“แคปปิตอล เอ” เจ้าของสายการบิน “แอร์เอเชีย” เปิดตัวบริการทางการเงิน “BigPay” ในประเทศไทย ประเดิมด้วยอี–วอลเล็ต และบัตรเสมือนจาก Visa ใช้ชำระเงินได้ทั่วโลก พร้อมฟีเจอร์ช่วยผู้ใช้เก็บออมเงิน อนาคตเตรียมเปิดระบบให้กู้สินเชื่อดิจิทัล (Digital Lending) ตั้งเป้าหมายปี 2567 ดึงผู้ใช้ 1 แสนราย และมุ่งสู่ 1 ล้านรายภายใน 2-3 ปีข้างหน้า
“BigPay” ฟินเทคในเครือ “แคปปิตอล เอ” เจ้าของสายการบิน “แอร์เอเชีย” เริ่มต้นเปิดตัวในประเทศไทยแล้ว หลังจากก่อตั้งครั้งแรกที่มาเลเซียในปี 2560 และขยายสู่สิงคโปร์ในปี 2563
การเปิดตัว BigPay ในประเทศไทย เริ่มจากฟังก์ชันกระเป๋าเงินดิจิทัลหรือ “อี-วอลเล็ต” ที่มีฟีเจอร์พิเศษคือ “Stash” ช่วยในการเก็บออมเงิน เพราะฟีเจอร์นี้ทำให้ผู้ใช้สามารถสร้างกระเป๋าย่อยเพื่อวางเป้าหมายการเก็บออมต่างๆ ได้ภายในแอปฯ เช่น ทริปท่องเที่ยว ซื้อของขวัญ
รวมถึงมีระบบชำระเงินผ่าน “Visa Virtual Card” หรือบัตรเสมือนแบบ Prepaid ที่ร่วมกับ Visa จึงใช้ชำระเงินได้ที่ 130 ล้านร้านค้าทั่วโลกที่รับชำระเงินผ่านระบบของ Visa อยู่ขณะนี้ สามารถใช้จ่ายแบบออนไลน์ก็ได้ หรือสั่งบัตรพลาสติก Visa Platinum Prepaid Card มาใช้ชำระเงินที่หน้าร้านค้าแบบออฟไลน์ก็ได้เช่นกัน
จุดขายของ BigPay แน่นอนว่าต้องเป็นอีโคซิสเต็มของแคปปิตอล เอเองที่มีทั้งสายการบิน “แอร์เอเชีย” และแอปพลิเคชันจองเที่ยวบินและที่พัก “AirAsia MOVE” ดังนั้น ผู้ใช้ BigPay จะได้รับสิทธิประโยชน์ต่างๆ เมื่อใช้ระบบนี้ชำระเงินในการจองเที่ยวบินกับแอร์เอเชีย หรือใช้จ่ายบนแอปฯ AirAsia MOVE
อนาคตมุ่งสู่ “สินเชื่อดิจิทัล”
“อภิฤดี ปรัชญาเศรษฐ” ผู้จัดการ BigPay ประจำประเทศไทย เปิดเผยว่า ขั้นต่อไปของแพลตฟอร์มคือจะมีการปล่อย “สินเชื่อดิจิทัล” (Digital Lending) ให้กับผู้ใช้ โดยจะเน้นการออกสินเชื่อส่วนบุคคลที่เหมาะกับอีโคซิสเต็มของเครือเอง เช่น การท่องเที่ยว
ขณะนี้อยู่ระหว่างพิจารณาโมเดลธุรกิจสินเชื่อดิจิทัลว่าจะเป็นการพัฒนาระบบด้วยตนเองและขอใบอนุญาตเอง หรือการร่วมมือกับพันธมิตรสถาบันการเงินที่มีใบอนุญาตอยู่แล้วในประเทศไทยซึ่งยังอยู่ระหว่างเจรจา ทั้งนี้ บริการสินเชื่อดิจิทัลขณะนี้ BigPay ในมาเลเซียเริ่มให้บริการไปแล้วและบริษัทเป็นผู้พัฒนาระบบเครดิตสกอริ่งด้วยตนเอง ในเชิงศักยภาพในการทำระบบจึงสามารถพัฒนาเองได้
