การเกิดขึ้นของ “ฟินเทค” ถือเป็นจุดเปลี่ยนเกมและคู่แข่งที่น่ากลัวของ “ธนาคาร” ในเมืองไทยเลยทีเดียว เนื่องจากวันนี้โลกกำลังก้าวเข้าสู่ยุคดิจิทัล ฟินเทคจึงมีบทบาทสำคัญในการเข้ามาตอบสนองพฤติกรรมของผู้บริโภค เช่น บริการชำระเงินหรือแพลตฟอร์มลงทุนกู้ยืม ผลักให้ธนาคารต้องเร่งปรับตัวก่อนที่จะถูกกลืนกินจนไม่เหลือพื้นที่ยืนของตัวเองอีกต่อไป
“ธนาคารไทยพาณิชย์” หรือ SCB เป็นหนึ่งในธนาคารที่ปรับตัวเองอย่างหนัก เพื่อรับมือการเปลี่ยนเกมในครั้งนี้ โดยภาพเริ่มชัดเจนมาตั้งแต่ปลายปี 2017 ที่ใช้เงินกว่า 4,000 ล้านบาท ยกเครื่อง “SCB EASY” Mobile Banking ของตัวเอง ครั้งนั้นได้เพิ่มบริการต่างๆ ให้เหมือนกับยกสาขามาไว้ในสมาร์ทโฟน และประกาศฟรีค่าธรรมเนียม เพื่อดึงดูดให้ผู้บริโภคหันมาใช้ช่องทางนี้กันมากขึ้น
ธนา เธียรอัจฉริยะ รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส Chief Marketing Officer ธนาคารไทยพาณิชย์ เคยพูดเอาไว้ว่า สงครามระหว่างธนาคารและฟินเทคในปี 2019 จะอยู่ที่การให้ “บริการสินเชื่อ” ซึ่งต้องง่ายและตอบโจทย์กับผู้บริโภค SCB จึงเริ่มเปิดบริการยื่นขอ “สินเชื่อส่วนบุคคล” ผ่าน SCB EASY ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา โดย ณ ตุลาคม ปล่อยไปแล้วทั้งสิ้น 4,700 ล้านบาท
Next Step ของการขอสินเชื่อออนไลน์ที่ SCB กำลังจะรุกคืบอยู่ที่กลุ่มของผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อย หรือ SME เนื่องจากกลุ่มนี้ต้องการเงินทุนมาต่อยอดธุรกิจมากที่สุด SCB จึงมอบหมายให้ “เอสซีบี อบาคัส” บริษัทเทคโนโลยีในเครือ นำ AI และ Machine Learning มาใช้ในการให้พัฒนาบริการสินเชื่อออนไลน์สำหรับกลุ่ม SME ซึ่งกลุ่มนี้มีกว่า 3 ล้านรายทั่วประเทศ
ใช้ชื่อว่า “สินเชื่อแม่มณีศรีออนไลน์” นำร่องปล่อยสินเชื่อออนไลน์ตั้งแต่เดือนมิถุนายนที่ผ่านมา กับร้านค้าที่ขายบนแพลตฟอร์มอิเล็กทรอนิกส์ (e-Marketplace) ของลาซาด้าก่อน ซึ่งหลักพิจารณาจะต้องมีเป็นร้านค้าที่ขายบนลาซาด้าไม่ต่ำกว่า 3 เดือน
ไม่ต้องยื่นเอกสาร เพียงยื่นความจำนงผ่าน clickcash.scb.co.th แล้ว SCB จะดึงข้อมูลของผู้ขอสินเชื่อจากแหล่งต่างๆ ที่ผู้ยื่นเซ็นอนุญาต เช่น พฤติกรรมซื้อขายที่เกิดขึ้นในลาซาด้า เครดิตบูโร ถ้ามีบัญชี SCB อยู่แล้วก็จะดึงมาประกอบ เป็นต้น
ดร.สุทธาภา อมรวิวัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอสซีบี อบาคัส จำกัด บอกว่า เมื่อทุกอย่างเป็นดิจิทัล 100% การอนุมัติจึงใช้เวลาประมาณ 15 นาที จากเดิมที่ใช้เวลาตั้งแต่ 3 วันถึงหนึ่งสัปดาห์ ด้วยไม่มีต้นทุนทางเอกสาร จึงทำให้ลดเบี้ยลดลงไปด้วยอยู่ที่ 19.37% ต่อปี (1.59% ต่อเดือน) เมื่อเทียบกับสินเชื่อบัตรเงินสดที่มีดอกเบี้ยเฉลี่ย 28%
วงเงินที่ได้จะไม่เกิน 3 ล้านบาท ไม่ต้องมีหลักทรัพย์และบุคคลมาค้ำประกัน แต่ต้องชำระภายใน 24 เดือน นับตั้งแต่เปิดให้ยื่นมีผู้ประกอบการขอยื่นแล้ว 2,378 ราย โดยมีวงเงินเบื้องต้น 500 ล้านบาท ขณะนี้ใกล้เต็มแล้ว
จริงๆ แล้วโครงการนี้อยู่ระหว่างการทดสอบใน SandBox ของธนาคารแห่งประเทศไทยอยู่ โดยได้ยื่นขยายการอยู่ใน SandBox ไปจนถึงปลายปีหน้า เนื่องจากจนถึงตอนนี้ยังไม่มีผู้กู้รายใดที่ผิดนัดชำระหนี้เลย ซึ่งตามปรกติแล้วโครงการที่ในระหว่างทดสอบ ต้องศึกษาผลกระทบรอบด้านเสียก่อน แต่ทั้งนี้ได้มีการขยายและมีการขยายขอบเขตพื้นที่การให้บริการจากกรุงเทพฯ และปริมณฑลไปยัง 20 จังหวัดทั่วประเทศแล้ว
“ตอนนี้อยู่ในระหว่างของบอร์ดของธนาคาร เพื่ออนุมัติวงเงินสินเชื่อเพิ่ม ณ วันนี้ยังตอบไม่ได้ว่าจะมีเท่าไหร่ แต่เชื่อว่าเพิ่มหลายเท่าตัวอย่างแน่นอน เพราะมีคนสนใจจำนวนมาก”
ดีลนี้ถือว่า “Win Win” สำหรับทั้ง SCB และลาซาด้า โดยที่ SCB ได้โนว์ฮาวบางส่วนของการทำอีคอมเมิร์ซ และได้ฐานลูกค้าสินเชื่อเพิ่ม ส่วนลาซาด้าก็ได้จุดแข็งด้านสินเชื่อมาเติมความเชื่อมั่น เพื่อดึงดูดให้ผู้ประกอบการยังอยู่บนแพลตฟอร์มต่อไป
นอกเหนือจากกลุ่มคอมเมิร์ซ SCB ยังวางแผนขยายไปยังกลุ่มอื่นๆ โดยจะต้องเป็นธุรกิจที่ทำกับผู้บริโภคทั่วไปเป็นหลัก ตอนนี้เล็งกลุ่มบริการไว้ โดยต่อไปการอนุมัติสินเชื่อจะใช้ข้อมูลอื่นๆ เพิ่มเติม เช่น การชำระหนี้ เพื่อประเมินผู้กู้ก่อนที่จะกำหนดวงเงินดอกเบี้ย ซึ่งมีความเป็นไปได้ที่จะห่างกันประมาณ 1-3%.