“ไทยเบฟ” รายได้ ปี 61 ทะลุ 2.2 แสนล้าน แต่กำไรลดฮวบ เหล้า-เบียร์ เจอเศรษฐกิจซบ ภาษีเหล้า

Thanatkit

นับเป็นปีที่ท้าทายอยู่ไม่น้อยสำหรับ “บริษัทไทยเบฟเวอเรจ จำกัด  (มหาชน)” เมื่อผลประกอบการปีงบประมาณ 2018 (ตุลาคม 2017 – กันยายน 2018) แม้จะมีรายได้ที่ “เพิ่มขึ้น” เป็นตัวเลข 2 หลัก แต่ผลกำไรกลับ “ลดลง” เป็นตัวเลข 2 หลัก

ภาพรวมผลประกอบการปีที่ผ่านมามีรายได้รวมทั้งสิ้น 229,695 ล้านบาท เติบโต 20.9% จากปีก่อนหน้าที่มีรายได้ 189,997 ล้านบาท โดยมีกำไรสุทธิ 20,726 ล้านบาท ลดลง 40.2% หรือหายไปหมื่นกว่าล้านจากกำไร 34,681 ล้านบาทที่เคยทำได้ในปี 2017

ไทบเบฟ” ให้เหตุผลที่ทำให้ตัวเลขกำไรลดลงอย่างน่าตกใจเกิดจากธุรกิจสุราเบียร์และธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐที่ยังไม่ฟื้นตัวอย่างเห็นได้ชัด ทำเอาผู้บริโภคระมัดระวังการใช้จ่ายโดยเฉพาะกลุ่มที่รายได้น้อย

ยิ่งไปกว่านั้นรายได้ 60% ของไทบเบฟมาจากเมืองไทย การจัดเก็บภาษีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในอัตราใหม่ ที่เพิ่งประกาศใช้เมื่อปลายปี 2017 และเก็บภาษีเพิ่มอีก 2% เข้ากองทุนสูงอายุ นับเป็นอีกปัจจัยที่เข้ามากระทบพอสมควร เพราะทำให้ต้นทุนเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะกับสุรา ที่ถือเป็นรายได้หลัก

แต่ทั้งนี้ก็มีเรื่องให้ไทยเบฟหายใจคล่องขึ้นมาบ้างจากรายได้ที่เพิ่มขึ้นกว่า 20% เป็นผลดีต่อเนื่องมาจากการ “ซื้อกิจการ” เหล้า เบียร์ และธุรกิจอาหารในต่างประเทศและไทย 4 ดีล รวมมูลค่า 2 แสนล้านบาท แม้จะทำให้ไทยเบฟต้องออกหุ้นกู้ตามในไตรมาสถัดมาอีก 2 ล็อต รวมมูลค่า 127,000 ล้านบาท เพื่อนำไปปรับโครงสร้างหนี้ก็ตาม

เมื่อดูโครงสร้างรายได้ที่เกิดขึ้นในปี 2018 จะพบว่า “สุรา” ยังครองสัดส่วนสูงสุด 46.1% ตามมาติดๆ ด้วยเบียร์ 41.1%, เครื่องดื่มนอนแอลกอฮอล์ 7.1%, อาหาร 5.8% และอื่นๆ -0.1% ในขณะที่กำไรสุทธิ กลุ่มสุรามีสัดส่วน 89.3% เบียร์ 14.2% เครื่องดื่มนอนแอลกอฮอล์ -6.3% อาหาร 2.8% (ไม่รวมเอฟแอนด์เอ็น)

ตัวเลขกำไรของเครื่องดื่มนอนแอลกอฮอล์ติดลบ 6.3% มากกว่าปีก่อนที่ติดลบ 3.8% เป็นเรื่องที่น่าจับตามอง เพราะเป็นกลุ่มธุรกิจเดียวที่เป็นตัวแดง ซึ่งไทยเบฟให้เหตุผลเมื่อครั้งแถลงทิศทางปี 2019 เมื่อต้นเดือนตุลาคมว่าธุรกิจนี้กำลังเผชิญศึกรอบด้านทั้งการแข่งขันที่รุนแรงและพฤติกรรมของผู้บริโภคที่หันมาใส่ใจเรื่องสุขภาพทิศทางของไทยเบฟจึงต้องมุ่งออกสินค้าใหม่กับเจาะตลาดที่มีช่องว่างอยู่ทั้งในและต่างประเทศ

เมื่อแยกยอดรายได้เป็นรายเซ็กเมนต์พบว่า กลุ่มสุรา มียอดขาย 105,900 ล้านบาท ลดลง 3.1% กำไรสุทธิ 17,720 ล้านบาท ลดลง 13.2%, หลักๆ เกิดจากปริมาณการขายที่ลดลง เบียร์ 94,486 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 64.8% กำไรสุทธิ 2,805 ล้านบาท ลดลง 10.4% ยอดขายเพิ่มขึ้นเพราะได้รับอานิสงส์จากซาเบโคที่เพิ่งไปเข้าซื้อกิจการมา ด้านกำไรที่ลดลงเกิดการกระบวนการผลิตเบียร์ของบริษัทเอง

