ปลดล็อก ทีวีดิจิทัล ดึงเงินประมูลคลื่น 5G กว่า 4 หมื่นล้าน

ผ่านมา 5 ปี แต่สถานการณ์ “ทีวีดิทัล” ยังอยู่ในภาวะ “ลูกผี ลูกคน” ไม่พ้นวิกฤติ ต้องประสบปัญหารายได้กันถ้วนหน้า ทำเอา กสทช. เจ้าของใบอนุญาตจึงลงมาปลดล็อกเพื่อหวังแก้ปัญหา โดยนำค่าคลื่น 700 MHz ที่ดึงไปใช้ในการประมูล 5G มาช่วย ทีวีดิจิทัล ไม่ต้องจ่ายค่าใบอนุญาต 2 ปี , ค่าเช่า MUX และค่าส่งสัญญาณผ่านดาวเทียม

โดยคณะอนุกรรมการเรียกคืนคลื่นความถี่ย่าน 700 MHz ที่มี พ.อ.นที ศุกลรัตน์ รองประธาน กสทช. เป็นประธานอนุกรรมการ ได้เรียกประชุมคณะอนุกรรมการเป็นครั้งแรก 6 ธันวาคม 2561 พร้อมเชิญบรรดาผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลเข้าร่วมด้วย

กสทช.จะนำคลื่นที่ทีวีดิจิทัลใช้งานอยู่ ย่าน 510-794 MHz มาจัดระเบียบใหม่ โดยกันย่านคลื่น 703-794 MHz มาใช้กับ 5G เพื่อให้ตามหลักสากลขององค์กรโทรคมนาคมระหว่างประเทศ หรือ ITU

การนำ “คลื่นความถี่” บางส่วนที่ใช้งานในกิจการ “ทีวีดิจิทัล” มาให้กับกิจการ “โทรคมนาคม” นั้น ตาม พ.ร.บ.ระบุไว้ว่า จะต้องมีการจ่ายค่าตอบแทนให้กับผู้ที่ใช้งานอยู่เดิมทั้งหมดด้วย ซึ่งมีผู้ประกอบการ 2 ส่วนที่เกี่ยวข้องคือ ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล และผู้ให้บริการโครงข่ายทีวีดิจิทัล หรือ MUX

โดยที่บรรดาผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล จะต้องย้ายการใช้งานคลื่นความถี่ไปอยู่ที่ย่านใหม่ ซึ่งในเบื้องต้น คาดว่าจะย้ายไปอยู่ที่ย่าน 470-694 MHz ซึ่งจะต้องมีการเรียกคืนคลื่นในย่าน 470-510 MHz ด้วย

พ.อ.นทีบอกว่า คาดว่าคณะอนุกรรมการจะสามารถสรุปกติกาอย่างชัดเจนในประมาณเดือนมีนาคมปีหน้า ทั้งในเรื่องแผนการเรียกคืนคลื่น และการจัดสรรคลื่นย่านใหม่สำหรับทีวีดิจิทัล และรายละเอียดที่บรรดาผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลจะได้รับการชดเชยจากการประมูลคลื่น

โดยคาดว่าการประมูลคลื่น 5G จะเกิดขึ้นประมาณไตรมาส 2 หรือ 3 ของปีหน้า ส่วนกระบวนการชดเชยผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลนั้น คาดว่าจะเริ่มได้ประมาณปี 2563

คาดใช้เงินกว่า 4 หมื่นล้านบาท ช่วยทีวีดิจิทัล

การให้เงินชดเชยนั้น มีตั้งแต่ ทีวีดิจิทัลไม่ต้องจ่ายเงินงวดประมูล 2 งวดสุดท้าย และให้การสนับสนุนค่าเช่าโครงข่าย MUX และการส่งสัญญาณดาวเทียมในเงื่อนไข Must Carry ตลอดอายุใบอนุญาต แต่ยังไม่มีข้อสรุปตัวเลขรายละเอียดในขณะนี้

อย่างไรก็ตาม จากการประมาณการคร่าวๆ แล้ว คาดว่า กสทช.จะต้องใช้เงินจากการประมูลคลื่น 5G มาสนับสนุนทีวีดิจิทัลมากกว่า 4 หมื่นล้านบาท โดย

