“เลือดข้นคนจาง” ช่อง ONE ดังระเบิด กระแทกใจ ครอบครัวกงสี เศรษฐีตระกูลดัง บอกใบ้ “ใครฆ่าประเสริฐ”

เมื่อความรัก โลภ โกรธ หลง ซึมเข้าสู่หลุมดำในจิตใจ ใครที่ขาดสติก็อาจผิดศีลธรรมได้ทันที

“เลือดข้นคนจาง” จึงไม่ใช่แค่ละคร แต่มีกลิ่นอายจาก “เรื่องจริง” ของสังคมครอบครัว ในโลกธุรกิจกงสี

แม้เพิ่งออนแอร์แค่ 4 ตอน แต่ละครเรื่องใหม่ ของ “ช่องวัน” ก็ทำให้กลุ่มจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ ยิ้มขึ้นมาได้ หลังเสียศูนย์จนเลือดสาดจากทีวีดิจิทัล

เพราะเนื้อหาละครสนุก ตื่นเต้น กดดัน เข้าถึงอารมณ์คนดูอย่างไม่มีที่ติ โดยมีนักแสดงรุ่นเก๋าอย่าง “นพพล โกมารชุน – ภัทรวดี ศรีไตรรัตน์” ช่วยเปิดเกม ในบทบาท “อากง-อาม่า”

แล้วขยี้บทด้วย “รุ่นลูก” หรือ “รุ่นที่ 2” ของตระกูลที่ถือว่ามีบทบาทมากที่สุดในการทำธุรกิจของครอบครัว ซึ่งเป็นตัวเดินเรื่องชนิดห้ามกะพริบตา

โดยได้นักแสดง “ตัวพ่อตัวแม่” มาบิวท์ความสมจริง ทั้ง “แหม่ม-คัทลียา, แท่ง-ศักดิ์สิทธิ์, กบ-ทรงสิทธิ์, อุ๋ม-อาภาศิริ, ปิ่น-เก็จมณี, โสภิตนภา, ต้อม – พลวัฒน์”

ทำให้เรตติ้งดีขึ้นเรื่อยๆ และทอล์กกันมากในโลกโซเชียล เพราะโดนใจกลุ่มคนดูในสังคมเมือง

โดยเฉพาะ “ฉากกงเต๊ก” ช่างกินใจคนไทยเชื้อสายจีน ใครที่ไม่เคยดูละครก็ต้องมาดู ดูแล้วก็บอกว่า “ใช่เลย ชั้นเลย”

นับเป็นความสำเร็จของ “ย้ง -ทรงยศ สุขมากอนันต์” จาก “นาดาว บางกอก” ผู้กำกับรุ่นใหม่ที่ดังพลุแตกมาแล้วจากซีรีส์ฮอร์โมน

ล่าสุด ตัดสินใจพลิกแนวมาทำละครสืบสวนสอบสวนเป็นครั้งแรก โดยใช้ปรากฏการณ์จากเรื่องจริงในโลกธุรกิจกงสีของหลายๆ ตระกูลดังในเมืองไทยมาวาดเป็นเค้าโครงเรื่อง

แต่ไม่เฉพาะเจาะจงว่ามาจากตระกูลใด ทั้งตระกูล “ธรรมวัฒนะ” เจ้าของตลาดยิ่งเจริญ สะพานใหม่, ตระกูล “โตทับเที่ยง” เจ้าของปลากระป๋องปุ้มปุ้ย, ตระกูล “วิญญรัตน์” เจ้าของซอสภูเขาทอง หรือแม้แต่การฟ้องร้องเป็นข่าวล่าสุดของเจ้าของไอศกรีมแบรนด์ไทย “ไผ่ทอง” ฯลฯ

โดยให้คนดูคิดตาม จินตนาการกันเอง วิพากษ์ วิเคราะห์ เป็นการดึงอารมณ์คนดูมาร่วมในเหตุการณ์ได้อย่างสนุกและเนียน

“เลือดข้นคนจาง” จึงดูสมจริง และเกิดขึ้นได้จริง เป็นการตีแผ่ความเป็นมนุษย์ที่ยังไม่หลุดพ้นของตระกูล “จิระอนันต์” นักธุรกิจเจ้าของโรงแรมใหญ่ที่กรุงเทพฯ และพัทยา จากความสำเร็จก่อให้เกิดความบาดหมางแบบรู้ตัวและไม่รู้ตัว