กลุ่มเครื่องดื่มนอนแอลกอฮอล์ ทำยอดขายไปทั้งสิ้น 16,184 ล้านลิตร ลดลง 3.5% ขาดทุน 1,244 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 45.5% จากปีก่อนขาดทุน 855 ล้านบาท เหตุที่ยังขาดทุนเรื้อรังเป็นเพราะ “ไทยเบฟ” ยังเล่นไปตามเกมตลาดเพื่อแข่งกับรายอื่นๆ อัดงบโหมสร้างแบรนด์ดุเดือดมากในทุกแบรนด์ ทั้งโออิชิ เอส และน้ำดื่มคริสตัลที่ผลัดกันกับสิงห์ในการขึ้นเป็นเบอร์ 1

ด้านธุรกิจอาหารมียอดขาย 13,265 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 96.8% กำไรสุทธิ 554 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 432.7% การ “โตแรง” เกิดขึ้นด้วยฝีมือของ “เคเอฟซี” เบอร์ 1 ที่แข็งเกร่งอยู่แล้วในตลาดร้านอาหารจานด่วน แต่ละปีเข้าถึงลูกค้าคนไทยได้กว่า 70 ล้านคน ซึ่งได้เข้ามาเสริมพอร์ตกว่า 252 สาขา และไทยเบฟได้วางแผนขยายเพิ่มอีก 20 สาขาหลังเข้าซื้อกิจการมา ไม่นับรวมการใช้เงินอีก 115 ล้านบาท เข้าซื้อหุ้น 76% ของกิจการร้านอาหารไทยของ Spice of Asia จำนวน 10 สาขา

เมื่อหันมาดูตัวเลขยอดขายตามเชิงปริมาณซึ่งเป็นดัชนีที่เข้ามาสะท้อนการ  บริโภค” ว่าเพิ่มขึ้นหรือลดลง พบว่า กลุ่มสุราอยู่ที่ 612 ล้านลิตร เพิ่มขึ้น 1.2%, เบียร์ 2,034 ล้านลิตร เพิ่มขึ้น 140.6โซดา 48 ล้านลิตร เพิ่มขึ้น 15.4% ซึ่งกระตุ้นต่อเนื่องจากแบรนด์ “ร็อค เมาเท็น” ที่เข้าไปตีตลาดในหลายๆ ช่องทาง

เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ 1,647 ล้านลิตร เพิ่มขึ้น 0.2% แต่เมื่อมองเข้าไปในกลุ่มชาเขียวพร้อมดื่มและจับใจ กลับมียอดขาย 260 ล้านลิตร ลดลง 18.2% น้ำดื่ม 1,110 ล้านลิตร เพิ่มขึ้น 5.7% น้ำอัดลมเอส และฮันเดรส พลัส 268 ล้านลิตร เพิ่มขึ้น 2.5% และอื่น อาทิ เครื่องดื่มชูกำลัง เครื่องดื่มเกลือแร่ ลดลง 38%

ภาพรวมของปีนี้ดีขึ้นในทุกเซ็นเมนต์ทั้งแอลกอฮอล์หรือเครื่องดื่มอัดลมซึ่งปีที่ผ่านมาติดลบ แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงอยู่ที่กลุ่มชาเขียวที่ลดลงต่อเนื่องอันเป็นผลมาจากการที่ถูกเซ็นเมนต์อื่นเข้ามาเบียดและชิงลูกค้าไป ขณะที่การออกแคมเปญชิงโชคที่ครั้งหนึ่งเคยดึงดูดให้ผู้บริโภคหันมาซื้อจำนวนมากก็ไม่ได้น่าสนใจเหมือนเดิมอีกแล้ว ซึ่งก็เกิดขึ้นกับคู่แข่งอย่างอิชิตันเช่นเดียวกัน

ขณะเดียวกันเมื่อหันไปดู “ธุรกิจต่างประเทศ” กำลังไปได้ดี เพราะมียอดขาย 56,100 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 820% ตัวเลขที่เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดเป็นผลจากเอารายได้ของแกรนด์ รอยัล กรุ๊ป ที่เกิดขึ้นในรอบ 12 เดือน และซาเบโคช่วง 9 เดือน เข้ามาด้วย

กลุ่มสุราในต่างประเทศเติบโต 273% ซึ่งหลักๆ แล้วได้ “แกรนด์รอยัลกรุ๊ป” เข้ามาช่วยเสริมการรับจ้างผลิตกลับมาเติบโต ขณะที่สินค้ากลุ่มพรีเมียมเติบโตดีในตลาดอาเซียนกับเอเชียโซนเหนือ และยอดขายสุราในอังกฤษกับเอเชียแปซิฟิกบางที่ขยายตัวดี

ส่วนเบียร์ต่างประเทศยอดขายเพิ่มขึ้นถึง 1,711% อันเกิดจากผลงานของ “ซาเบโค” ซึ่งแม้จะไปได้ดีหากยอดขายของแบรนด์อื่นกลับลดลง เพราะมีความท้าทายเกิดขึ้นในตลาดอาเซียน

ภาพรวมรายได้ของ “ไทบเบฟ” ยังคงเติบโต แต่กำไรน่าห่วงเพราะโจทย์ “ฐาปน สิริวัฒนภักดี” ต้องเร่งหาเงินสดเข้ามาชำระหนี้ จากการซื้อกิจการสองแสนล้านบาท ต้องมาลุ้นกันปีหน้า ยอดขายจะเป็นยังไง โปรดติดตามตอนต่อไป.