย B ที่เข้าลงทุนช้า จะอยู่ที่ 5.92 ล้านบาท ภายใต้สมมติได้ผลตอบแทน 10% ต่อปีในทุก ๆ ปีที่ลงทุน

ถ้าทั้งคู่วางแผนจะถอนเงินก้อนนี้ออกมาใช้หลังเกษียณจนอายุครบ 80 ปี ก็จะพบว่า นาย A จะมีเงินใช้ตกเดือนละ 45,476 บาท ขณะที่นาย B มีเงินใช้ยามเกษียณที่เดือนละ 24,678 บาทเท่านั้น

หรือหากพวกเขาวางแผนจะนำเงินก้อนนี้ไปลงทุนในสินทรัพย์ที่สร้างกระแสเงินสดเป็นประจำอย่างพันธบัตร หุ้นกู้หรือหุ้นปันผลต่อไป ก็จะพบนาย A ยังมีทางเลือกในลงทุนได้มากกว่านาย B ที่พอร์ตเล็กกว่าอยู่ดีครับ

ตัวอย่างทดสอบนี้ ผมคิดว่าน่าจะทำให้คุณเห็นไอเดียเบื้องหลังแนวคิดของคนรุ่นใหม่สายพันธุ์ FIRE หรือกลุ่มคนที่อยาก ‘เกษียณเร็ว’ ได้มากขึ้น

คุณยิ่งเริ่มลงทุนเร็ว ผลตอบแทนก็จะยิ่งทบต้นตามเวลา เป็นการลงทุนแบบ ‘ให้เวลาอยู่ข้างเรา’ หรือ ‘ผ่อนส่งความมั่งคั่ง’ ครับ

ทำ 2 สิ่งนี้ จัดพอร์ตเป๊ะ ‘ผ่อนส่งความมั่งคั่ง’ เกษียณไวแน่

ถ้าคุณรู้สึกอยากเป็นแบบคนกลุ่ม FIRE ที่เน้นหาความรู้ด้านการลงทุนเพื่อทำผลตอบแทนให้ได้สูงๆ หรือหวังผลตอบแทนที่ 10% ต่อปีตามตัวอย่าง คุณจะต้องเริ่มลงมือทำ 2 สิ่งนี้ตั้งแต่วันนี้ นั่นคือ

สิ่งแรก คือ ‘สร้างวินัย’ ในการออมเงิน คุณต้องทำให้เป็นประจำให้ได้ทุกเดือน ซึ่งคนส่วนใหญ่ทำไม่ค่อยได้ตามแผนที่วางไว้ แต่ถ้าคุณเป็นคนที่วางแผนทางการเงิน และทำตามด้วยความมุ่งมั่นและลงมือทำไปเรื่อยๆ และท่องไว้ ‘เริ่มลงทุนเร็วรวยก่อน’ ที่สำคัญ การสร้างวินัยในการออม สามารถทำได้ตั้งแต่มีเม็ดเงินน้อยๆ แค่ 5-10% ของรายได้ มีน้อยออมน้อยมีมากค่อยออมเพิ่มแต่ต้องลงทุนต่อเนื่องหรือ DCA คุณมั่นใจได้เลยว่า ความฝันไปถึงเป้าหมายอิสรภาพทางการเงินได้สำเร็จแน่นอน

สิ่งที่สอง คือ ไม่หยุดเรียนรู้ หมั่นหาความรู้ด้านการลงทุนไปเรื่อยๆ แล้วคุณจะมองเห็นสินทรัพย์ที่มีโอกาสทำผลตอบแทนเฉลี่ย 10% ต่อปีในระยะยาว โดยที่คุณไม่รู้สึกว่าเป็นการลงทุนที่ความเสี่ยงสูงเกินรับไหว และแน่นอนว่า ชีวิตทางการเงินในอนาคตของคุณจะมีทางเลือกลงทุนที่ได้เปรียบกว่าคนอื่นๆ โดยไม่ต้องกังวลเรื่องรายได้จะขาดมือเลยครับ

อย่างไรก็ตาม เสน่ห์ของผลตอบแทนย่อมมาคู่กับความเสี่ยง ทำให้ถนนสายอิสรภาพทางการเงินที่ต้องใช้ระยะเวลายาว จึงไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบตลอดเส้นทางการลงทุน ระหว่างทางอาจเผชิญกับมรสุมข่าวสารต่างๆ รอบตัว ทำให้มูลค่าพอร์ตอาจเห็นตัวเลขบวกและลบสลับไปมา จนทำให้คุณวูบไหวบ่อยครั้ง และบ่อยครั้งที่คุณอาจรู้สึกเหนื่อยและท้อ เครียดเพราะมีวิกฤตในประเทศ-ต่างประเทศบ้าง ซึ่งล้วนเป็นปัจจัยที่เราไม่สามารถควบคุมได้

