ทีวีดิจิทัลเหงื่อตก เรตติ้งร่วงยกแผง เหตุคนดูทีวีลดลง

ตัวเลขเรตติ้งประจำสัปดาห์ล่าสุดของวันที่ 29 ตุลาคม – 4 พฤศจิกายน สะท้อนให้เห็นว่ายอดคนดูทีวีมีแนวโน้มลดลง จากเรตติ้งทีวีดิจิทัล 25 ช่องมีตัวเลขรวมลดลงต่ำกว่า 8 ในรอบ 5 สัปดาห์ที่ผ่านมา โดยช่องกลุ่ม 5 อันแรกมีเรตติ้งลดลงทั้งแผง เรตติ้งรายการช่วงไพรม์ไทม์ลดลง

เมื่อย้อนดูเรตติ้งเฉลี่ยของทั้งระบบในแต่ละสัปดาห์ย้อนหลัง ก็ยังพบว่าสถิติเรตติ้งค่อยๆ ลดลงมาต่ำสุดในสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยเห็นได้ชัดตั้งแต่ช่วงต้นเดือนพฤศจิกายน โดยเฉพาะกับรายการในช่วงเวลาไพรม์ไทม์ หลัง 2 ทุ่ม ของบรรดาช่องใหญ่ทั้ง 5 ช่องที่เรตติ้งสัปดาห์ที่ผ่านมาลดลงได้แก่ ช่อง 7, ช่อง 3, โมโน, เวิร์คพอยท์ และช่องวัน

ละครพ่อมดเจ้าเสน่ห์

สำหรับช่อง 7 ละคร “พ่อมดเจ้าเสน่ห์” เรตติ้งในคืนวันที่ 1 พฤศจิกายน ตกลงมาอยู่ที่ 3.119 เท่านั้น ต่ำที่สุดของกลุ่มละครช่วงนี้ของช่อง 7 แม้เรตติ้งจะหล่นมาอยู่ระดับ 3-4 แต่ก็ไม่เคยตกลงมาต่ำที่สุดขนาดนี้

งานนี้ ทำเอาผู้บริหารช่องเบอร์ใหญ่ถึงกับนั่งไม่ติด ต้องวิ่งวุ่นหาสาเหตุว่าเกิดมาจากอะไร โดยพบว่ามีกลุ่มผู้ชมทีวีจำนวนหนึ่งหายไปจากระบบ ทำให้เรตติ้งของรายการในช่องต่างๆ ลดลงฮวบฮาบ จนมีการตั้งข้อสังเกตว่า อาจเป็นเพราะพฤติกรรมคนดูที่หันไปดูผ่านช่องทางออนไลน์

แต่เมื่อดูยอดคนดูละครย้อนหลังทางทีวีออนไลน์ จากตัวเลขคนดูใน Bagaboo ของช่อง 7 ที่เป็นช่องทางเดียวของการดูละครออนไลน์ย้อนหลังของช่อง 7 ในตอนที่ 7 ที่ออกอากาศสดวันที่ 1 พฤศจิกายน มียอดคนดูในเบรกแรกเป็นหลักแสน ซึ่งเป็นตัวเลขปกติของแต่ละตอนของละครเรื่องนี้ในออนไลน์ ยกเว้นตอนแรกที่มียอดคนดูเกือบ 8 แสนรายแล้ว

ละครปี่แก้วนางหงส์

ส่วนละคร “ปี่แก้วนางหงส์” ช่อง 3 เรตติ้งตอนที่ 2 ในวันที่ 1 พฤศจิกายน ลดลงมาอยู่ที่ 2.789 ส่วนจำนวนคนดูใน LINE TV เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน ยังเป็นแค่หลักพัน ส่วนใน Mello ของกลุ่มช่อง 3 ยังเป็นหลักหมื่น โดยในเบรกแรกของตอนที่ 2 มียอดคนดูหลักหมื่น ใกล้แตะหลักแสน เป็นอัตราที่อยู่ใกล้เคียงยอดวิวในตอนที่ 1

อย่างไรก็ตาม นีลเส็นชี้แจงว่า ยอดคนดูทีวีจะมีขึ้นและลงตามช่วงเวลาต้นเดือน เป็นปกติอยู่แล้ว อีกทั้งช่วงนี้เป็นช่วงเปิดเทอมแล้ว จำนวนคนดูมีผลกระทบบ้าง แต่ยังไม่ใช่สาเหตุหลักมาจากการที่ผู้ชมหันไปรับชมช่องทางออนไลน์ อีกทั้งรายการทีวียังมีหลากหลายรายการที่ไม่ได้อยู่ในช่องทางออนไลน์

