แผนการพัฒนา AI ที่ริเริ่มโดย “ภาครัฐ”
เนื่องมาจากในปัจจุบัน ภาคการผลิตของจีนเริ่มชะลอตัว พร้อมๆ กับที่หลายประเทศกำลังมุ่งหน้าไปสู่อนาคต ด้วยเทคโนโลยีขั้นสูง และมีการนำเอา AI (Artificial Intelligent) มาเป็นรากฐานสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจยุคใหม่ เช่นเดียวกับจีนที่มีการประกาศเป็นนโยบายชัดเจนจากรัฐบาล
โดยรัฐบาลจีนมีการร่าง “แผนงานการพัฒนาปัญญาประดิษฐ์สำหรับยุคสมัยใหม่” โดยมีเป้าหมายหลักคือการปั้นตลาดอุตสาหกรรม AI ให้มีมูลค่าถึง 1 ล้านล้านหยวน (ประมาณ 5 ล้านล้านบาท) ภายในปี 2030
เป้าหมายที่ไม่ได้ตั้งขึ้นมาลอยๆ แต่จีนพิจารณาแล้วว่า ตนเองมีปัจจุบันที่เอื้อต่อการพัฒนา AI เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว จากความโดดเด่นในด้านการเก็บข้อมูล และ Internet of Things (IOT) ซึ่งเป็นรากฐานของการพัฒนาเทคโนโลยี AI โดยจีนมีผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ต อยู่ราว 800 ล้านคน ซึ่งคิดเป็น 57.7 % ของจำนวนประชากรทั้งประเทศ ทั้งยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ที่สำคัญ เทคโนโลยีนี้สามารถตอบโจทย์โครงสร้างของจีนได้ทุกด้านของชีวิต สร้างโอกาสมากมายหลายด้านให้เกิดขึ้นในเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็น ทดแทนแรงงาน การแพทย์ การขนส่ง ยานยนต์ และอุตสาหกรรมการผลิต การศึกษา
ตัวอย่างเช่น หลิวลี่ซัว (Liulishuo แปลเป็นไทยว่า พูดได้คล่อง) บริษัท Start-up รายหนึ่งของจีน สร้างหลักสูตรภาษาอังกฤษแบบส่วนตัวขึ้น โดยใช้ปัญญาประดิษฐ์ มีผู้ลงทะเบียนใช้บริการแล้วประมาณ 50 ล้านราย จนสามารถเสนอขายหุ้นใหม่กับประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก
อีกทั้ง คนจีนยังมีทัศนคติที่ดีต่อ AI โดยเชื่อว่าไม่ได้จะมาแย่งงานของมนุษย์ แต่จะเป็นเครื่องมือที่สามารถช่วงแบ่งเบาภาระการเงินที่ไม่จำเป็น ทำให้มนุษย์มีเวลาเหลือสำหรับคิดสร้างสรรค์สิ่งที่เป็นประโยชน์เพิ่มได้ เหมือนดั่งที่ แจ็ค หม่า (Jack Ma) ผู้ก่อตั้งอาลีบาบากรุ๊ป (Alibaba Group) เคยกล่าวไว้ว่า
จักรกลจะเป็นผู้ร่วมงานของมนุษย์มากกว่าจะเป็นศัตรู
ภาคเอกชนจีนตื่นตัวพร้อมรับมือ AI
นอกจากรัฐบาลแล้ว ผู้เล่นที่มีบทบาทสำคัญไม่แพ้ภาครัฐจากภาคธุรกิจรายใหญ่ อย่าง ไป่ตู้ (Baidu) อาลีบาบา และเท็นเซ็นต์ (Tencent) 3 บริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ของจีนต่างก็ลงทุนให้กับการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ใช้เทคโนโลยี AI ซึ่งด้วยความที่มีฐานข้อมูลขนาดใหญ่ ทำให้จีนสามารถระบุตัวตนพนักงาน และทำการยืนยันตัวตนผ่าน mobile apps ได้สำเร็จ
