จะเล่นเกม หรือดูหนัง เมเจอร์จัดให้ ผุดโรงภาพยนตร์รับเทรนด์อีสปอร์ตบูม หวังดันรายได้ นอน-มูฟวี่

เรื่อง : Thanatkit

หนึ่งในกลยุทธ์ที่เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์วางไว้ในตอนนี้คือการผลักดันรายได้จากนอนมูฟวี่หรือรายได้ที่ไม่ได้มาจากการฉายภาพยนตร์ให้เพิ่มขึ้น

เช่น การนำคอนเสิร์ตต่างประเทศมาฉายเช่นญี่ปุ่นเกาหลี หรือการไลฟ์สตรีมมิ่งถ่ายทอดสดพร้อมการแสดงในประเทศนั้นๆ โดยขายตั๋วราคา 1,000 – 3,000 บาท, ฉายการ์ตูนอนิเมะและคอนเทนต์อื่นๆ เช่นการแสดงบัลเลต์และการแสดงโอเปร่าในโรงภาพยนตร์

โดยจัดปีละประมาณ 30 อีเวนต์ ทำมาแล้วประมาณ 3-4 ปี โดยวันนี้มีสัดส่วนรายได้ยังไม่ถึง 1% แต่ถึงเมเจอร์จะบอกว่าไม่ได้ให้ความสำคัญมากนัก แต่ก็วางแผนที่จะเพิ่มคอนเทนต์ในส่วนนี้เพื่อหารายได้เข้ามาเสริม เพื่อผลักดันให้ปีหน้าสัดส่วนเพิ่มมาเป็น 2%

อีสปอร์ตเป็นอีกหนึ่งในโอกาสที่เมเจอร์มองเห็น จากการที่กระแสของการแข่งขันอีสปอร์ตกำลังบูมในเมืองไทย มีมูลค่าตลาดมากกว่า 10,000 ล้านบาท และเติบโตกว่า 12% ที่สำคัญปีที่ผ่านมาเมเจอร์ได้ถูกใช้เป็นสถานที่จัดงานอีสปอร์ตกว่า 15 งาน ซึ่งหลักๆ จัดที่โรงภาพยนตร์สยามภาวลัย พารากอน ซีนีเพล็กซ์ ค่าเช่า 500,000 บาทต่อวัน มีขนาดความจุ 1,100 ที่นั่ง

หากการที่จะจัดที่โรงภาพยนตร์สยามภาวลัยได้นั้น ต้องเป็นงานที่มีขนาดใหญ่และใช้งบประมาณจัดงานค่อนข้างมาก จึงเหลือช่องว่างสำหรับงานขนาดเล็กที่ยังไม่ค่อยมีคนสนใจมากนัก เมเจอร์จึงติดต่อเดลล์อินเทล และทรูออนไลน์ ให้เข้ามาเป็นพันธมิตร และใช้โนว์ฮาวจากนีโอลูชั่น ซึ่งมีประสบการณ์ในการจัดงานอีสปอร์ตระดับโลก

ในการทำโรงภาพยนตร์อีสปอร์ตแห่งแรกของเมเจอร์ที่ใช้ชื่อว่าโรงภาพยนตร์ เดลล์ เกมมิ่ง อีสปอร์ต ซีนีม่าเป็นโรงภาพยนตร์แบบผสมผสาน Mixed-use ที่ตอบโจทย์ทั้งการจัดฉายภาพยนตร์ในวันที่ไม่มีอีเวนต์ และจัดกิจกรรมด้านอีสปอร์ต ด้วยเครื่องฉาย 4K หน้าจอขนาดใหญ่ 14.6 x 6.1 เมตร เทียบได้กับจอทีวีขนาด 622 นิ้ว ระบบเสียงดอลบี้ 7.1 และที่นั่งแบบสเตเดียม สามารถรองรับผู้เข้าแข่งขันได้สูงสุดครั้งละ 60 คน และรองรับผู้เข้าชมอีกกว่า 200 คน