ผมมีข้อคิดด้านการลงทุนจากนักลงทุนในตำนานโลกที่มีลมหายใจ คุณปู่ ‘Warran Buffet’ มาให้คุณยึดเหนี่ยวจิตใจครับ

คุณปู่ ‘Buffet’ กล่าวไว้ว่า การคาดเดาว่า ฝนจะตกเมื่อไหร่นั้นไม่มีความหมาย แต่การสร้างเรือต่างหากที่ช่วยให้ทุกอย่างดีขึ้นได้ เปรียบได้กับการลงทุน คือ การพยายามคาดเดาว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ จะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกกี่ครั้ง ตลาดหุ้นจะตกไปเท่าไหร่ เศรษฐกิจโลกจะเป็นอย่างไร ไม่ได้ส่งผลให้พอร์ตมีกำไรขึ้นมา แต่การสร้างพอร์ตที่แข็งแรง มีการกระจายความเสี่ยงดี มีการลงทุนในสินทรัพย์ที่หลากหลาย มูลค่าพอร์ตโดยรวมจะไม่เสียหายมาก นักลงทุนก็จะชนะทุกวิกฤตได้

แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า คุณจะอยู่เฉยๆ ไม่ทำอะไรนะครับ เพราะถึงจะลงทุนระยะยาว แต่ยังต้องเฝ้าดูแลพอร์ตของเราดีๆ หากถึงจุดที่เป็นความเสี่ยงที่มาจากปัจจัยเหนือควบคุม กระทบต่อระบบหรือภาพรวมที่พื้นฐานเปลี่ยนแปลงหรือไม่สามารถคาดการณ์การฟื้นตัวได้ชัดเจน คุณก็ควรตัดสินใจปรับกลยุทธพอร์ตป้องกันความเสี่ยงโดยเฉพาะสินทรัพย์ที่ได้รับผลกระทบโดยตรง นี่คือการสร้างเรือที่แข็งแรง มีการกระจายความเสี่ยงที่ดี

แต่หากเป็นลักษณะความเสี่ยงจากข่าวสารรายวันที่ทำให้พอร์ตวูบไหว ก็ ไม่ควรให้น้ำหนักมากนัก เพราะตลาดที่ปรับตัวลง ควรตั้ง ‘สติ’ และพิจารณาเหตุการณ์ที่มากระทบตลาดรอบด้านอย่าใช้อารมณ์ในการซื้อขายเด็ดขาด ‘สติ’ จะทำให้มองเห็นโอกาสการลงทุนเลือกสินทรัพย์ที่ดีมีพื้นฐานมีแนวโน้มการเติบโตต่อเนื่อง เป็นจังหวะในการแสวงหาหุ้นดี ซึ่งปู่ ‘Buffet’ จะบอกว่า จงกลัวเมื่อคนอื่นโลภ จงโลภเมื่อคนอื่นกลัว ถ้าเรามีหลักการและทัศนคติที่ลงทุนถูกต้อง แน่นอนว่า พอร์ตของคุณจะสร้างความมั่งคั่งจากตลาดหุ้นได้

ยิ่งปัจจุบัน บริษัทด้านการลงทุนได้ใช้เทคโนโลยีพัฒนานวัตกรรมการลงทุนต่างๆ เป็นผู้ช่วยอัจฉริยะ หรือ AI เพื่อเพิ่มทางเลือกการลงทุนต่างๆ ให้นักลงทุนมากมาย ถ้าคุณเคยเข้าไปดูของ Jitta Platform จะเห็นแผนลงทุนต่างๆผ่าน Thematic ที่ยึดโยงกับเมกะเทรนด์ของโลก หรือตัวหุ้น Jitta Ranking ที่จะช่วยคัดสรรหุ้น รวมทั้งยังช่วยปรับพอร์ตให้โดยอัตโนมัติทุก 3 เดือนหรือรายไตรมาสที่อ้างอิงกับการรายงานงบการเงินของแต่ละบริษัทด้วย

คนรุ่นใหม่จะ ‘ผ่อนส่งความมั่งคั่ง’ จนเป็นก้อนใหญ่ พอร์ตปังให้คุณปลด ‘เกษียณ’ ได้ไวตั้งแต่อายุไม่มาก และได้ใช้เวลาที่เหลือทำสิ่งที่รักสานต่อสิ่งที่ฝันให้สำเร็จได้ก่อนแก่

หากคุณฝันว่าจะมีอิสรภาพทางการเงินก่อนอายุ 60 ปีผมหวังว่า บทความนี้จะเป็นอีกแรงผลักดัน ที่ช่วยให้ความฝันที่จะมีอิสรภาพทางการเงินของคุณเป็นจริงได้