แม้ผู้เชี่ยวชาญหลายคนจะพูดตรงกันว่า ไม่ควรเน้นขายสินค้าทางเครือข่ายสังคมออนไลน์ แต่บางแบรนด์ก็ได้พิสูจน์แล้วว่า “ทำได้” แต่ต้องไม่ Hard Sale เกินไป และทำอยู่บนผลประโยชน์ของฝั่งผู้ใช้เป็นสำคัญ อย่างเช่นของผู้ผลิตคอมพิวเตอร์ Dell ใน twitter.com/DellOutlet
กำเนิดของ Dell ย้อนไปราว 20 ปีก่อนก็สร้างรากฐานที่ยิ่งใหญ่มาจากการขายตรงเครื่องพีซีผ่านโทรศัพท์ของหนุ่มน้อย Michael Dell ผู้ก่อตั้ง และจากนั้นเป็นต้นมาไม่ว่าจะมีสื่อใหม่ๆ ออกมา Dell จะเป็นผู้เล่นรายแรกๆ ที่เข้าไปสร้างหน้าร้านอยู่เสมอ เช่นเดียวกับกระแสทวิตเตอร์บูมครั้งนี้ที่เดลล์เข้ามาขายสินค้าแบบตรงๆ ไม่อ้อมค้อม โดยที่รายอื่นยังไม่หาญกล้าทำตามเต็มตัวแบบนี้
เดลล์ ใช้กลยุทธ์ทำ @DellOutlet ให้มีความ “Exclusive” คือขายสินค้าในราคาถูกพิเศษ ชนิดที่หาซื้อไม่ได้จากที่ไหน โดยคัดสินค้า “Refurbish” หรือสินค้าจากโรงงานที่ไม่ผ่านขั้นตอนปกติของการวางจำหน่ายมาขายในราคาถูกสุดๆ เช่นอาจจะเป็นสินค้าทดสอบ หรือสินค้าที่ไม่ได้ผ่านกระบวนการคัดคุณภาพ แต่ว่าใช้งานได้เป็นปกติทุกประการ ซึ่งปรากฏว่าสินค้าแบบนี้ในราคาแบบนี้สร้าง Demand ได้มหาศาล
จากข้อมูลล่าสุด เดลล์สามารถทำรายได้จากการขายสินค้าบนทวิตเตอร์นี้ถึงปีละกว่า 1 ล้านเหรียญในช่วง 2 ปีที่เริ่มทำ @DellOutlet มา คิดเป็นราว 2 -3 % เทียบกับรายได้ทั้งปี 50 ล้านเหรียญฯจากทุกช่องทางขาย โดยไม่มีต้นทุนสร้างร้านหรือสร้างเว็บเพิ่มแต่อย่างใด ตอกย้ำความเป็น“เจ้าพ่อขายตรงคอมพิวเตอร์” ที่เป็น Positioning หลักของบริษัทมาตลอด
Dell ยังใช้กลยุทธ์ลงขายสินค้าโดยไม่บอกล่วงหน้าว่าจะประกาศขายเมื่อไร ฉะนั้นจึงกระตุ้นให้ผู้คนต้องเข้ามาทวิตเตอร์ของเดลล์ติดตามข่าวสารการขายสินค้าอื่นๆ ซึ่งมีลงเป็นโปรโมชั่นปกติทั่วๆ ไปอยู่ผสมกันไป
ความสำเร็จบนทวิตเตอร์ของเดลล์ คงไม่อาจถูกตีความง่ายๆ ว่าทวิตเตอร์นั้นเหมาะจะใช้ขายของ แต่คงต้องสนใจในแง่มุมที่ว่าเดลล์ได้จัดหาความพิเศษแบบ “เฉพาะกิจ เฉพาะที่” มาลงใน @DellOutlet บนทวิตเตอร์ได้เป็นประจำ และเป็นความหายากที่มีต้องการรองรับอยู่พอดี บวกกับการลงมือทำเป็นรายแรก จึงเกิดเป็นกรณีศึกษาการขายตรงผ่านทวิตเตอร์แบบที่ท้าทายและคงไม่ง่ายนักที่รายอื่นๆ ในธุรกิจต่างๆ จะทำบ้าง