“Twitter เป็นสื่อที่เร็ว ใช้ง่าย อ่านง่าย ชัดเจน ติดตามได้ เชื่อมโยงกับ Facebook ได้ดี เว็บหลักได้ดี” คือเหตุผลที่สาทิตย์ วงศ์หนองเตย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ ผู้ดูแลงานสื่อทั้งหมดของรัฐบาล บอกกับทีม POSITIONING ถึงการใช้ Twitter ของนายกฯอภิสิทธิ์ twitter.com/PM_Abhisit ซึ่งอยู่ในความดูแลของสาทิตย์ด้วย
ในมุมมองของสาทิตย์ สื่อเด่นที่สุด 3 อย่าง จะต้องทำงานสอดประสานไปด้วยกัน คือ Twitter – Facebook – เว็บไซต์หลัก pm.go.th ซึ่งทำหน้าที่ต่างๆ กันไปโดยทวิตเตอร์รับบทหลักในการแพร่ประเด็นหัวข้อสั้นๆ ที่สดใหม่ไปถึงคนจำนวนมากๆ พร้อมกันอย่างทันที พร้อมลิงค์ให้เข้าไปดูรูปที่เว็บไซต์หลักที่จัดเนื้อหาคอนเทนต์ไว้อย่างเต็มที่ ส่วนลิงค์ไปที่เฟซบุ๊กเหมาะกับการสร้างชุมชนพูดคุยกันอย่างใกล้ชิดกว่า Twitter
“ต้องไม่เป็นราชการ ต้องใกล้ชิด อบอุ่น เป็นกันเอง” คือหลักสำคัญที่สุดที่สาทิตย์และทีมงานทุกคนยึดถือร่วมกันในการใช้สื่อออนไลน์ทางการเมืองยุคใหม่ ทั้งข้อความ และภาพบน Twitter, Facebook ไม่ใช้ภาษาราชการ ใช้ภาษาง่าย เป็นกันเอง
ส่วนภาพถ่ายต้องเป็นมุมมองที่แปลก แตกต่างจากสื่อหลักทั่วไป พิเศษไม่มีที่อื่น ดูผ่อนคลาย ต้องไม่ใช้รูปหน้าตรงเป็นระเบียบหน้าฉากอย่างรูปทางการทั่วไป สาทิตย์ต้องว่าจ้างช่างภาพมืออาชีพมา 1 คน เพื่อติดตามนายกฯหรือรัฐมนตรี ตามแนวทางดังกล่าวมาใช้กับสื่อออนไลน์ของรัฐบาลโดยเฉพาะ
นอกจากเครือข่ายสังคมอย่าง Twitter หรือ Facebook ภาพต่างๆ ยังถูกนำไปใช้บนเว็บไซต์นายกรัฐมนตรีที่ pm.go.th เว็บใหม่ที่จะนำเสนอทุกงานและคำพูดโดยตรงจากนายกฯอภิสิทธิ์ ซึ่งตั้งธง Causal ไว้ว่าต้องนำเสนออย่างไม่เป็นราชการ และดูเป็นบุคคลมากที่สุดเช่นกัน
“จุดแข็งของท่านนายกฯ คือ มีบุคลิกที่เป็นคนรับฟังผู้อื่น เป็นคนไนซ์ และเป็นคนหนุ่มที่ทันสมัย” สาทิตย์เผยถึงเหตุผลแรกซึ่งเป็นที่มาของการเลือกโทนอบอุ่นเป็นกันเองในการนำเสนอเนื้อหาต่างๆ ส่วนเหตุผลอีกทางคือตัวอย่างความสำเร็จจาก บารัค โอบามา ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ก็ชนะการเลือกตั้งมาด้วยนโยบาย Change ที่ใช้ New Media อย่างครบเครื่อง ซึ่งสาทิตย์ศึกษา และนำมาประยุกต์ใช้