อภิฤดีคาดว่าการปล่อยสินเชื่อดิจิทัลของ BigPay ในไทยอาจจะเริ่มต้นได้ภายในปี 2568 และจะทำให้แอปฯ เป็น “นีโอแบงก์” เต็มตัว
กลุ่มเป้าหมาย Gen Z เริ่มต้นที่ 1 แสนราย
สำหรับกลุ่มเป้าหมายของ BigPay อภิฤดีกล่าวว่าจะมุ่งเน้นไปที่กลุ่มคนรุ่นใหม่ “Gen Z” ซึ่งในไทยมีอยู่ประมาณ 13 ล้านคน ในจำนวนนี้มี 3 ล้านคนที่เข้าสู่ช่วงวัยทำงานแล้ว มีความต้องการบริการทางการเงินที่ช่วยจัดการและเก็บออมเงิน
เบื้องต้นคาดว่าภายในปี 2567 จะมีผู้ใช้งาน BigPay ประมาณ 1 แสนราย และตั้งเป้าว่าจะไปให้ถึง 1 ล้านคนให้ได้ภายใน 2-3 ปีข้างหน้า
ด้าน “โทนี เฟอร์นานเดส” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร แคปปิตอล เอ และ MOVE Digital เปิดเผยว่า ในแง่ธุรกิจสายการบิน ประเทศไทยถือเป็นตลาดใหญ่อันดับ 2 ของ “แอร์เอเชีย” ทำให้บริษัทมีฐานข้อมูลลูกค้าเป็นทุนเดิมที่จะช่วยต่อยอดให้กับธุรกิจการเงินได้ง่ายขึ้น รวมถึงที่ผ่านมาบริษัทมีการออกบัตรเครดิตร่วมกับ “ธนาคารกรุงเทพ” และได้ผลตอบรับที่ดีจากผู้บริโภคชาวไทย จึงมีความเชื่อมั่นในตลาดไทยว่าจะให้การตอบรับ BigPay
โทนียังเปิดเผยแผนทางธุรกิจของ BigPay ว่าจะขยายบริการไปยังประเทศฟิลิปปินส์และอินโดนีเซียในเร็วๆ นี้ ซึ่งจะทำให้ BigPay มีบริการใน 5 ประเทศอาเซียน สร้างอีโคซิสเต็มทำให้เป็นแพลตฟอร์มโอนเงินระหว่างประเทศได้
- มัดรวมแพลตฟอร์ม ‘E-Wallet’ ในไทย เหลือผู้เล่นคนไหนบ้าง หลัง ‘ดอลฟิน วอลเล็ท’ ยุติการให้บริการ
- “ANA” อันดับ 1 สายการบิน “ตรงเวลา” ที่สุดในเอเชีย ปี 2023 “ไทยแอร์เอเชีย” ติดอันดับ 3
“บางคนบอกว่าเรามาช้าไปแล้วในธุรกิจนี้ แต่ผมมองย้อนกลับไปเมื่อ 23 ปีก่อน เราเริ่มต้นสายการบินแอร์เอเชียด้วยเครื่องบินแค่ 2 ลำ จนมาถึงวันนี้เรามี 250 ลำ ผมจึงเชื่อว่าธุรกิจนี้ยังมีที่ให้เราเติบโต และหวังว่าเราจะทำได้แบบที่แอร์เอเชียเคยทำ” โทนีกล่าว “BigPay จะใช้ปรัชญาธุรกิจแบบเดียวกับแอร์เอเชียคือให้คุณค่าสมราคาและพาทุกคนไปทุกที่ที่ไม่เคยมีใครคาดคิด”