เจมาร์ทนำร่องขายหุ่นยนต์ ฟันธงตลาดสมองกลจะโตเหมือนมือถือ 

ถือคติเริ่มก่อนได้เปรียบ สำหรับเจมาร์ทที่แสดงจุดยืนพร้อมขายหุ่นยนต์ก่อนที่ไทยจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเต็มตัว มั่นใจตลาดสมองกลสำหรับใช้ที่บ้านจะโตตามรอยคอมพิวเตอร์และโทรศัพท์มือถือ 

ในมุมผู้บริโภค เจมาร์ทมองโอกาสทองที่ความสามารถของหุ่นยนต์ ภาวะสมองกลช่วยจัดการงานทุกสิ่งที่โทรศัพท์มือถือทำได้ ทำให้มูลค่าตลาดหุ่นยนต์ในอนาคต จะยิ่งใหญ่หลายหมื่นล้านบาทเทียบเท่าตลาดโทรศัพท์มือถือวันนี้

ในมุมองค์กรธุรกิจ อุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มจะใช้หุ่นยนต์ คือโรงพยาบาล โรงภาพยนตร์ และอุตสาหกรรมค้าปลีกทุกประเภท แม้ว่าหุ่นยนต์จะไม่สามารถทดแทนการใช้แรงงานมนุษย์ได้ทั้งหมด 100% แต่คาดว่าจะทดแทนได้ 50-70% 

ต้องเริ่มวันนี้

เจมาร์ทเป็นบริษัทค้าปลีกที่ขายโทรศัพท์มือถือเป็นหลัก เหตุผลที่ทำให้เจมาร์ทหันมาขายหุ่นยนต์ จึงเป็นเรื่องที่ไม่ธรรมดา

อดิศักดิ์ สุขุมวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เจ มาร์ท จำกัด (มหาชน) หรือ JMART เล่าว่า การตัดสินใจครั้งนี้เกิดขึ้นบนความเชื่อว่าเทคโนโลยีจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง โดยตอนแรกที่เจมาร์ทเริ่มขายโทรศัพท์มือถือ ตอนนั้นลูกค้าก็ยังน้อย ราคายังแสนแพง แต่อดิศักดิ์เชื่อว่าเป็นเทรนด์เดียวกัน

ตอนนั้นผมอยู่ที่บริษัทเครื่องใช้ไฟฟ้าฟิลิปส์ ไฟฟ้าไปที่ไหน ทีวีก็ไปถึง พอมาเป็นมือถือ สัญญาณไปที่ไหน มือถือก็ไปที่นั่น ผมเชื่อในเทคโนโลยี และเชื่อว่า UBTech จะสามารถผลิตสินค้าทั้งแต่บีทูบี ใช้ในบ้าน รวมถึงระดับการศึกษา คิดว่าการพัฒนาธุรกิจนี้ คงต้องเริ่มแล้ววันนี้” 

UBTech ที่อดิศักดิ์กล่าวถึงคือบริษัทผู้พัฒนาหุ่นยนต์สัญชาติไต้หวันซึ่งขณะนี้มีฐานะเป็นพันธมิตรรายสำคัญของเจมาร์ทในวงการหุ่นยนต์ UBTech จะรับหน้าที่ผลิตงานต้นแบบที่สถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยี พระจอมเกล้าธนบุรี (Institute of Field Robotics) หรือ FIBO เป็นผู้สร้างขึ้น โดยหุ่นของ FIBO จะถูกพัฒนาร่วมกับบริษัทจันวาณิชย์เจ้าของงานระบบอีพาสปอร์ตไทยซึ่งเชี่ยวชาญเรื่องระบบวิเคราะห์ใบหน้า คาดว่าความร่วมมือนี้จะทำให้เกิดการเริ่มใช้หุ่นยนต์ในธุรกิจค้าปลีกไทยได้ช่วงปีหน้า

