แบรนด์จะรับมืออย่างไร ในยุคที่ผู้บริโภคคาดเดาได้ยาก การต้องเผชิญกับเทคโนโลยีใหม่ทุกรูปแบบ
มาอัพเดตกับเทรนด์การตลาดในอนาคต ภายในงาน ”Marketing Day 2018” จัดขึ้นโดย สมาคมการตลาดแห่งประเทศไทย ที่บอกชัดเจนว่าเป็นยุคของการทำธุรกิจ เจ้าของกิจการ ต้องสวมหัวใจนักการตลาด หรือ Marketpreneurship
อรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ นายกสมาคมการตลาดแห่งประเทศไทย มองว่า ภาพรวมธุรกิจปีนี้และปีหน้า ยังเห็นโอกาสเติบโต เนื่องจากจะมีการเลือกตั้ง สินค้าอุปโภคบริโภคจะขายดี แต่นักธุรกิจ ผู้ประกอบการ และนักการตลาด จะต้องมีการปรับตัวเพื่อตอบรับความเปลี่ยนแปลง
เทรนด์การตลาดใน 1-2 ปีที่จะมาถึง จะเริ่มเปลี่ยนจาก Globalization เป็น Localization มากขึ้นเป็นการเติบโตจากภายในสู่ภายนอกเพราะโอกาสทางธุรกิจภายในประเทศนั้นจะมีมากขึ้นและจะมีโอกาสเติบโตมากขึ้น
แต่การจะคว้าโอกาสได้นั้น องค์กรต้องมีการปรับตัว เจ้าของกิจการและนักการตลาดจะพึ่งพายอดขายผ่านการสร้างแบรนด์ด้วยโฆษณาประชาสัมพันธ์อย่างเดียวนั้นไม่พออีกต่อไป
วิธีคิด วิธีปฏิบัติของคนในองค์กรก็ต้องเปลี่ยน ผู้ประกอบการรายย่อยที่ถนัดด้านการผลิต ก็จะต้องมีหัวใจนักการตลาด วางยุทธศาสตร์มากขึ้น ส่วนองค์กรใหญ่ ก็ต้องปรับตัวให้มีความฉับไวและยืดหยุ่นแบบผู้ประกอบการรายย่อย ธุรกิจยุค Marketpreneurship ต้องก้าวสู่ความเปลี่ยนแปลงในการทำธุรกิจ รวมถึงนำเทรนด์เทคโนโลยีที่มีประโยชน์มาให้เสริมประสิทธิภาพ
ในปี 2562 นี้ เทคโนโลยีที่น่าจับตามองคือ เรื่องของ Connected Cloud, Chatbots, Data Analytic และการนำ data ไปใช้ รวมถึงเทคโนโลยีอื่นๆ เช่น IoT, AI, Machine Learning และ Edge Computing สิ่งเหล่านี้จะมีบทบาทเป็นอย่างยิ่งในโลกยุคใหม่ และธุรกิจที่เปิดรับและนำเทคโนโลยีมาปรับใช้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพทั้งการผลิตและการตลาด ย่อมมีโอกาสประสบความสำเร็จสูงกว่าบริษัทที่ยังไม่ทำ
ผู้ชนะในน่านน้ำของการแข่งขันในยุคใหม่ ไม่ได้วัดกันที่การเป็น ปลาใหญ่ หรือ ปลาไว แต่ต้องเป็น “ปลาที่ใช่ หรือ The Right Fish” ซึ่งหัวใจแห่งความสำเร็จ นั้นประกอบด้วย “5 ใช่” คือ Right People – Right Product – Right Purpose – Right Approach และ Right Time
Right People – คนที่ใช่
หมดยุค mass marketing หรือ one size fit all กำลังถูกทดแทนด้วย personalized marketing หรือการตลาดระดับบุคคล กลุ่มผู้บริโภคมีการแบ่งย่อยเป็นอย่างมาก แบรนด์ต้องมีความชัดเจนว่าสินค้าและบริการนั้นถูกสร้างขึ้นมาเพื่อใคร
การตั้งโจทย์ที่ถูกต้อง ต้องเริ่มตั้งแต่การตั้งกลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจน เพื่อตอบความต้องการของกลุ่มเป้าหมายให้ได้อย่างตรงจุด
Right Product – สินค้าดีแล้วต้องโดน
การพัฒนาสินค้าและบริการไม่ได้มาจากความเชี่ยวชาญขององค์กรเพียงอย่างเดียวแต่ต้องมาจากความต้องการของลูกค้าในสมัยนี้ไม่ใช่ว่าแค่ผลิตสินค้าดีมีคุณภาพแล้วคนจะหลั่งไหลมาซื้อ
แต่นอกจากดีแล้วยังต้องโดนอีกด้วย คือ สินค้าที่ใช่นั้น ต้องโดนใจและตอบโจทย์ในการแก้ปัญหาในชีวิตของลูกค้า ดังนั้น แบรนด์จึงต้องใกล้ชิดกับผู้บริโภคให้มากขึ้น และทำความเข้าใจกับความต้องการของพวกเขาให้ได้อย่างถ่องแท้
Right Purpose – วัตถุประสงค์ที่ใช่
เราอยู่ในยุคของ Shared Purpose เป็นเรื่องสำคัญเพราะผู้บริโภคมีทางเลือกมากมาย ความชอบและการเลือกซื้อเป็นระดับบุคคลมากขึ้น ผู้บริโภคมองหาแบรนด์ที่เป็นเหมือนเพื่อนของเขา คิดอะไรเหมือนกัน มีความเชื่อและมีจุดหมายในชีวิตที่เหมือนกัน
ดังนั้น แบรนด์ที่มีวัตถุประสงค์ที่ยิ่งใหญ่มากกว่าแค่การขายสินค้าและบริการ จึงมักเป็นแบรนด์ที่ถูกเลือก โดยแบรนด์เหล่านี้ต้องพิสูจน์ความตั้งใจดีด้วยการกระทำ ดังนั้นเรื่องของความรับผิดชอบทางสังคม หรือ CSR จึงไม่ใช่แค่กิจกรรมชั่วคราว แต่ถูกฝังลงไปในขั้นตอนและแนวคิดของสินค้าด้วย ซึ่งสิ่งเหล่านี้มีผลต่อการตัดสินใจในการเลือกซื้อ เลือกแนะนำของลูกค้าเป็นอย่างมาก
Right Approach & Right Time ถูกวิธี ถูกที่ และ ถูกเวลา
ในยุคที่ผู้บริโภคเป็นใหญ่ แบรนด์ต้องสร้างความเข้าใจใน customer journey และเข้าให้ถึงผู้บริโภคให้ถูกวิธี ถูกที่ และ ถูกเวลา โดยไม่มีเส้นกั้นระหว่าง online และ offline อีกต่อไป ทั้งการสื่อสารช่องทางการขายและการเชื่อมโยงข้อมูลของลูกค้าทุกอย่างต้องถูกเชื่อมโยงเข้าด้วยกัน
เจ้าของกิจการและนักการตลาดต้องมองภาพใหญ่ให้ชัดเจนเป็นหนึ่งเดียวรวมถึงการเก็บและวิเคราะห์ข้อมูลจากช่องทางต่างๆ จะมีบทบาทสำคัญเป็นอย่างยิ่งต่อความสำเร็จ.