บทวิเคราะห์ชี้ คนดูทีวีไม่ได้ลดลง ออนไลน์แค่ช่องทางใหม่ให้คนดูทีวีสะดวกขึ้น

สอดคล้องกับบทวิเคราะห์ของฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ ภัทร เกี่ยวกับการเปลี่ยนผ่านด้านเทคโนโลยีกับธุรกิจทีวีในประเทศไทย ที่เผยแพร่ให้กับกลุ่มลูกค้าและนักลงทุนเมื่อไม่นาน โดยนำเอาตัวเลข ยอดรวมคนดูทีวีจากทีวีดิจิทัลทุกช่องในแต่ละเดือนจากนีลเส็น พบว่า สถิติเรตติ้งจำนวนคนดูทีวีในระบบไม่ได้ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ท่ามกลางการเติบโตของช่องทางดูทีวีทางออนไลน์

ตารางยอดคนดูทีวีของนีลเส็น

แต่ช่องทางการรับชมรายการทีวีทางออนไลน์มีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ ช่วยเพิ่มความสะดวกให้กับผู้ชม สามารถรับชมรายการย้อนหลังได้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แหล่งรายได้ใหม่ของทีวีแต่ละช่อง นอกเหนือจากรายได้ที่เกิดจากค่าโฆษณามากกว่าจะเป็นรายได้ที่เป็นกอบเป็นกำชัดเจนนัก

ข้อมูลจากสมาคมโฆษณาดิจิทัล หรือ DAAT ได้คาดการณ์ตลาดโฆษณาทางออนไลน์ว่า จะเติบโตถึง 21% หรือคิดเป็น 13% ของมูลค่าโฆษณารวมในปี 2018 หลักทรัพย์ภัทรคาดการณ์ว่ารายได้จากโฆษณาออนไลน์จะเติบโตขึ้นเป็นสัดส่วน 30% ของมูลค่าตลาดรวมภายในปี 2025 ส่วนมูลค่าโฆษณาในสื่อเดิมจะโตแค่ประมาณปีละ 2% ในอีก 7 ปีข้างหน้า

LINE TV เติบโตสุด สร้างฐานได้มากที่สุด 

จากข้อมูลของ DAAT ระบุว่า ในจำนวนรายได้หลักของตลาดโฆษณาออนไลน์ในไทยนั้น เป็นของ 2 รายใหญ่คือ Facebook และ YouTube ที่มีรายได้รวมกัน 48% ภายในปี 2561 โดยที่ LINE TV จะมีอัตราการเติบโตสูงถึง 83% ในปีนี้ มียอดผู้ใช้บริการ 20 ล้านดาวน์โหลด

ตลาดโฆษณาโต

นอกจากออริจินัลคอนเทนต์ ซีรีส์ รายการบันเทิง ที่มุ่งจับคนดูที่เป็นวัยรุ่นแล้ว ช่วงหลัง LINE ยังได้ติดต่อนำละครไทยที่ได้รับความนิยมจากช่องต่างๆ นำมารีรัน ช่องวัน GMM25 เวิร์คพอยท์ รวมทั้งช่อง 3, ยกเว้นช่อง 7 ส่งผลให้ยอดการรับชมผ่าน LINE TV เติบโตถึง 115% ภายในปีนี้ และเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง เป็นการสร้างฐานของ LINE TV ให้ใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ

ส่วน Mello แพลตฟอร์มของกลุ่มช่อง 3 เปิดขึ้นช่วงต้นปี จะเป็นรายการรีรันละคร ช่อง 3 แล้วจึงไปออกใน YouTube และ LINE TV มียอดการดาวน์โหลดน้อยกว่า ยังไม่ถึง 1 ล้านดาวน์โหลด

จากการเปรียบเทียบข้อมูลเรตติ้งของนีลเส็น และตัวเลขทางการรับชมทีวีทาง YouTube ของ 3 รายการจากละคร “อังกอร์” ช่อง 3, The Mask Singer เวิร์คพอยท์ และ เกมต่อชีวิต ทางไทยรัฐทีวี พบว่า สัดส่วนการรับชม 3 รายการนั้นทาง YouTube เมื่อเทียบกับช่องทางทีวี อยู่ที่ 1% สำหรับ “เกมต่อชีวิต” , 11% สำหรับละคร “อังกอร์” และ 54% สำหรับ The Mask SInger

