ดูท่าว่าความพยายามในการปรับโครงสร้างองค์กรด้วยการนำผู้บริหารภายนอกเข้ามาบริหารช่อง 3 มีแนวโน้มจะไปไม่รอด หลังจากที่ผู้บริหารที่เข้ามาเริ่มหมดสัญญาพ้นจากตำแหน่ง และทยอยลาออก โดยรายล่าสุด คือ ธงชัย ชั้นเสวิกุล ลาออกจากตำแหน่ง Chief Creative Officer
โดยเมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน บริษัทบีอีซีเวิลด์ ได้แจ้งตลาดหลักทรัพย์ฯ ว่า นายธงชัย ชั้นเสวิกุล ลาออกจากตำแหน่ง Chief Creative Officer โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน เป็นต้นไป นับเป็นผู้บริหารระดับสูงในกรุ๊ป C ของช่อง 3 คนที่ 3 ที่หลุดจากตำแหน่งในปีนี้
เค้าลางการเปลี่ยนแปลงองค์กรเริ่มมาตั้งแต่ อาภัทรา ศฤงคารินกุล เป็นคนแรกที่ลาออกจากตำแหน่ง Chief Technology and New Media Officer เมื่อ 1 กรกฎาคม ด้วยเหตุผลที่แจ้งตลาดหลักทรัพย์ฯ ว่า ลาออกเนื่องจากครบสัญญา แต่มีการแต่งตั้งให้เป็นที่ปรึกษาแทน
ต่อมาวันที่ 1 ตุลาคมที่ผ่านมา ภัทรศักดิ์ อุตตมะโยธิน Chief HR Officer ที่ได้รับตำแหน่งพร้อมกับอาภัทรา ลาออก แต่ครั้งนี้เป็นการลาออกด้วยเหตุผลส่วนตัว
ล่าสุดคือ ธงชัย ชั้นเสวิกุล ลาออกเพราะหมดสัญญา นอกจากนี้ยังมีรายงานว่ามีตำแหน่งที่ปรึกษาอีกหลายราย ก็ทยอยหมดสัญญา ลาออกไปเพราะไม่มีการต่อสัญญาตามไปด้วยเช่นกัน
ที่น่าสนใจคือ การลาออกจากตำแหน่งของทั้ง 3 คนในกรุ๊ป C ทั้งหมดนี้ ไม่มีการเสริมทัพหาผู้บริหารเข้ามาทำแทนในตำแหน่งเดิมแล้ว แต่อยู่ในตำแหน่งใหม่ เท่ากับว่าจำนวนผู้บริหารกรุ๊ป C ลดลงเหลือ 10 คน
หรือนี่จะเป็นการส่งสัญญาณว่า อาจจะมีผู้บริหารที่มาจากภายนอกทยอยหมดสัญญาตามออกมาเป็นระลอก และอาจจะมีการปรับโครงสร้างองค์กรใหม่อีกครั้ง หลังจากได้เรียนรู้แล้วว่าธุรกิจนี้จำเป็นต้องพึ่งพาคนในวงการเดียวกัน ที่มีความรู้ประสบการณ์มากกว่าบุคคลภายนอกแล้วก็เป็นได้
ที่มาของผู้บริหารมืออาชีพเหล่านี้ มาจาก ประชุม มาลีนนท์ “น้องชายคนเล็ก” ของตระกูล “มาลีนนท์” ได้ขึ้นมารับตำแหน่ง CEO เมื่อวันที่ 21 มี.ค. 60 ได้มีการปรับโครงสร้างบริหารงาน ด้วยการดึงมืออาชีพจากภายนอกเข้ามาร่วมงาน หรือเรียกว่า กรุ๊ป C ซึ่งเป็นกลุ่มผู้บริหารระดับสูง พร้อมๆ กับแต่งตั้ง อัมพร มาลีนนท์ เป็นหัวหน้าคณะผู้บริหารด้านปฏิบัติการ หรือ Chief Operating Officer
ต่อมาวันที่ 27 เมษายน 2560 บอร์ดบีอีซีได้แต่งตั้งให้ สมประสงค์ บุญยะชัย อดีต CEO บริษัท อินทัช ที่เข้ามาเป็นบอร์ดบริษัทตั้งแต่ 18 มกราคม 2560 ให้มาเป็นประธานคณะกรรมการบริหาร หรือ Chairman of Executive Committee พร้อมๆ กับตั้งผู้บริหารอีก 3 คนที่ล้วนแต่เคยทำงานกับสมประสงค์ที่กลุ่มอินทัชมาก่อน ได้แก่ อาภัทรา, ภัทรศักดิ์ และ นพดล เขมะโยธิน ในตำแหน่ง Chief Investment Officer
หลังจากนั้น โครงสร้างผู้บริหารในกรุ๊ป C ขยายมากขึ้นเรื่อยๆ โดยมีอดีตผู้บริหารจากอินทัชและบริษัทในเครืออินทัช อย่าง เอไอเอส เข้ามารับตำแหน่งอีก 2 คน ได้แก่ น้ำทิพย์ พรหมเชื้อ ในตำแหน่ง Chief Strategy Planning เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2560 และ วรุณเทพ วัชราภรณ์ ในตำแหน่ง Chief Marketing Officer ในวันที่ 24 สิงหาคม 2560