โดยมี “มรดก” กองโตเป็นปมผูกเรื่อง หลังสิ้นอากงรุ่นบุกเบิก จนกลายเป็น “มรดกเลือด” ในที่สุด

ฉากโรงแรมนั้นก็เลือกโรงแรมเอเชีย ราชเทวี เพราะจะได้สมจริง ซึ่งเป็นโรงแรมเก่ากลางใจเมืองที่ตกทอดมาหลายยุคของตระกูล “เตชะหรูวิจิตร” เศรษฐีชาวจีน แห่งอำเภอท่ามะกา กาญจนบุรี

เนื้อเรื่องจุดประกายจากท่านประธาน “ประเสริฐ” (กบ-ทรงสิทธิ์) พี่ชายคนโตของตระกูลถูกฆาตกรรมโดนยิงตายในบ้าน ซึ่งตรึงใจคนดูมาก เพราะคล้ายเหตุการณ์ที่เคยเป็นข่าวใหญ่หลายสิบปีก่อนของตระกูล “ธรรมวัฒนะ”

ต้องชมผู้กำกับที่ทำให้คนดูสนุกไปกับการสวมบทนักสืบ “โคนัน” ตามหา “คนฆ่าประเสริฐ” ทั้งแคปภาพ แชร์ฉาก ชี้คำพูดเบาะแส เรียกว่า “ทอล์กกันสนั่นเมือง” และรอถึงวันศุกร์วันเสาร์ด้วยใจจดจ่อ

การหยิบประเด็นความสัมพันธ์ “ระบบกงสี” ของครอบครัวคนไทยเชื้อสายจีนมาตีแผ่ ยิ่งทำให้ได้ใจคนดูทุกรุ่น

โดยเฉพาะความเป็น “ลูกสาว” จะด้อยกว่า “ลูกชาย” ทั้งการสืบทายาท การใช้นามสกุล การทำเงินและต่อยอด

เพราะรุ่นพ่อแม่เชื่อว่า ลูกสาวแต่งออกไปแล้วก็เป็น “คนนอก” หลานที่เกิดมาจึงถือเป็น “หลานนอก” ไม่ใช่ “หลานใน” ที่เกิดจากลูกชาย

“แหม่ม – คัทลียา” นักแสดงตัวแม่ตีบท “ภัสสร” ลูกสาวคนที่ 3 แตกกระจุย ทั้งหน้าตา แววตา น้ำเสียง บ่งบอกถึงความเก็บกดที่ครอบครัวไม่ยุติธรรมกับเธอ ประมาณว่า ทำดีให้ตายก็ไม่มีใครเห็น แถมยังโดนเป็นเป้าถูกจับตาว่า เป็นคนฆ่า “ประเสริฐ” พี่ชายตัวเอง

ภาพในวัยเด็ก ย้อนขึ้นมาอย่างเจ็บปวด เมื่อป๊า ม๊า เอาใจลูกชายให้กินก้ามปูชิ้นโตๆ ส่วนลูกสาวให้กินส่วนที่เหลือ มาถึงตอนโต เมื่อป๊าตาย “พิธีกรรมกงเต๊ก” ก็แสดงถึงความสำคัญของ “ลูกชาย” คนโตและ “หลานใน” มากที่สุด

ไม่ต่างจากครอบครัวตระกูลใหญ่ตระกูลหนึ่งของเมืองไทย ที่มีธุรกิจหลากหลายทั้งในและต่างประเทศ ที่รุ่นบุกเบิกจะสร้างระบบและการจัดการ โดย “จัดสรรปันส่วนหุ้น” และ “ผลตอบแทน” ให้เฉพาะลูกหลานชายเท่านั้น

แม้จะเป็นลูกเมียน้อย หรือเมียเล็กๆ หากเป็นลูกสาว หรือหลานสาว จะไม่มีส่วนได้รับเงินปันผลจากกงสีทั้งสิ้น

เมื่อโลกเปลี่ยนไป ความเสมอภาคของเพศชายหญิงได้รับการยอมรับ วัฒนธรรมดั้งเดิมเริ่มผ่อนคลาย

โอกาสของ “ลูกสาว-หลานสาว” เริ่มดีขึ้นเรื่อยๆ เพราะระบบกงสีในโลกใบใหม่ ไม่คร่ำครึเหมือนเดิมอีกต่อไป