ละครเลือดข้นคนจาง

เมื่อดูผลสำรวจคนดู ทางช่องทาง LINE TV จากละครของช่องวัน พบว่า สัดส่วนการรับชมละคร “วิมานจอเงิน” อยู่ที่ 6% เท่านั้น แต่ตัวเลขในละคร “เลือดข้นคนจาง” กลับมีสัดส่วนการดูผ่าน LINE TV สูงถึง 78%

อย่างไรก็ตาม แม้ยังไม่มีการเปิดเผยวิธีการวัดยอดวิวของทั้งช่องทาง YouTube และ LINE TV แต่จากข้อมูลเบื้องต้นสะท้อนว่า รูปแบบการดูรายการทีวีทางช่องทางออนไลน์นั้น จะช่วยเพิ่มความสะดวกให้ผู้ชม ดูรายการย้อนหลังได้ตลอดเวลา แต่อาจจะทำให้ยอดคนดูทีวีลดลงได้ เพราะหันไปช่องทางออนไลน์มากขึ้น

แต่เมื่อประเมินเรตติ้งของนีลเส็นในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา พบว่า ยอดคนดูทีวีทั่วประเทศไม่ได้ลดลงอย่างมีนัยสำคัญเลย โดยรับชมรายการทีวีทางออนไลน์มีความสำคัญมาก และมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในฐานะที่เป็นแหล่งรายได้ใหม่

ยอดคนดูทีวีของนีลเส็น

แต่ละสถานีทีวี ต่างมีนโยบายในการนำรายการทีวีของตัวเองไปลงช่องทางออนไลน์ที่แตกต่างกัน บางช่องก็มีแพลตฟอร์มของตัวเอง บางช่องก็พึ่งพาแพลตฟอร์มอื่นๆ แต่ยังสรุปไม่ได้ว่ารูปแบบไหนจะดีและเหมาะสมที่สุดสำหรับประเทศไทย

อย่าง ช่อง 3 มีแอป Mello ของตัวเอง รายการที่ลงส่วนใหญ่จะเป็นรายการรีรันครั้งแรกจากช่อง 3 เช่นพวกละคร แล้วจึงจะออกในช่องทาง YouTube หรือ LINE TV

ส่วนเวิร์คพอยท์นั้น ไม่ได้มีแพลตฟอร์มของตัวเอง แต่จะมีรายการบนช่องทาง YouTube และ LINE TV รายได้โฆษณาทางออนไลน์ในไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ ของช่อง 3 ทำรายได้อยู่ที่ประมาณ 5% ส่วนเวิร์คพอยท์มีรายได้อยู่ที่ 5%

ยอดคนดาวน์โหลดรับชมรายการผ่าน Mello นั้นยังมีไม่สูงมาก โดยในเดือนตุลาคม พบว่ามียอดอยู่ที่ประมาณ 866,000 ดาวน์โหลดเท่านั้น ยังยากที่จะตามทัน YouTube แต่การมีแอปของตัวเองทำให้รายได้จากช่องทางออนไลน์ส่วนใหญ่ยังอยู่ที่บีอีซีเอง (โดยคิดเป็น 40-50% ของรายได้ออนไลน์ของกลุ่ม) โดยมีการคาดการณ์ว่ารายได้จากโฆษณาออนไลน์ของกลุ่มช่อง 3 จะโตประมาณ 40% ตั้งแต่ปี 2560- 2565

รายได้ออนไลน์ ของ BEC & Work point

ช่องทางรับชมทีวีทางออนไลน์นั้น ยังช่วยให้บรรดาผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือมีรายได้เพิ่มขึ้น จากการให้บริการอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ด้วย

โดย 2 ค่ายมือถือถือ เอไอเอส และทรู ได้มีบริการ OTT ได้แก่ AIS Play และ TrueID ทั้งสองบริการนี้ ไม่ได้มีรายการได้จากค่าโฆษณาออนไลน์แต่อย่างใด แต่ต้องการสร้างรายได้เพิ่มขึ้นจากการรับชมคอนเทนต์ออนไลน์ผ่านเครือข่ายมือถือ ตามการคาดการณ์แล้ว หากมูลค่าตลาดโฆษณาออนไลน์จะเป็นสัดส่วน 30% ของตลาดโฆษณารวมภายในปี 2568 แล้ว จะเท่ากับมูลค่า 15% ของรายได้จากการให้บริการเครือข่ายในปีเดียวกัน.