นอกจากผู้บริหารจากเอไอเอส และอินทัชแล้ว ช่อง 3 ยังได้ดึงมืออาชีพด้านต่างๆ เข้าร่วมงาน เช่น รณพงษ์ คำนวณทิพย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ยูนิเวอร์ซัล มิวสิค (ประเทศไทย) มารับตำแหน่ง Chief Commercial Officer, ชาคริต ดิเรกวัฒนชัย รองประธานกรรมการแผนกสื่อสารองค์กรและความยั่งยืน เทสโก้ โลตัส มารับตำแหน่ง Chief Coporate Affair Officer, อรนา ตั๋นเจริญ Chief Research Officer และ Chief Creative Officer ธงชัย ชั้นเสวิกุล ซึ่งผ่านงานในวงการโฆษณาและโทรทัศน์ มารับตำแหน่ง Chief Creative Officer และรายสุดท้ายคือ พิริยดิส ชูพึ่งอาสน์ ในตำแหน่ง CFO
ทั้งหมดนี้เป็นการปรับโครงสร้างองค์กรการทำงานในกลุ่มใหม่ทั้งหมด ภายใต้แนวคิดที่ต้องการฟื้นรายได้ของกลุ่มช่อง 3 ทั้งหมด ที่กำลังเผชิญหน้ากับการแข่งขันอย่างรุนแรงในวงการทีวี จึงจำเป็นต้องดึงผู้บริหารมืออาชีพเข้ามาช่วยฟื้นฟูธุรกิจ
อย่างไรก็ตาม ผู้บริหารในกรุ๊ป C มีรวมทั้งหมดถึง 13 คน เป็นโครงสร้างองค์กรที่ใหญ่มาก เหมือนองค์กรขนาดใหญ่ มีผู้บริหารหลายระดับขั้น และตั้งที่ปรึกษาด้านต่างๆ อีกมากมาย แตกต่างจากธุรกิจเอนเตอร์เทนเมนต์ ที่ส่วนใหญ่เป็นรูปแบบองคาพยพสั้นๆ แบบขับเคลื่อนเร็ว
เมื่อมีผู้บริหารหลากหลาย ลำดับชั้นมาก การตัดสินใจทำได้ล่าช้า ที่สำคัญรายได้ของกลุ่มก็ยังลดลงเรื่อยๆ จนกระทั่งต้องขาดทุนมาตั้งแต่ไตรมาสที่ 4 ของปีที่แล้ว แม้ว่าละครบางเรื่อง “บุพเพสันนิวาส” จะสร้างปรากฏการณ์ทำเรตติ้งสูงสุดของปี แต่ยอดขายโฆษณาก็ยังไม่เป็นไปตามเป้า จึงมีการตั้งคณะทำงานหารายได้ และลดค่าใช้จ่ายขององค์กรอย่างจริงจัง เช่น การประกาศนโยบายสมัครใจลาออกในช่วงเมษายน 2561 พร้อมๆ ไปกับการลาออกของผู้บริหารมืออาชีพเหล่านี้
แผนบริหารศิลปิน เงียบหายไปกับสายลม
ประชุม มาลีนนท์ ในฐานะหัวเรือใหญ่ ประกาศในช่วงที่เข้ามารับตำแหน่งไว้ว่า จะริเริ่มรูปแบบหารายได้จากการบริหารศิลปิน เพื่อเพิ่มรายได้ให้กับช่อง จากเดิมที่ให้ดาราในสังกัดไปรับงานเอง เช่น พรีเซ็นเตอร์ ออกงานอีเวนต์ โดยช่องไม่มีรายได้ในส่วนนี้
แต่ทันทีที่ประกาศนโยบาย มีแรงกระเพื่อมในกลุ่มศิลปินดาราในสังกัด ที่ส่วนใหญ่จะมีผู้จัดการดาราใหญ่ๆ ดูแล ในที่สุดทำให้ไม่มีความคืบหน้า และค่อยๆ เงียบหายไปในที่สุด
ส่วนเรื่องขายคอนเทนต์ไปต่างประเทศนั้น ช่อง 3 ขายเองในกลุ่ม CLMV ย่านอาเซียน และจีน ที่มีรายงานยอดรายได้จากการขายคอนเทนต์ไปต่างประเทศที่ชัดเจนที่สุดคือในไตรมาส 2 จากละครเรื่อง “ลิขิตรัก The Crown Princess” ให้กับประเทศจีน เพียงเรื่องเดียวเท่านั้น ทำรายได้ 50.2 ล้านบาท ส่วนในประเทศอื่นๆ ทั่วโลกนั้น ช่อง 3 ตกลงให้กลุ่ม เจเคเอ็น โกลบอล มีเดีย ของ “แอน จักรพงษ์ จักราจุฑาธิบดิ์ ไปเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา
นับเป็นการส่งสัญญาณแล้วว่า ช่อง 3 อาจต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงอีกครั้ง.