เนื่องจาก “เลือดข้นคนจาง” เป็นละครที่คนดูส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง และอายุ 40+

ใน 2 ตอนแรกจึงเน้นขยี้จุดความไม่เท่าเทียมระหว่างชายหญิง ทำให้ถูกจริตกลุ่มผู้ชมละคร สร้างกระแสได้ต่อเนื่อง และเป็นการ “เปิดมิติใหม่” ของตลาดละครแนวสืบสวนสอบสวนในประเทศไทย ทำให้ละครฮิตเร็วมาก

เป็นที่รู้กันว่า หากจะทำรายการให้สำเร็จทั้งเรตติ้งและความนิยมต้องมี Content แกร่ง

จากข้อมูลรายการที่มีเรตติ้งสูงๆ ล้วนมาจากละครไทยทั้งสิ้น โดยเฉพาะ “คู่กรรม” ที่ “เบิร์ด-ธงไชย” และ “กวาง-กมลชนก” เล่นไว้ที่ช่อง 7 เมื่อปี 2533 นั้นทำเรตติ้งสูงสุดถึง 40 เป็นประวัติศาสตร์

ละครที่มีเรตติ้งสูงๆ ล้วนเป็นละครดราม่า ความรัก ชิงรักหักสวาท เรียกว่า ไม่มีที่ยืนให้กับละครแนวที่แตกต่างอย่างแนวสืบสวนสอบสวนกันเลย

มาวันนี้ “ช่องวัน” น้องใหม่ของวงการทีวีดิจิทัล แจ้งเกิดได้แล้ว หลังเพียรพยายามแย่งชิงตลาดจาก 2 คู่แข่งหลัก “ช่อง 7-ช่อง 3” โดยทดลองนำเสนอละครหลากหลายรูปแบบ แนวสืบสวนสอบสวนก็เคยเริ่มมาแล้วจาก “กาหลมหรทึก” แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ เพราะเนื้อเรื่องดูเครียด หรือไกลตัวเกินไป

ต่างกับ “เลือดข้นคนจาง” เป็นเรื่องใกล้ตัว ทั้งครอบครัวเล็กครอบครัวใหญ่ และจากอิทธิพลของโลกออนไลน์ ทำให้ภาพทุกภาพ คำพูดทุกคำพูดของตัวละคร มักถูกแชร์ต่อทันทีหลังละครจบ

อย่างตอนเปิดพินัยกรรมของอากง ลูกชาย 3 คนได้รับหุ้นคนละ 25% ยกเว้นลูกสาวที่ได้เพียงเงินสด ส่วนหุ้นที่เหลืออีก 25% กลับตกเป็นของ “พีท” หลานชาย หรือ “หลานใน” ที่เกิดจากลูกชายคนโตตามธรรมเนียมวัฒนธรรมจีน

จึงเกิดคำถาม “ทำไมหลานชายคนเดียวได้รับหุ้นส่วนนี้” “พีท” จึงเป็นจิ๊กซอว์ตัวหนึ่งในเรื่อง ส่วน “หลานชาย” หรือ “หลานใน” ที่เกิดจากเมียเก็บจะต่อกรหรือราวีอย่างไรต่อไป ก็เป็นเรื่องน่าติดตาม เพราะเจ้าสัว หรือนักธุรกิจที่มีฐานะ มักมีหลาย “เมีย” การแบ่งมรดกจึงต้องจัดสรรให้รอบคอบเช่นกัน

@ Tie-in โฆษณาแนวถนัดของช่องวัน

นอกจากจัดเต็มนักแสดงแล้ว การหารายได้จากการโฆษณาสินค้าควบคู่ไปกับนักแสดงก็เป็นงานถนัดของช่องวัน

เมื่อได้นักแสดงวัยรุ่น 9 คนจากโปรเจกต์ 9 by 9 ของโฟร์โนล็อก บริษัทที่นำศิลปินเกาหลีมาเมืองไทย ร่วมกับ “นาดาว” และ “จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่” มา Tie-in โฆษณาสินค้าบางตอนในเรื่อง

เช่น การให้ “เต้ย” (แจ็คกี้-จักริน กังวานเกียรติชัย) ที่มีพฤติกรรมถ้ำมอง แอบใส่กล้องในตุ๊กตาหมี แล้วถือขวดน้ำสี ยี่ห้อหนึ่งที่ต้องเขย่าก่อนดื่ม ที่ฮือฮากันมากว่าเป็นการเปิดมิติใหม่ของการ Tie-in โฆษณาในฉาก “ชักว่าว”