“โอบามาบอกเล่าชีวิตส่วนตัว แต่ก็มีสาระของงานที่ทำ มีข้อมูลข่าวสาร มีตัวเลข ไปพร้อมๆ กันได้ และก็ใช้เว็บต่างๆ อย่างครบวงจร” สาทิตย์เผยความประทับใจในแคมเปญออนไลน์ของโอบามาจนต้องศึกษาแล้วนำมาประยุกต์เป็นแนวให้ “โอบามาร์ค”
สาทิตย์ชี้ให้เห็นความต่างที่ต้องแยกให้ชัด ระหว่างแคมเปญออนไลน์เพื่อการหาเสียง กับแคมเปญออนไลน์สำหรับผู้นำรัฐบาลที่ต้องสื่อสารกับสังคมว่า“ช่วงเลือกตั้งก่อนเข้ามา โอบามาเขาก็ใช้หาเสียงเต็มที่ แต่ตอนนี้ก็ปรับเว็บให้เป็นการนำเสนอชีวิตผู้นำ ในแบบที่ไม่เป็นทางการ” ซึ่งแนวทางหลังนี่เองที่สาทิตย์ต้องศึกษาเป็นพิเศษเพื่อใช้งานปัจจุบัน
แม้เคสของโอบามาจะเป็นโมเดลสำคัญ แต่สาทิตย์ก็ศึกษาเคสของคนอื่นๆ ด้วย เช่นฮิลลารี คลินตัน ช่วงที่แข่งชิงตัวแทนพรรคกับโอบามา ก็ใช้สื่อเว็บในการหาอาสาสมัครหนุ่มสาวมาช่วยงานได้อย่างน่าสนใจ ซึ่งสาทิตย์ก็นำมาประยุกต์ใช้สำหรับงานพรรคประชาธิปัตย์สำหรับแคมเปญ “ยุวชนประชาธิปัตย์” ด้วย
นอกจากการถ่ายทอดสารไปถึงประชาชนแล้ว สาทิตย์ยังใช้ทวิตเตอร์รับข้อมูลตอบกลับด้วย โดยตอบรับเรื่องร้องเรียนต่างๆ อยู่เสมอ ส่วนคำถามจำนวนมากนั้นก็เปิดให้ผู้ติดตามอ่านเข้ามาโหวตคำถามที่ถูกใจกัน และเลือก 3 คำถามไปส่งให้นายกฯอภิสิทธิ์ตอบเองทุกสัปดาห์
“ที่อังกฤษประชาชนเขาถามกันเป็นคลิปเลยนะ ใช้มือถือถ่ายตัวเองพูดถามนักการเมือง แล้วส่งขึ้นเว็บเลย” สาทิตย์ยกเคสประทับใจจากอีกประเทศที่ได้เคยพบเห็นมา
คู่แข่งสำคัญอย่างพรรคเพื่อไทย และความเคลื่อนไหวของอดีตนายกฯทักษิณ ชินวัตร ก็เป็นอีกความเคลื่อนไหวที่เขาต้องติดตามอย่างใกล้ชิด
“ฝ่ายนั้นมีเป้าหมายว่าต้องเป็นข่าวตลอด ต้องรักษาความมั่นใจให้ทีมงาน สร้างความมั่นใจให้แฟนๆ” สาทิตย์วิเคราะห์สรุปการใช้ทวิตเตอร์ของฝ่ายอดีตนายกฯทักษิณ พร้อมย้ำว่าแตกต่างกับของนายกฯอภิสิทธิ์และพรรคประชาธิปัตย์
“ต้องจริงใจ ไม่ใช่มาเอาชนะคะคานกันทางตัวเลข ไม่ใช่ว่าต้องติดอันดับโหวตให้ได้” สาทิตย์ย้ำจุดยืนบน Twitter ที่ไม่ต้องการการช่วงชิงตัวเลข ยอดผู้ตามอ่าน หรือ โollower แต่ต้องการเผยแพร่ข้อมูล ให้กับผู้สนใจอย่างแท้จริง
