นับตั้งแต่ที่ อีลอน มัสก์ เข้ามาเป็นเจ้าของ ทวิตเตอร์ (Twitter) ก็เหมือนจะมีแต่เรื่องไม่ดี ล่าสุด สมาคมผู้เผยแพร่เพลงแห่งชาติ (NMPA) ฟ้องแพลตฟอร์ม โดยกล่าวหาว่า ละเมิดลิขสิทธิ์ ของนักแต่งเพลง โดยใช้เพลงของพวกเขาบนแพลตฟอร์มโดยไม่ได้รับอนุญาต
Twitter ได้กลายเป็น แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียหลักเพียงแห่งเดียวที่ไม่จ่ายลิขสิทธิ์เพลง ให้กับผู้ถือลิขสิทธิ์ในการทำงาน ขณะที่ YouTube, Facebook, Snap Chat และ TikTok ล้วนมีข้อตกลงที่ร่วมกันจ่ายให้กับอุตสาหกรรมเพลงหลายพันล้านดอลลาร์ต่อปี
ส่งผลให้ สมาคมผู้เผยแพร่เพลงแห่งชาติ หรือ NMPA ที่เป็นตัวแทนบริษัทเพลงที่ใหญ่ที่สุด 17 ราย อาทิ Sony Music และ Universal Music Publishing Group กำลังยื่นคำร้องต่อศาลว่า Twitter จงใจละเมิดผลงานเพลงประมาณ 1,700 เพลง โดยทางสมาคมได้เรียกร้องค่าเสียหายมูลค่ารวมมากกว่า 250 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือราว 8,700 ล้านบาท
“แพลตฟอร์ม Twitter ซึ่ง Elon Musk ซื้อในปี 2022 ด้วยมูลค่า 44,000 ล้านเหรียญสหรัฐนั้น เต็มไปด้วยการละเมิดลิขสิทธิ์”
ที่ผ่านมา บรรดาค่ายเพลงต่างออกมาบ่นว่า แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียรวยขึ้นจากการทำงานของพวกเขา โดยดนตรีเป็นประเภทวิดีโอที่ได้รับความนิยมสูงสุดบน YouTube และเป็นรากฐานของการเติบโตของ TikTok ทำให้ค่ายเพลงต่าง ๆ ต้องต่อสู้กับแพลตฟอร์มโซเชียลฯ เกี่ยวกับการใช้งานที่เหมาะสมของผลงานเพลงของพวกเขา
จากการต่อสู้ดังกล่าว ส่งผลให้ Alphabet เจ้าของแพลตฟอร์ม YouTube ได้จ่ายเงิน 6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ในขณะที่ Meta เจ้าของ Facebook จ่ายเงิน หลายร้อยล้านดอลลาร์ต่อปี สำหรับสิทธิ์ที่อนุญาตให้ลูกค้าใช้เพลงในวิดีโอของพวกเขา
ทั้งนี้ Twitter ได้พูดคุยกับบริษัทเพลงเกี่ยวกับการลงนามในข้อตกลงลิขสิทธิ์ก่อนที่ อีลอน มัสก์ จะเข้ามาซื้อกิจการ ซึ่งปัจจุบันแพลตฟอร์มนั้นมีเรื่องแทบไม่เว้นแต่ละวัน ไม่ว่าจะการเลิกจ้างพนักงานจำนวนมาก, การหดหายของลูกค้าโฆษณา และล่าสุด แพลตฟอร์มก็เพิ่งจ้าง Linda Yaccarino มานั่งเป็น CEO คนใหม่ และพยายามสร้างความมั่นใจให้กับลูกค้า