นักแสดงทั้ง 9 คนก็มีความสด ประกอบด้วย ต่อ-ธนภพ ลีรัตนขจร / เจเจ-กฤษณภูมิ พิบูลสงคราม / เจมส์-ธีรดนย์ ศุภพันธุ์ภิญโญ / กัปตัน-ชลธร คงยิ่งยง / เติร์ด-ลภัส งามเชวง / ปอร์เช่-ศิวกร อดุลยสุทธิกุล / แจ็คกี้-จักริน กังวานเกียรติชัย / ไอซ์-พาริส อินทรโกมาลย์ และ มิว-ชิษณุชา ตันติเมธ

การโชว์พลังหนุ่มสาวรุ่นใหม่ครั้งนี้ก็เป็นแผนโปรโมตของโฟร์โนล็อกที่จะจัดคอนเสิร์ตใหญ่ทั่วประเทศ ในฐานะศิลปินกลุ่มหน้าใหม่

@ เป้าหมายผู้ผลิตคอนเทนต์ขายทุกช่องทาง

นโยบายของจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ ประกาศชัด ขอตั้งเป้าเป็นผู้ผลิตคอนเทนต์รายใหญ่ของไทย ทั้งในประเทศและส่งออกตลาดต่างประเทศ ด้วยในเครือมีทั้งทีวีดิจิทัล 2 ช่อง ค่ายเพลง จัดคอนเสิร์ต บริหารศิลปิน

รูปแบบการผลิตคอนเทนต์ มีให้ลง 2 ช่องทางคือ 1.ทีวีดิจิทัลคือช่องวัน และจีเอ็มเอ็ม 25 ที่ต้องพึ่งพารายได้จากค่าโฆษณา และต้องฟาดฟันกับช่องใหญ่หลายช่อง การทุ่มลงคอนเทนต์บางอย่างก็เสี่ยงที่จะไม่คุ้มทุน

และทางที่ 2 คือ การผลิตคอนเทนต์ส่งออกในช่องทาง OTT หรือ Over The Top  ที่ส่งออกไปทั่วโลก แต่คอนเทนต์นั้นต้องดูสากลและถูกใจผู้ชมต่างประเทศ โดยเฉพาะช่องทาง Netflix, Youtube และ Line TV ที่รูปแบบนี้บริษัทปิดความเสี่ยงจากรายได้ เพราะเป็นการซื้อคอนเทนต์ล่วงหน้า ได้เงินมาผลิตก่อน ราคาดี ไม่ต้องแบกรับความเสี่ยง

ที่ผ่านมา ละครในเครือจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ ตั้งแต่จีเอ็มเอ็ม บราโว่, จีเอ็มเอ็ม ทีวี ผลิตรายการขายช่องทางทั้ง Netflix, Youtube และ Line TV

ส่วนละครในช่องทีวีดิจิทัลทั้งช่องวัน และจีเอ็มเอ็ม 25 ก็ขายลิขสิทธิ์ เพื่อนำไปออกอากาศทั้ง Netflix, Youtube และ Line TV ด้วย

เช่น ซีรีส์สายดาร์ก “เด็กใหม่” ของ จีเอ็มเอ็ม มิวสิค ที่ออกอากาศในช่องจีเอ็มเอ็ม25 ได้ขายลิขสิทธิ์ลงช่องทาง Netflix เท่านั้น หลังออกอากาศครบทุกตอนแล้ว

หากทิศทางละครของกลุ่มแกรมมี่ตอบโจทย์เรื่องความดัง ความนิยม การยอมรับ ดูเป็นอินเตอร์ และมีรายได้ที่ดีแล้ว “โอกาส” ของกลุ่มจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ ก็คงพ้นน้ำ

ว่าแต่ตอนนี้ นักสืบรุ่นจิ๋ว “โคนัน” กระซิบมาว่า “รู้แล้วนะ ใครฆ่าประเสริฐ”

คำตอบ “คือคนหนึ่งในรูปโปสเตอร์เลือดข้นคนจาง เป็นรุ่นที่ 3 ของตระกูล ดูดี ขยัน เก่ง เรียบร้อย อยู่ในลู่ แต่ดูมีแรงจูงใจสูงสุดที่อยากฆ่าอากู๋”.