1. ไม่ต้องจ่ายค่าประมูลช่องทีวีดิจิทัล ที่ยังเหลือ 2 งวดสุดท้าย ซึ่งรวมเป็นเงิน 15,851 ล้านบาท 

2. ไม่ต้องจายเงินค่าเช่า MUX ปีละประมาณ 2,500 ล้านบาท ซึ่งยังเหลืออีก 10 ปี หมดในปี 2572 รวมเป็นเงิน 25,000 ล้านบาท และ 3. ไม่ต้องจ่ายค่าส่งสัญญาณตามประกาศ Must Carry ประมาณ 700 ล้านบาทต่อปี ยังเหลืออีก 10 ปี ซึ่งจะหมดในปี 2572 รวมเป็นเงิน 7,000 ล้านบาท

สำหรับผู้ให้บริการ MUX นั้นปัจจุบันมี 4 ราย คือ ไทยพีบีเอส, อสมท. กรมประชาสัมพันธ์ และช่อง 5 ที่มี 2 MUX ซึ่งจะได้การรับการชดเชยจากการเปลี่ยนแปลงย่านคลื่นที่ใช้งานด้วย ซึ่งทั้ง 4 รายต้องทำรายละเอียดเสนอจำนวนค่าใช้จ่ายมาอีกที

ทั้งนี้การจ่ายเงินชดเชยให้กับกิจการทีวีดิจิทัลนั้น จะเป็นความรับผิดชอบกองทุนพัฒนากิจการโทรทัศน์ ของ กสทช. เป็นไปตามที่สมาคมผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลร้องเรียนมา

ผู้ประกอบการร้องให้คืนเงินประมูลเข้ากองทุนพัฒนาทีวี

ในที่ประชุม กลุ่มผู้ประกอบการในนามสมาคมผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล นำโดยสุภาพ คลี่ขจาย ได้เสนอให้ให้มีการจ่ายค่าตอบแทนในการเปลี่ยนแปลงย่านคลื่นทีวีดิจิทัล โดยให้นำเงินส่วนหนึ่งมาจากการประมูลและได้ส่งกองทุนพัฒนากิจการโทรทัศน์ เป็นจำนวนเท่าๆ กับที่ กสทช. ได้เคยนำเงินจากการประมูลคลื่นความถี่ทีวีดิจิทัลส่งเป็นรายได้ของรัฐ

โดยให้เหตุผลว่า เจตนารมณ์เดิมของกฎหมาย ระบุไว้ว่า เงินที่ได้จากการประมูลคลื่นความถี่ในกิจการโทรทัศน์จะต้องนำส่ง “กองทุนเพื่อใช้ในการพัฒนากิจการโทรทัศน์” แต่ กสทช. กลับนำเงินไปส่งเป็นรายได้ของแผ่นดิน ซึ่งขัดต่อเจตนารมณ์ของกฎหมาย

ทั้งนี้เงินที่ได้จากการประมูลทีวีดิจิทัล มีการนำเข้ากองทุน กสทช.แค่เพียงงวดแรกเท่านั้น และนำไปใช้ในการทำคูปองแลกกล่องทีวีดิจิทัล ส่วนงวดอื่นๆ นั้น มีประกาศ ม.44 ให้นำเงินส่วนนี้เข้าเป็นรายได้ของรัฐบาลทั้งหมด ทำให้ไม่มีเงินกองทุนช่วยเหลือกิจการทีวีดิจิทัลตาม พ.ร.บ. กสทช. และต้องคอยพึ่งพารัฐบาลในการให้ความช่วยเหลือทุกครั้ง

การนำเงินรายได้จากการประมูลกลับเข้าสู่กองทุนอีกครั้ง เพื่อให้เข้าระบบการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลโดยตรง โดยที่กองทุนจะมีบทบาทสำคัญในการจ่ายเงินช่วยเหลือผู้ประกอบการทั้งหมดที่เกี่ยวข้องตามเกณฑ์ที่จะมีการกำหนดขึ้นตามมา.