สายการบินเผชิญภาวะ“ขาดทุน” ถ้วนหน้า ล่าสุดแอร์เอเชีย (AAV) ได้ประกาศผลประกอบการ 9 เดือนแรกปี 2561 แม้จะมีกำไร 340 ล้านแต่ไตรมาส 3 ปีนี้ขาดทุนสุทธิ 358 ล้านบาท
โดยสาเหตุมาจากราคาน้ำมันเพิ่มสูงขึ้นร้อยละ 45 และผลกระทบจากการชะลอตัวของยอดนักท่องเที่ยวจีนเข้าไทยไตรมาสที่ 3 ปี 2561 ที่ลดลงร้อยละ 8.8 (ข้อมูลจากกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา)
สันติสุข คล่องใช้ยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. เอเชียเอวิเอชั่น (AAV) และบจ. ไทยแอร์เอเชีย (TAA) กล่าวว่า ผลประกอบการของ AAV (ถือหุ้นใน TAA ร้อยละ 55) ในไตรมาสนี้มีรายได้รวมอยู่ที่ 9,307 ล้านบาท ขาดทุนสุทธิ 358 ล้านบาท
ขณะที่ในเก้าเดือนแรกปี 2561 มีรายได้รวม 30,203 ล้านบาท ยังคงมีกำไรสุทธิอยู่ที่ 340 ล้านบาท
ทั้งนี้ผลประกอบการของไทยแอร์เอเชียไตรมาส 3 ปี 2561 ขาดทุนสุทธิ 656 ล้านบาท ส่วน 9 เดือนแรกปี 2561 มีกำไรสุทธิอยู่ที่ 611 ล้านบาท
สำหรับสถิติการดำเนินงานในไตรมาส 3 ปี 2561 พบว่าไทยแอร์เอเชียมีอัตราการขนส่งผู้โดยสารอยู่ที่ร้อยละ 81 มีจำนวนผู้โดยสารอยู่ที่ร้อยละ 5.12 ล้านคน และมีฝูงบินจำนวนทั้งสิ้น 60 ลำ โดยรับมอบเครื่องบินใหม่ 1 ลำในไตรมาสนี้
ไตรมาสนี้เพิ่มเส้นทางบินใหม่ 3 เส้นทาง และเปิดให้บริการแล้วคือกรุงเทพฯ (ดอนเมือง)-โคตาคินาบาลู เชียงใหม่-ย่างกุ้ง และเชียงใหม่-ไทเป รวมทั้งเพิ่มความถี่เส้นทางบินยอดนิยมทั้งภายในและระหว่างประเทศ
“ไตรมาสที่ 4 ถือเป็นฤดูกาลท่องเที่ยวสำคัญ เราเชื่อมั่นว่าสถานการณ์ต่างๆ จะดีขึ้น และหนุนให้ผลประกอบการเป็นไปตามที่คาดการณ์ โดยเฉพาะฐานปฏิบัติการการบินเชียงใหม่ที่เส้นทางระหว่างประเทศเติบโตอย่างน่าสนใจ”
สำหรับไตรมาสสุดท้ายของปี 2561 ไทยแอร์เอเชียมีแผนรับเครื่องบินเพิ่มอีก 2 ลำเพื่อชิงความได้เปรียบการแข่งขัน โดยได้เปิดสำรองที่นั่งในเส้นทางบินใหม่จำนวนมาก โดยเฉพาะเส้นทางระหว่างประเทศได้แก่กรุงเทพฯ-คยา (อินเดีย) กรุงเทพฯ-วิชาคาปัทนัม (อินเดีย) กรุงเทพฯ-ภูวเนศวร (อินเดีย) กรุงเทพฯ-หนิงโบ (จีน) กรุงเทพฯ-โคลัมโบ (ศรีลังกา) เชียงใหม่-ฮานอยเชียงใหม่-หนานชาง เชียงใหม่-ปักกิ่ง กระบี่-ฮ่องกง กระบี่-มาเก๊า รวมทั้งเส้นทางภายในประเทศพัทยา (อู่ตะเภา)-ขอนแก่น.
ข่าวเกี่ยวเนื่อง
- การบินไทยยังอ่วม ขาดทุนไตรมาส 3/61 กว่า 3.6 พันล้าน พิษน้ำมันแพง-ไต้ฝุ่นถล่ม-นทท.จีนหด
- สงครามน่านฟ้า อ่วมถ้วนหน้า การบินไทย นกแอร์ ขาดทุน แอร์เอเชีย บางกอกแอร์เวย์ส กำไรร่วง