กระทั่งปัจจุบันนี้ ทำให้ทุกอย่างที่เกี่ยวกับ AI ในจีนนั้น กลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันของคนจีนอย่างแนบเนียน เช่น สังคมไร้เงินสด (cashless society) และการใช้ฟินเทค (fintech) เพื่ออำนวยความสะดวกให้คนจีน เข้าถึงบริการการเงินในทุกรูปแบบ
ล่าสุด AI จีน สามารถกวาดรางวัลที่ 1-5 เวทีแข่งเทคโนโลยีจดจำใบหน้าระดับโลก (FRVT) ซึ่งจัดการแข่งขันที่สหรัฐอเมริกา โดย AI จากจีน สามารถจำหน้า 10 ล้านคนในหลักวินาที
นอกจากนี้ เมื่อต้นปีที่ผ่านมาไป่ตู้ยักษ์ใหญ่เสิร์ชเอ็นจิ้นของจีนได้ดึงตัวนาย “ลู่ ฉี” อดีตผู้บริหารคนสำคัญ ซึ่งเป็นผู้ผลักดันการพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ของไมโครซอฟท์ คอร์ป (Microsoft Corp) บริษัทซอฟต์แวร์ยักษ์ใหญ่ของสหรัฐฯ ขึ้นดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ เพื่อผลักดันไป่ตู้ไปสู่การเป็นผู้นำด้านปัญญาประดิษฐ์ของโลก พร้อมทั้งเปิดห้องปฏิบัติการเทคโนโลยีเสมือนจริง (Augmented Reality: AR) แห่งใหม่ขึ้นที่กรุงปักกิ่ง
หรือการที่ไป่ตู้เริ่มต้นพัฒนาเทคโนโลยี Natural Language Process และ Machine Learning ตั้งแต่ปี 2010 ก่อนหน้า Google ที่เพิ่งหันมาพัฒนา Machine Learning อย่างจริงจังทีหลังในปี 2015
ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาจำนวนบริษัทพัฒนา AI ใหม่ๆ เติบโตอย่างรวดเร็วและจีนกลายเป็นประเทศที่มีอัตราการเติบโตสูงเป็นอันดับสอง โดยมี บริษัท AI กว่า 1,500 แห่งทั่วประเทศ หนังสือพิมพ์ “Le Monde” ของฝรั่งเศสถึงกับเคยเผยแพร่บทความเรื่อง “Silicon Valley” ของปัญญาประดิษฐ์ในประเทศจีน
นอกเหนือจากการลงทุนในการพัฒนาความสามารถด้านปัญญาประดิษฐ์แล้ว บริษัทรายใหญ่ของจีนยังเข้าซื้อกิจการที่เกี่ยวกับ AI ในสหรัฐฯ ซึ่ง CB Insights รายงานว่าขณะนี้จีนมีสัดส่วนการถือหุ้นเป็น 48% ของยอดรวมทั่วโลก
ดังนั้นการพัฒนาด้าน AI ของจีนที่เติบโตอย่างก้าวกระโดดและมีแนวโน้มแซงหน้าชาติตะวันตกนั้น หากกล่าวโดยสรุป จึงเรียกได้ว่าเริ่มต้นมาจากพื้นฐานการมีทัศนคติที่ดีต่อปัญญาประดิษฐ์ บวกกับการมีรัฐบาลกลางที่เข้มแข็ง มีอำนาจเบ็ดเสร็จที่ช่วยสนับสนุนด้านนโยบายกับการผนึกกำลังของภาคเอกชน รวมทั้งโครงสร้างพื้นฐานและการใช้ชีวิตประจำวันของคนจีนที่พึ่งพาอยู่กับระบบอินเทอร์เน็ต ซึ่งมีส่วนช่วยเสริมให้เกิดนวัตกรรม อีกทั้งระบบการศึกษาของจีนก็สามารถพัฒนาให้สอดคล้องกับทิศทางนี้ด้วยนั่นเอง.
อ้างอิง
- https://www.statista.com/chart/14218/china-dominates-global-funding-of-ai-startups
- https://www.inc.com/magazine/201809/amy-webb/china-artificial-intelligence.html