Facebook คุมเนื้อหาเชิงลบ 6 ประเภท ข่าวลวงช่วงเลือกตั้ง เจอปุ๊บลบทิ้งทันที

Thanatkit

ถึง “Facebook” จะมีข้อดีตรงที่เป็นช่องทางสำหรับติดตามเรื่องราวของคนรอบตัว แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า หลายๆ โพสต์ที่เกิดขึ้นใน Facebook ออกมาในเชิงลบก็มีไม่น้อย

ไซมอน ฮารารี ผู้จัดการฝ่ายนโยบายด้านเนื้อหา ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ซึ่งมีสำนักงานอยู่ที่สิงคโปร์ บอกว่า ด้วยความที่ Facebook มีผู้ใช้งานมากกว่า 2,000 ล้านคนทั่วโลก จึงต้องออกกฎของการอยู่ร่วมกัน เพื่อทำให้เนื้อหาไปในทิศทางสร้างสรรค์มากกว่าจะเป็นด้านลบ

Facebook จึงได้เชิญผู้เชี่ยวชาญในด้านต่างๆ ที่เกี่ยวข้องมาเป็นที่ปรึกษาในการร่าง “นโยบายมาตรฐานชุมชนของ Facebook ที่มีใจความหลัก 3 ข้อคือ ความปลอดภัย การแสดงความคิดเห็น และความเป็นมาตรฐานเดียวกัน

ช่วงต้นปีที่ผ่านมาได้มีการประกาศกฎที่ละเอียดมากยิ่งขึ้น คือไม่อนุญาตให้เผยแพร่เนื้อหารุนแรงต่างๆ โดยสิ้นเชิง เช่น การใช้วาจาสร้างความเกลียดชัง, การกลั่นแกล้ง/รังแก และเนื้อหาจากกลุ่มหัวรุนแรง เป็นต้น

การเขียนกฎสำหรับคน 2,000 ล้านคนทั่วโลก เป็นเรื่องที่ยากอยู่เหมือนกัน เพราะแต่ละประเทศก็จะมีวัฒนธรรมท้องถิ่น และความเข้าใจที่ไม่เหมือนกัน Facebook จึงวางแผนและพัฒนานโยบายทุก 2 สัปดาห์ เพื่อให้ทันสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในขณะนั้น”

หลักๆ แล้ว การตรวจสอบเนื้อหาจะมีทั้งคนและ AI ร่วมกัน โดยร่วมกันตรวจสอบเนื้องานที่ถูกรายงานจากผู้ใช้ รวมไปถึงระบบ AI ที่ตรวจสอบอัตโนมัติ ตอนนี้ทีมงานที่เป็นคนทั้งหมด 20,000 คนทั่วโลก โดยเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 1 เท่าตัว ทำงานครอบคลุมทุกเขตเวลา และพูดกว่า 50 ภาษา รวมไปถึงภาษาไทย

เพื่อให้เห็นถึงความจริงจังในด้านตรวจสอบเนื้อหา Facebook ได้ออกเผยแพร่รายงานเกี่ยวกับการใช้มาตรฐานชุมชมเป็นครั้งแรก โดยเป็นข้อมูลที่เกิดในช่วง 6 เดือนตั้งแต่ตุลาคม 2017 – มีนาคม 2018

รายงานดังกล่าวประกอบด้วยความแพร่หลายและข้อมูลเกี่ยวกับเนื้อหาที่ถูกลบออกจากแพลตฟอร์มทั้งหมด 6 ประเภท ซึ่งเป็นเนื้อหาที่ฝ่าฝืนกฎนโยบาย ได้แก่

  1. ภาพโป๊เปลือย” ลบไปแล้ว 21 ล้านโพสต์ โดย 96% ถูก AI พบก่อนที่จะมีการรายงานโดยผู้ใช้
  2. ภาพความรุนแรง” 3.5 ล้านชิ้น แต่ก็มีบางภาพที่ไม่โดนลบ เพราะเห็นแล้วเป็นเนื้อหาที่มีความสำคัญจึงต้องเผยแพร่
  3. โฆษณาชวนเชื่อของผู้ก่อการร้าย” 1.9 ล้านชิ้น Facebook ให้เหตุผลที่ลบเพื่อป้องกันความรุนแรงที่จะตามมาในอนาคต
  4. การใช้วาจาสร้างความเกลียดชัง” 2.5 ล้านชิ้น ลักษณะที่ลบจะครอบคลุมเนื้อหาที่ลดคุณค่าความเป็นคนลงไป เช่น เพศ ศาสนา ถิ่นกำเนิด ความชอบทางเพศ ล่าสุด Facebook ได้เพิ่ม “วรรณะ” เนื่องจากในอินเดียมีการโจมตีด้วยเรื่องนี้
  5. บัญชีผู้ใช้ปลอม” ลบไป 583 ล้านบัญชี 99% ถูกลบก่อนจะถูกรายงาน
  6. สแปม 837 เกือบ 100% เป็นผลงานของ AI

