ทีวีดิจิทัล ยังต้องดิ้นรนกันต่อ ยิ่งโจทย์เวลานี้ไม่ได้มีแค่คู่แข่งที่แย่งชิงเม็ดเงินโฆษณาเท่านั้น แต่ยังมีสื่อออนไลน์ที่มีบทบาทต่อผู้ชมอย่างมากเป็นอีกหนึ่งในเวทีที่ต้องต่อสู้ ยิ่งทำให้ทีวีดิจิทัลต้องดิ้นรนเพื่อความอยู่รอด
กลุ่มจีเอ็มเอ็ม แชนแนล เทรดดิ้ง ช่องทีวีดิจิทัล จีเอ็มเอ็ม 25 ได้ปรับโครงสร้างใหม่ ด้วยการแตก 5 บริษัท ประกอบไปด้วย จีเอ็มเอ็ม 25, จีเอ็มเอ็มทีวี, จีเอ็มเอ็ม มีเดีย, เชนจ์ 2561 และ กลุ่มจีเอ็มเอ็ม สตูดิโอ ซึ่งทั้งหมดนี้จะทำหน้าที่ผลิตคอนเทนต์บันเทิง หรือ คอนเทนต์ โพไวเดอร์ ในทุกช่องทาง
จีเอ็มเอ็มทีวีนั้น ยังคงผลิตรายการบันเทิง วาไรตี้ และซีรีส์วัยรุ่น จากนักแสดงวัยรุ่นในสังกัดที่เป็นไฮไลต์ของบริษัท มีผลงานป้อนช่องทีวีดิจิทัล ส่วนใหญ่เป็นช่องจีเอ็มเอ็ม 25 และช่องวัน และไลน์ทีวี รวมถึงเฟซบุ๊ก ยูทูป และยังมีการจัดคอนเสิร์ตจากศิลปินในกลุ่มด้วย
ส่วนบริษัทเชนจ์ 2561 จัดตั้งขึ้นใหม่ โดยมี “พี่ฉอด สายทิพย์” เป็นผู้บริหาร หลังจากที่ลาออกจากตำแหน่งผู้บริหารช่องจีเอ็มเอ็ม 25 ก็หันมาผลิตคอนแทนต์บันเทิง ทั้งละคร คอนเสิร์ต ให้กับช่องจีเอ็มเอ็ม 25 เท่านั้น รวมถึงช่องทีวีดิจิทัลช่องอื่นๆด้วย เช่น ช่องวัน, ช่องพีพีทีวี และอมรินทร์ทีวี นอกเหนือจากการทำละครให้ช่องจีเอ็มเอ็ม 25 เพียงช่องเดียว
กลุ่มบริษัทใหม่คือ จีเอ็มเอ็ม สตูดิโอ ได้รวมผู้ผลิตคอนเทนต์บันเทิงจากจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ เช่น จีเอ็มเอ็ม บราโว เข้ามารวมในกลุ่มนี้ โดยมี ระฟ้า ดำรงชัยธรรม เข้ามาช่วยบริหารกลุ่มนี้ และยังมี “ปุ๊ก-พันธุ์ธัมม์ ทองสังข์” ที่โยกจาก ตำแหน่ง Director ด้านละครของช่องจีเอ็มเอ็ม เข้ามาช่วยดูแลด้วย ความแตกต่างของกลุ่มนี้คือรับผลิตคอนเทนต์บันเทิงให้กับช่องทาง Netflix , YouTube และ LINE ที่เป็นตลาดต่างประเทศเป็นหลัก
และกลุ่มสุดท้ายคือ จีเอ็มเอ็ม มีเดีย เป็นการรวมธุรกิจวิทยุ และการจัดคอนเสิร์ต ทั้งหมด ในปี 2560 จีเอ็มเอ็ม แชนแนล เทรดดิ้ง มีรายได้รวม 1,551 ล้านบาท หรือคิดเป็น 18% ของรายได้รวมของกลุ่มจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ ที่มีรายได้อยู่ที่ 10,179 ล้านบาท โดยรายได้รวมของจีเอ็มเอ็ม แชนแนล ลดลงจากปี 2559 ที่มีรายได้รวม 1,772 ล้านบาท หรือคิดเป็น 24% ของรายได้รวมของจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ ที่มีรายได้อยู่ที่ 7,430 ล้านบาท
ในส่วนการบริหารงาน ได้แต่งตั้ง สถาพร พานิชรักษาพงศ์ เข้ามาบริหารช่องอย่างเป็นทางการตั้งแต่กลางเดือนกันยายนที่ผ่านมา และจะนั่งเป็น กรรมการผู้จัดการ บริษัทจีเอ็มเอ็มทีวี อีกตำแหน่ง
ก่อนหน้านี้ บุษบา ดาวเรือง ได้เข้ามารักษาการบริหารช่องชั่วคราว หลังจากที่ “พี่ฉอด-สายทิพย์ มนตรีกุล” หลุดจากตำแหน่งไปตั้งแต่ช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ จนกระทั่งทางจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ได้ส่งสถาพรเข้ามา พร้อมมีการเปลี่ยนแปลงทีมงานภายใน ซึ่งสถาพรเข้ามาดูแลงานละครในช่องด้วยตัวเอง โดยได้เริ่มเปิดรับผู้จัดจากภายนอกเข้ามาผลิตงานละครเพิ่มเติม
สำหรับโครงสร้างผู้ถือหุ้นในจีเอ็มเอ็ม แชนแนลนั้น มี จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ ถือหุ้นจำนวน 9,999,998 หุ้น หรือ 50% และที่เหลืออีก 50% เป็นการถือหุ้นของกลุ่มช้าง ได้แก่ บริษัท สิริดำรงธรรม ถือหุ้นจำนวน 4,999,999 หุ้น 24.99% และ บริษัท ภักดีวัฒนา ถือหุ้นจำนวน 4,999,999 หุ้น หรือ 24.99% โดยกลุ่มช้างเข้ามาซื้อหุ้นเมื่อ 24 สิงหาคม 2560