จุดต่างของ UBTech คือการทำธุรกิจทั้งหุ่นยนต์ส่วนตัวและหุ่นยนต์สำหรับธุรกิจ หุ่นยนต์ที่ UBTech ผลิตจึงรองรับการใช้งานทั้งที่บ้าน และในธุรกิจอย่างห้างสรรพสินค้า สนามบิน และธุรกิจค้าปลีก โดยธุรกิจเหล่านี้สามารถแนะนำสินค้าที่เหมาะกับลูกค้าแต่ละคนได้ด้วยหุ่นยนต์ สามารถขยายผลแคมเปญได้แบบเฉพาะกลุ่ม และสามารถใช้หุ่นยนต์เก็บฟีดแบ็กแคมเปญได้ แถมยังเอามาใช้เป็นกล้องวงจรปิดได้อีกทาง

โอกาสของวงการหุ่นยนต์เพื่อธุรกิจนั้นสดใสชัดเจนมาก จุดนี้ ดร.ชิต เหล่าวัฒนา ผู้ก่อตั้ง FIBO ให้ข้อมูลว่า ประเทศไทยนำเข้าระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์มากกว่า 2 แสนล้านบาทต่อปี ตัวเลขนี้มีแนวโน้มมากขึ้นเพราะตลาดแรงงานของไทยกำลังเปลี่ยนแปลง

แรงานต่างด้าวกำลังกลับบ้านเกิด เพราะบ้านเกิดกำลังพัฒนา แต่ประเทศไทยก็ไม่สามารถหยุดการผลิตได้เหมือนกัน ความสามารถของเทคโนโลยีวันนี้จึงทำให้เอกชนสนใจมาก เพราะสามารถลดต้นทุนทุกด้านได้

ดร.ชิตให้ข้อมูลว่า ตลาดระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์เติบโตเฉลี่ย 15% ต่อปีทั่วโลก มูลค่าตลาดปี 2014 อยู่ที่ 5 แสนล้านเหรียญสหรัฐ คาดว่าจะโตเป็น 1.4 ล้านล้านเหรียญ โดยเอเชียครองส่วนแบ่งใหญ่ราว 40% แชมป์คือไต้หวันซึ่งเป็นประเทศลำดับที่ 1-2 ที่ผลิตเครื่องจักรกลเชิงการเกษตรมากที่สุดในโลก

สำหรับหุ่นยนต์ในบ้าน Peng Wu ผู้จัดการทั่วไป ธุรกิจต่างประเทศของ UBTech อธิบายโอกาสของตลาดหุ่นยนต์สำหรับบ้านว่า หุ่นยนต์จะเตือนได้ว่าสมาชิกในบ้านต้องกินยาเมื่อไร นอนเมื่อไร การยกตัวอย่างแบบนี้อาจมองว่าการแจ้งเตือนเหล่านี้ไม่สำคัญ แต่หุ่นยนต์สามารถเตือนได้ในรอบปี หรือรอบหลายปี และจะมีความคิดความจำมากขึ้นเรื่อยๆ เหมือนเด็กจนเป็นผู้ใหญ่ นี่เองที่จะตอบโจทย์วิถีชีวิตในอนาคตได้

สิ่งที่ UBTech ทำได้คือการพัฒนาหุ่นยนต์ในราคาที่ต่ำกว่าหุ่นยนต์สัญชาติญี่ปุ่น ตัวอย่างเช่น “Asimo” ของฮอนด้าที่มีราคาราว 2 ล้านบาท หรือหุ่นยนต์ญี่ปุ่นที่ขายแล้วตามห้างดังอย่างพารากอนก็มีราคาหลักแสนบาท ทำให้เข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคไม่ได้ 

ขอ 3 ปี ตลาดหุ่นยนต์โตเท่ามือถือ

อดิศักดิ์เชื่อว่าต้องใช้เวลาอย่างน้อย 3 ปี กว่าตลาดหุ่นยนต์จะขยายตัวระดับตลาดโทรศัพท์มือถือ ตลาดหุ่นช่วงแรกคาดว่ามียอดขายอยู่ที่หลักหมื่นตัว แต่เมื่อผ่านไป 5 ปีอาจจะเพิ่มเป็น 2 แสน หรือเทคโนโลยีกับราคาอาจจะทำให้เป็น 3 แสนตัวก็ได้ 

