“ผมน่าจะเป็นคนแรกในไทยที่รู้จัก Twitter” ปลายปี 2549 ณ เมืองซานฟรานซิสโก ปรเมศวร์ มินศิริ ผู้ก่อตั้งและบริหาร kapook.com เดินอยู่ในงาน “Web 2.0 Expo & Conference 2006” และกำลังตื่นตาตื่นใจกับจอยักษ์รอบงานที่มีผู้คนพากันยืนส่งข้อความสั้นทั้งจากคอมพิวเตอร์และมือถือขึ้นไปไม่หยุดหย่อน และนั่นคือครั้งแรกที่เว็บ Twitter เปิดตัวขึ้นในโลกด้วยการเป็นสปอนเซอร์อย่างเป็นทางการของงานนั้น ในงานนั้นปรเมศวร์ลองเปิดชื่อ @kapook ใช้
เมื่อกลับมาไทย เขากลับต้องหยุดเล่นไปเป็นปี เพราะเวลานั้นยังใหม่มาก จะมีก็เพียงแค่ข่าวจากสำนักข่าว จนเมื่อต้นปี 2551 เมื่อคนวงการไอทีหันมาเล่น Twitter ปรเมศวร์ได้กลายเป็นเป็นนัก Tweet ตัวยงคนหนึ่ง
ในโลก ทวิตเตอร์ @iwhale ซึ่งหมายถึงปลาวาฬบนอินเทอร์เน็ต เป็นชื่อที่ปรเมศวร์ใช้ โดยมีข้อความที่เขา Tweet ส่งขึ้นไปเฉลี่ยวันละ 30 ข้อความนั้น ล้วนแต่เป็นส่วนตัว
“ที่จริงชื่อแรกที่ผมใช้เล่น Twitter รอบหลังนี่คือ KapookWebmaster ผลคือ คนไม่ค่อยคุยด้วย แต่หลายคนก็คุยแต่เรื่องงาน มีบางคนก็ขอฝากข่าวประชาสัมพันธ์ขึ้นเว็บบ้าง แต่พอผมสมัครชื่อใหม่ ตั้งชื่อว่า iWhale กลับทำให้คนมาคุยมากขึ้น
เหตุผลสำคัญของอาการติดทวิตเตอร์ของปรเมศวร์ทุกวันนี้คือ “ได้กระแส” ซึ่งเป็นประโยชน์ต่องานบริหารสื่อเว็บเรียลไทม์อย่างเว็บกระปุก และนี่เป็นเหตุผลที่เขาต้องติดตามอ่านข้อความ Tweet จากทุกคนจำนวนมาก ไม่ใช่แค่เพียงจากคนดัง
“ผมชอบอ่านข้อความจากคุณๆ ทุกคน ไม่ได้จำกัดว่าต้องเป็นคนดัง เพราะสิ่งที่ผมอยากได้ คือความหลากหลายทางความคิด ข้อความเดียวจากคนที่ไม่เคยรู้จักอาจทำให้วันนั้นของผมเปลี่ยนไปเลย”
สิ่งที่ปรเมศวร์ได้รับ คือ กระแสความสนใจของผู้คน นิยมไปไหน กินอะไร บ่นถึงอะไร และคิดอะไรอยู่ เขาดูได้จาก Link ต่างๆ ที่คนส่งขึ้นไป รวมถึงกระแสจากสิ่งที่คนนำข้อความคนอื่นมาบอกต่อๆ หรือ RT (Retweet) ถึงกัน
“ผมจะเอาข้อความที่ผมชอบ มา RT @ชื่อเจ้าของข้อความ แล้วใส่เครื่องหมาย > ต่อด้วยคำพูดของผมเอง เป็นวิธีคอมเมนต์คำพูดคนอื่นอีกที ช่วยให้ผมได้ความเห็นเรื่องนั้นเพิ่มขยายวงไปอีก และมีเรื่องคุยได้ตลอดเวลา”
นอกจากนั้นปรเมศวร์มอง Twitter เป็นแหล่งที่เขาจะได้ “ได้ความรู้จากผู้รู้โดยตรง” ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนๆ ที่รู้จักกันส่วนตัว หรือ “เพื่อนในทวิตเตอร์” ที่รู้จักเพียงแค่ติดตามอ่านกันในนี้ แต่ก็ยังยอมรับว่าส่วนใหญ่ก็เป็นการ “พูดคุย แซวกันสนุกๆ หรือการระบายอารมณ์ การบ่นให้คนอื่นฟัง” ซึ่งเป็นเขามองว่ากิจกรรมหลักของคนไทยในทวิตเตอร์ไปแล้ว
ปรเมศวร์บอกเล่าบรรยากาศชุมชนชาวTwitterในไทยที่ผ่านมาว่า “คนไทยใน Twitter ที่ผ่านมาจะมีน้ำใจ มีอะไรก็ช่วยแนะนำกันอยู่เสมอ ผู้ใช้มักจะนิยมส่งต่อข้อความหรือที่เรียกกันว่าการ ReTweet หรือ RT เพื่อส่งต่อข้อความที่ถูกใจ ข้อคิด คำขวัญดีๆ ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะข้อความช่วยเหลือ เช่น การขอรับบริจาคโลหิต ขอรับบริจาคสิ่งของจะ RT กันมาก”
ปรเมศวร์ยังชื่นชอบ Twitter เพราะสามารถเลือกที่จะ Follow เฉพาะจากแหล่งที่ตัวเองสนใจได้ ทำให้มีหน้าจอส่วนตัวที่แสดงเฉพาะ Feed ข่าวหรือข้อความจากเพื่อนหรือสำนักข่าว หรือแบรนด์สินค้าที่ตัวเองสนใจเท่านั้น
ความสะดวกที่จะเข้าใช้ผ่านหลากหลายอุปกรณ์ เช่น โทรศัพท์มือถือหลากรุ่นไปถึงคอมพิวเตอร์ โดยเฉพาะบน iPhone ซึ่งปรเมศวร์ใช้อยู่ และ BlackBerry ที่เพิ่งเริ่มใช้ โดยให้เหตุผลที่ทวิตเตอร์กลายเป็นกิจกรรมหลักบนมือถือที่ใช้เวลามากกว่าการพูดคุยด้วยเสียงว่า “เป็นธรรมชาติของคนที่ต้องสังคม เข้ามาทีไรก็มีเพื่อนได้ตลอดเวลา ไม่ต้องเปิดคอม”
ทั้งไอโฟน และ BlackBerry ล้วนแต่มีโปรแกรมที่ใช้กับทวิตเตอร์ ทั้งการถ่ายรูปส่งขึ้นทวิตเตอร์ และการตั้งค่าให้เครื่องเตือนเมื่อมีข้อความใหม่ๆ เข้ามา
ด้วยความประทับใจใน Twitter ปรเมศวร์ผลักดันกิจการ kapook.com ของเขาให้ลุยเต็มตัวในหลายๆ ส่วน ทั้งเปิดชื่อ Twitterไว้ 2 ชื่อ คือ @kapookdotcom สำหรับอัพเดตข่าวสารที่น่าสนใจ และ @kapookicare สำหรับการประกาศขอความช่วยเหลือฉุกเฉินและแง่คิดดีๆ ในการใช้ชีวิต กับสร้างคู่มือ Twitter มือใหม่ไว้ที่ twitter.kapook.com และออกบริการทดลองคล้ายกับ Twitter มาแล้วในชื่อ Kapook! OnAir ด้วย