โดยกำหนดค่าบริการประเภทราคา คือ ราคาเหมาทั้งวัน 200,000 บาท และราคาเหมาครึ่งวัน 100,000 บาท แบ่งเป็น 2 ช่วงเวลาให้เลือก คือ ช่วงเวลา 10.00-15.00 . และ ช่วงเวลา 17.00–22.00 . ซึ่งค่าบริการจะรวมอุปกรณ์ทุกอย่างและอินเทอร์เน็ต

ตั้งอยู่ที่โรงภาพยนตร์ที่ 4 เอสพลานาด ซีนีเพล็กซ์ รัชดา ใช้งบลงทุนทั้งหมด 10 ล้านบาท โดยฝั่งพันธมิตรเป็นฝ่ายออกให้ ส่วนเมเจอร์เป็นเจ้าของสถานที่

เหตุที่เลือกสาขาเอสพลานาดรัชดาเป็นเพราะเดินทางสะดวก ที่สำคัญมีโปรไฟล์ลูกค้าเป็นเด็กกว่าที่อื่น มีทราฟฟิกประมาณ 20 ล้านคนต่อปี และยังเป็นที่ตั้งสำนักงานของบริษัทไอทีค่อนข้างเยอะ เช่นทรู การีน่า ซึ่งเป็นฐานลูกค้าหลักของอีเวนต์อีสปอร์ต

นรุตม์ เจียรสนอง รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายการตลาด บริษัท เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป จำกัด (มหาชนกล่าวว่า

ปรกติแล้วอีสปอร์ตจะจัดตามห้างหรือในอีสปอร์ต อารีน่า ที่มักจะอยู่ชั้นบนสุดจึงมีจุดอ่อนที่จำนวนทราฟฟิกจะมาเฉพาะวันที่จัดอีเวนต์ ส่วนวันที่ไม่มีอีเวนต์ทราฟฟิกก็จะหายไปเลย แต่ที่นี่จะต่างกันวันที่ไม่มีการจัดงานก็จะมีทราฟฟิกจากผู้ที่มาดูภาพยนตร์อยู่แล้ว และเมื่อจัดงานอีสปอร์ตก็จะได้ฐานลูกค้ากลุ่มใหม่จากกลุ่มดูภาพยนตร์เข้ามาเติม และสลับดึงกลุ่มที่ชอบอีสปอร์ตให้มาดูภาพยนตร์ด้วย ซึ่งตามข้อมูลที่เมเจอร์มีพบว่า กลุ่มคนดูภาพยนตร์อายุ 12-35 ปีสัดส่วน 85% เป็นกลุ่มเดียวกันที่ชื่นชอบอีสปอร์ตด้วย

เบื้องต้นจะใช้เวลาประมาณ 3 เดือนหลังเปิดสาขาแรก หลังจากที่เปิดสาขาแรกจะใช้เวลา 3 เดือนประเมินถึงผลกำไรขาดทุน ก่อนจะวางแผนขยายไปยังสาขาอื่นๆ โดยจะเลือกจากทำเลที่เดินทางสะดวก ติด BTS MRT ก่อนที่จะขยายไปยังต่างจังหวัง รวมไปถึงต่างประเทศที่เมเจอร์มีสาขาอยู่ด้วย

คาดว่าสาขาต่อไปของโรงภาพยนตร์อีสปอร์ตจะเป็นสาขาพารากอนซีนีเพล็กซ์ เหตุไม่เลือกที่นี่ทำเป็นแห่งแรกแม้ปรกติอีเวนต์อีสปอร์ตมักจะมาจัดที่นี่ก็ตาม เนื่องจากแม้จะเหมาะสมมากแต่ก็ไม่เลือก เพราะที่นี่ทำรายได้สูงสุดของเมเจอร์ มีผู้ชมเยอะที่สุด ดังนั้นการจะทำอะไรที่นี่จึงต้องระมัดระวังไม่ให้ส่งผลกระทบไปถึงรายได้ในส่วนของภาพยนตร์

สำหรับอีเวนต์อีสปอร์ตของเมเจอร์คาดว่าปีนี้จะมีทั้งหมด 60 งาน ส่วนรายได้จากโรงภาพยนตร์อีสปอร์ตตั้งเป้า 120 ล้านบาทใน 1 ปีแรก.