ปัจจัยผลักดันคือประโยชน์ของหุ่นยนต์ที่เพิ่มขึ้น บนราคาที่จะลดลง

การเปิดตลาดหุ่นยนต์นี้ของเจมาร์ทเกิดขึ้นเพื่อต้องการตอบโจทย์ธุรกิจที่ต้องการวางแผนลดบุคลากรลงด้วย จุดนี้เจมาร์ทให้ข้อมูลว่าปกติแล้วค่าแรงพนักงานคิดเป็นต้นทุนราว 20-30% ส่วนตัวเจมาร์ทวางแผนนำหุ่นยนต์มานำร่องใช้งานใน 5 สาขา 

ผู้บริหารเจมาร์ทย้ำว่ายังไม่มีการกำหนดราคาจำหน่ายหุ่นยนต์ในขณะนี้ แต่รุ่นใหญ่จะมีราคาหลักล้าน รุ่นสำหรับคอนซูเมอร์ราว 3-4 หมื่นบาท ขณะที่ภาคการศึกษาต้องมีราคาไม่ถึงหมื่นบาท ทั้งหมดนี้รวมการพัฒนาระบบให้รองรับภาษาไทย คาดว่ามาร์จิ้นการขายหุ้นจะอยู่ในระดับเดียวกับสินค้าทั่วไปคือราว 30-40% ของราคาขาย ตัวเลขนี้จะชัดเจนเมื่อเริ่มธุรกิจแล้ว

ทาโร่ เลิศวัฒนารักษ์ ซีอีโอบริษัทเจเวนเจอร์บริษัทย่อยที่เกิดขึ้นมาเพื่อพัฒนาธุรกิจเทคโนโลยีให้เกิดในเจมาร์ท มองว่าหากโครงการหุ่นยนต์นี้ขยายตัว และสามารถรวบรวมข้อมูลได้มากพอสร้างเป็นระบบ AI คาดว่าจะมีการตั้งบริษัทร่วมทุนขึ้นมาดูแลบริหารจัดการการประยุกต์ใช้ข้อมูลโดยเฉพาะ เบื้องต้นยังไม่มีการกำหนดเวลาแต่คาดว่าอีกไม่นานนับจากที่หุ่นเริ่มวางตลาด

หลังบ้านคือดาต้าทั้งสิ้น ไม่มีดีไวซ์ที่เรียนรู้ได้เร็วเท่าหุ่นยนต์ สิ่งที่เราทำคือประเทศไทยเริ่มเก็บข้อมูลและพัฒนาตรงนี้แล้ว เจมาร์ทมีเป้าหมายจะจัดตั้งคลาวด์ เป็นแพลตฟอร์ม AI ให้ประเทศ

นี่เองที่จะเป็นจิ๊กซอว์ต่อยอดธุรกิจของเจมาร์ท เมื่อถึงวันที่ตลาดหุ่นยนต์ยิ่งใหญ่เทียบเท่าตลาดโทรศัพท์มือถือ ตัวเลขยอดขายหลายหมื่นล้านบาทเชื่อว่าจะเกิดขึ้นไม่ยาก เพราะหุ่นยนต์ทำงานส่วนใหญ่ที่โทรศัพท์มือถือทำได้ แต่ต่างเพียงการแสดงผลด้วยการพูดและท่าทาง แทนหน้าจอเท่านั้น 

สำหรับมูลค่าตลาดหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติของไทยวันนี้ ดร.ชิตระบุว่าในตัวเลขที่ประเทศไทยนำเข้าระบบอัตโนมัติราว 2 แสนล้านบาท นั้นเป็นตัวเลขส่งออกราว 3-4 หมื่นล้านบาทเท่านั้น ถือว่าขาดดุลมากกว่า 1.6-1.7 แสนล้านบาท ตรงนี้เป็นตลาดในประเทศไทยที่มีโอกาสงดงามรออยู่.