ส่วนตัวของสาทิตย์ สนใจอินเทอร์เน็ตมาตั้งแต่ปี 2538 เพราะมองเห็นบทบาทของอินเทอร์เน็ต ว่าเข้ามามีอิทธิพลทางความคิดต่อคนในสังคมไทยมากขึ้นเรื่อยๆ ไล่มาตั้งแต่เว็บบอร์ด เช่น pantip.com มาถึง hi5, Facebook และล่าสุดคือ Twitter ที่เขาได้ยินครั้งแรกจากกรณีที่ผู้สื่อข่าวอเมริกันถูกจับในอิหร่านแล้วแอบส่งข้อความผ่านทวิตเตอร์มาแจ้งกับเพื่อนๆ และ Follower ทั้งหลายจนได้รับการช่วยเหลือเป็นข่าวดังไปทั่วโลก
สาทิตย์ก็ระดมคนตั้งทีมงานกว่าสิบคน มาจัดทำและดูแลเว็บกับสื่อ Social Network ต่างๆแบบครบวงจรทั้งเว็บรัฐบาลที่ thaigov.go.th , เว็บนายกฯที่ pm.go.th และเครือข่ายสังคมออนไลน์อย่าง hi5, Facebook และ Twitter สำหรับ @PM_Abhisit ของนายกฯอภิสิทธิ์
“ผมบอกทุกคนในพรรคว่าถ้าใครอยากทำแต่ทำไม่เป็นก็จะสอน แต่พรรคเรายังไม่ถึงกับมีนโยบายว่าทุกคนต้องเล่น”
หลายๆ คนในพรรคประชาธิปัตย์หันมาเล่นทวิตเตอร์และเฟซบุ๊กมากขึ้น ส่วนนายกฯอภิสิทธิ์นั้น สาทิตย์ยอมรับว่ามีทีมงานช่วยพิมพ์ให้ แต่ตรวจดูด้วยตัวเองเป็นประจำ ทั้งนี้เพราะภารกิจนายกฯมากมายและรัดตัว จึงต้องมีทีมงานมาลงมือปฏิบัติตามแนวทางที่นายกฯ จะเป็นคนคิดเอง กำหนดไว้
“ทีมงานเป็นแค่คนรับความคิด รับถ้อยคำ แล้วไปลงมือเขียน ลงมือทำ” สาทิตย์อธิบายพร้อมย้ำว่า @PM_Abhisit ถือว่าเป็นทวิตเตอร์ของนายกฯอภิสิทธิ์โดยตรง
ส่วนตัว สาทิตย์มีมือถือ 3 เครื่อง เครื่องแรกดั้งเดิมคือโนเกียสำหรับติดต่องานทั่วไป เครื่องที่สองคือไอโฟนสำหรับเข้าใช้เว็บต่างๆ และล่าสุดเครื่องที่สามคือแบล็คเบอร์รี่สำหรับรับอีเมลแบบ pushmail ตลอดเวลา
แม้ประเทศไทยจะมียอดผู้ใช้อินเทอร์เน็ต 14 ล้านคนแล้ว แต่ก็ยังมีผู้คนที่ยังเข้าไม่ถึงอินเทอร์เน็ตเป็นส่วนใหญ่ในสังคมอยู่ ซึ่งสาทิตย์มองว่าต้องขยายโอกาสไปให้เร็วที่สุด ทั้งผ่านโรงเรียน หมู่บ้าน อบต. และขยายอินเทอร์เน็ตไปกับสายเคเบิลทีวีท้องถิ่น ซึ่งรัฐบาลนี้กำลังทำผ่านกระทรวงไอซีที ทั้งนี้เพราะ รมต. สาทิตย์ มองว่าบนอินเทอร์เน็ต และ Social Network นั้น “โลกของผู้นำกับโลกของประชาชนที่เดิมนั้นห่างไกลกัน จะเข้ามาใกล้ชิดกันมากขึ้น”