อย่างไรก็ตาม Facebook เปิดโอกาสให้สามารถยื่นคำร้อง เพื่อตรวจสอบโพสต์ของบุคคลทั่วไปที่ถูกลบไปแล้วอีกครั้ง หากไม่เห็นด้วยกับการตัดสินใจดังกล่าวภายใน 24 ชั่วโมง ปัจจุบันเปิดให้ยื่นได้ 4 ประเภท ได้แก่ ภาพโป๊เปลือย, กิจกรรมทางเพศ, การใช้วาจาสร้างความเกลียดชัง และเนื้อหาของผู้ก่อการร้าย

มีเนื้อหาบางส่วนเหมือนกันที่ไม่ถูกลบ แม้จะเข้าข่ายใน 6 ปรเภท เช่น การบอกเล่าเรื่องราวของตัวเองเกี่ยวกับเรื่องของเพศ ตัวอย่างคือ นักกีฬาชาวฮ่องลงที่บอกเล่าความรุนแรงทางเพศที่ได้รับจากโค้ช ซึ่งโพสต์นี้ถูกแชร์ไปกว่า 7,000 ครั้ง เป็นต้น”

ขณะเดียวการแพร่หลายของโซเชียลมีเดียทำให้คนบางกลุ่มใช้ช่องทางนี้สำหรับแพร่ภาพการฆ่าตัวตายของตัวเองต่อกรณีนี้ แคลร์ ดีวีย์ ผู้อำนวยการฝ่ายโครงการนโยบายประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก บอกว่า Facebook ได้หาพันธมิตรท้องถิ่นเพื่อรับมือกับเรื่อง โดยในไทยก็ได้จับมือกับ samaritansthai ในการร่างมาตรการที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันการฆ่าตัวตาย

Facebook ใช้ AI ตรวจสอบโพสต์ข้อความและรูปภาพ เพื่อหาแนวโน้มของผู้ที่จะฆ่าตัวตาย ส่วนผู้ที่รายงานเนื้อหาในด้านนี้ จะได้รับคำแนะนำเพื่อให้เข้าไปพูดคุยอย่างถูกวิธี หรือติดต่อตำรวจเพื่อช่วยเหลือ และหากผู้ใช้ที่เข้าข่ายมีการไลฟ์ ก็จะมีป็อปอัพเพื่อถามว่า ต้องการให้ช่วยเหลือปัญหาที่กำลังเจอหรือเปล่า

หลายคนสงสัยว่าทำไมไม่ลบไลฟ์ของผู้ที่จะฆ่าตัวตายเลยเมื่อเจอ แต่ผู้เชียวชาญกลับเห็นแย้งว่า หากลบจะเป็นการปิดโอกาสช่วยเหลือ และทำให้รู้สึกโดดเด่ียวมากขึ้น จนนำไปสู่การฆ่าตัวตายในที่สุด”

ข่าวลวงช่วงเลือกตั้ง เจอลบทิ้งทันที

อีกเรื่องหนึ่งที่กำลังเป็นที่สนใจของผู้ใช้ในเมืองไทยคือการเลือกตั้งที่กำลังใกล้เข้ามาแล้ว โดย Facebook ถือเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่สามารถใช้หาเสียงได้ แต่จากปัญหาข่าวลวงที่สามารถส่งผลถึงการเลือกตั้ง หลายๆ คนจึงกังวลในเรื่องนี้

แคลร์ให้ความเห็นกว้างๆ ว่า ช่วง 18 เดือนมานี้ Facebook ได้ทำงานร่วมกับหน่วยงานท้องถิ่นในหลายประเทศ รวมทั้งประเทศไทย เพื่อป้องกันปัญหาข่าวลวงที่มีเป้าหมายแทรกแซงกระบวนการเลือกตั้ง เช่น พยายามบอกสถานที่เลือกตั้งผิดๆ หรือส่งข้อความบอกให้ลงคะแนนผ่าน Facebook ซึ่งหากเจอก็จะลบบัญชีผู้ใช้ทันที.