2 คำถามที่น่าสนใจเกี่ยวกับอนาคตของทวิตเตอร์ คือบริษัทเจ้าของ Twitter จะหารายได้จากไหน จะปรับธุรกิจและบริการไปอย่างไร และคำถามที่สองคืออนาคตของการใช้งานทวิตเตอร์จะพัฒนาปอย่างไร?
ปัจจุบันรายได้ของ Twitter มาจากการให้บริการข้อความไปยัง SMS บนมือถือของสมาชิกร่วมกับผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือค่ายต่างๆ ในสหรัฐอเมริกา อังกฤษ และอินเดีย
แต่ล่าสุดบริษัท Twitter กำลังเพิ่มช่องทางทำธุรกิจใหม่ ผ่านการให้บริการข้อมูลความถี่ของคำต่างๆ ที่มีผู้ทวีตอย่างละเอียดเพื่อให้บริษัทโฆษณาและฝ่ายการตลาดของบริษัทต่างๆ ซื้อไปใช้งาน ซึ่งผู้ใช้ทั่วๆ ไปสามารถลองใช้งานระบบเสิร์ชข้อความทวีตทั่วโลกนี้ได้ในหน้าแรกของtwitter.com ก่อนที่จะล็อกอิน
บริการนี้มีชื่อว่า “Trending Topics” ซึ่งโชว์ประสิทธิภาพอยู่ที่หน้าแรกเว็บทวิตเตอร์ เช่นเมื่อมีข่าวเซอร์บ๊อบบี้ร็อบสั้น อดีตโค้ชฟุตบอลทีมชาติอังกฤษเสียชีวิต เพียง 1 นาทีเท่านั้นระบบก็รายงานขึ้นมาว่า คำ “RIP Sir Bobby Robson” กลายเป็นคำทวีตยอดฮิต
ความเร็วแบบรีลไทม์เช่นนี้ Google ไม่อาจเทียบได้ เพราะกว่าข่าวเกี่ยวกับเซอร์บ๊อบบี้จะถูกเสิร์ชเจอได้ในกูเกิลนั้นก็ต้องรออย่างน้อยครึ่งวันขึ้นไป
เมื่อเป็นเช่นนี้ “Trending Topics” จึงกลายเป็นเครื่องมือสำรวจวิจัยทางการตลาดระดับโลกตัวใหม่ แข่งกับ “Google Trend” และ “Google Insight” ได้อย่างสมศักดิ์ศรี ต่างกันที่ของกูเกิลนั้นให้บริการฟรีเพราะใช้ร่วมกับบริการคิดเงินอย่าง Google Adwords อยู่
และกับคำถามที่สอง แนวโน้มอนาคตที่ชัดเจนของทวิตเตอร์อีกข้อคือ กำลังมีบริการรูปแบบใหม่ๆเกิดขึ้นมารายล้อมทวิตเตอร์มากมาย เช่น…
• โปรแกรมแบบ Twitter Client เป็น “หน้ากาก” ครอบทวิตเตอร์ไว้กำลังเป็นที่นิยม มีหน้าจอที่ออกแบบใหม่ให้ใช้งานทวิตเตอร์ได้ง่ายกว่าบนเว็บ twitter.com เอง โดยออกแบบให้เหมาะกับแต่ละที่เช่นบน iPhone ก็มีโปรแกรมชื่อ “TwitterFon” , บน BlackBerry ก็มี “TwitBerry”
• มีการผสาน Twitter เข้ากับเว็บหลากหลายขึ้นทุกวัน และ Social Network อื่นๆ ชัดที่สุดคือบน Facebook ที่ปัจจุบันมี App ที่ชื่อ “Twitter” ช่วยให้โพสต์ข้อความที่เดียวแล้วขึ้นแสดงทั้งสองที่ได้ และช่วยให้ใช้งาน Twitter แบบที่มีหน้าจอของทวิตเตอร์เองในเว็บ Facebook ได้โดยไม่ต้องเข้า 2 เว็บ และนอกจากนี้ยังมี Excala.im ให้ใช้ทวิตเตอร์ได้บนหน้าจอ Gmail ของกูเกิล และยังมีบริการลักษณะนี้อีกหลายแห่งที่จะทำให้จอ Twitter ไปโผล่ได้ทุกที่รวมถึงหน้าแรกของเว็บท่าอย่าง yahoo.com
• มีบริการอื่นๆ ทั้งที่เกี่ยวและไม่เกี่ยวกับการส่งข้อความ แต่กลับใช้ระบบ Twitter เป็นฐาน เช่น
บริการลงรูปประกอบข้อความ เช่น twitpic.com บริการถ่ายทอดสดภาพวิดีโอพร้อมโชว์ข้อความทวีตแบบเรียลไทม์ไปพร้อมกันอย่าง ustream.tv ที่ทักษิณ ชินวัตร ใช้ในงานเลี้ยงก๋วยเตี๋ยวเสื้อแดง
บริการตั้งเวลาทวีตล่วงหน้า เช่น tweetlater.com ใช้เวลาบรรยายหรือมีงานอีเวนต์ต่างๆ สามารถให้มีข้อความใหม่ๆ ส่งขึ้นตามคิวที่ตั้งไว้ล่วงหน้าได้ในชื่อของเราในขณะที่เรากำลังบรรยายหรือจัดงานอยู่
บริการตั้งเวลาส่วนตัวกันลืม เช่น rememberthemilk.com ให้เราตั้งเวลาทวีตข้อความส่วนตัวแบบที่เราเองเท่านั้นจึงจะเห็นผ่าน Direct Message ซึ่งเมื่อใช้ร่วมกับมือถือที่เตือนข้อความใหม่ได้เช่น BlackBerry ก็เสมือนมี Organizer ส่วนตัวคอยดังเตือนให้ทำเรื่องต่างๆ ตรงเวลา
บริการทำบัญชีรายจ่าย เช่น twitpay.com ที่ให้เราทวีตข้อความบอกตัวเอง หรือบอกเพื่อนๆ ด้วยก็ทำได้ ว่าได้ใช้จ่ายเงินอะไรเท่าไรไปบ้างแล้ว และจากนั้นสามารถไปเช็กยอดรายวัน รายสัปดาห์ รายเดือน และดูนิสัยแนวโน้มการใช้เงินของตัวเองได้ตลอดเวลา
จาก 2 ประเด็นใหญ่ ความเคลื่อนไหวของผู้ผลิตระบบทวิตเตอร์เอง และบริษัทอื่นๆ จะเห็นได้ว่าทวิตเตอร์ได้ขยายอิทธิพลจากการเป็นเครื่องมือรับส่งสื่อสาร ขึ้นมาเป็น “ระบบปฏิบัติการ” หรือ OS แห่งข้อความสั้นราวกับที่ Windows เป็น OS แห่งคอมพิวเตอร์ สุดแท้แต่ใครจะไปพัฒนาซอฟต์แวร์หรือระบบต่างๆ ขึ้นมาประยุกต์ใช้ก็ตามแต่จินตนาการและเทคโนโลยี แล้วตัดสินกันที่ใครจะตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของผู้คนรวมถึงภาคธุรกิจได้มากที่สุด