“ซีพีแรม” เป็นบริษัทผลิตอาหารพร้อมรับประทานและเบเกอรี่ในเครือของเซเว่น–อีเลฟเว่น ผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของบริษัทแม่ที่หันมาเน้นของกินมากกว่าของใช้ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา
เป้าหมายของเซเว่น–อีเลฟเว่น ต้องการเป็น food and beverage destination ในใจลูกค้า คือการขยายโฟกัสจาก “หิวเมื่อไหร่ก็แวะมา” สู่สถานภาพ “ร้านเครือข่ายอิ่มสะดวก”
ซีพีแรมจึงเป็นหนึ่งในนักเตะคนสำคัญของเซเว่นฯ ที่ช่วยกันเขี่ยบอลและยิงลูกเข้าประตูในจังหวะที่เหมาะสม
ต้องยอมรับว่าหลายปีมานี้เมนูอาหารที่สร้างการจดจำให้กับเซเว่น–อีเลฟเว่น ไม่ใช่ฟุตลอง สเลอปี้ หรือบิ๊กเปา อย่างที่แล้วๆ มา เพราะในระยะหลังเซเว่นฯ มีสินค้าดาวรุ่งที่แข่งกันแจ้งเกิดจนจำไม่หวาดไม่ไหว
และหนึ่งในสินค้าเรือธงที่ทำให้ผู้บริโภคในกรุงเทพฯ และปริมณฑลรู้ว่าเซเว่นฯ เป็นร้านอิ่มสะดวกจริงๆ ก็คือการเปิดตลาดอาหารแช่เย็น (chill food) ที่อยู่ในการดูแลของซีพีแรม ภายใต้การนำของหัวโจกอย่าง ข้าวกะเพราหมู กะเพราไก่ ในสนนราคาขายเท่ากับอาหารริมทาง
ใครเลยจะคิดว่าเมนูมื้อหลักที่มักถูกค่อนขอดว่าเป็น “อาหารสิ้นคิด” แต่คนก็ไม่เคยเบื่อที่จะสั่ง จะยิ่งขายดีเป็นเทน้ำเทท่าเมื่อมาอยู่บนชั้นวางของเซเว่น–อีเลฟเว่น
แม้จะไม่ชัดเจนว่าแต่ละวัน “ซีพีแรม” จะมีปริมาณการขายเมนูกะเพราแบบแช่เย็นมากเท่าใดในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล (ด้วยข้อจำกัดของความใหม่สด ทำให้วงจรชีวิตสั้น ไม่สามารถส่งไปขายได้ไกลๆ) แต่ถ้าประเมินกล่องอาหารเมนูกะเพราที่กองหนาตากว่าเมนูอื่นๆ ก็พอเดาได้ว่า เมนูกะเพราเป็นอาหารขวัญใจมหาชนที่กินเท่าไหร่ก็ไม่รู้เบื่อ
มีรายงานระบุว่า 5 อันดับเมนูยอดฮิตของ “ซีพีแรม” ในเซเว่น–อีเลฟเว่น ในกลุ่มอาหารแช่เย็นพร้อมรับประทาน ได้แก่ 1. ข้าวกะเพรา 2. ข้าวผัดปู 3. ผัดซีอิ๊ว 4. ข้าวไข่เจียวกุ้ง และ 5. เมนูอื่นๆ ที่หมุนเวียนกันมาเข้ารอบ
วิเศษ วิศิษฏ์วิญญู กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีพีแรม จำกัด บอกว่า ทุกวันนี้กะเพราเป็นวัตถุดิบหลักของอาหารกล่อง ที่มียอดขายนำมาเป็นอันดับ 1 ถือเป็นพืชเศรษฐกิจที่มีบทบาทสำคัญในแง่ความมั่นคงของอาหาร
“วันหนึ่งถ้าประเทศเราขาดแคลนอาหาร กะเพราจะเป็นวัตถุดิบที่มีความสำคัญมากกว่าทองคำ”
ซีพีแรมเริ่มศึกษาศักยภาพของใบกะเพราตั้งแต่ยุคแรกๆ ที่ทดลองปลูกแปลงสาธิตกะเพราที่อ.ลาดหลุมแก้ว จ.ปทุมธานี ตั้งแต่ 10 ปีก่อนหน้า เพื่อทดลองหาสายพันธุ์ที่มีความหอม มีรสชาติเผ็ด ตรงกับสเป็กที่ซีพีแรมอยากได้ เพื่อเอามาผลิตอาหารแช่แข็ง โดยร่วมกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งก็ใช้เวลาหลายปีกว่าจะค้นพบสายพันธุ์ที่ใช่ และยังคงพัฒนาปรับปรุงพันธุ์อย่างต่อเนื่อง
การเรียนรู้ในศาสตร์ของกะเพราเป็นส่วนหนึ่งของการบริหารจัดการตลอดห่วงโซ่ธุรกิจซีพีแรม (supply chain management) ด้วยแนวทาง 3S คือ อาหารปลอดภัย (food safety) อาหารมั่นคง (food security) และอาหารยั่งยืน (food sustainability)
เป็นการวางแผนการผลิตตั้งแต่ต้นทางแต่เนิ่นๆ เพื่อไม่ให้อาหารเกินหรือไม่ให้ขาด เพื่อความมั่นคงในอาหารระยะยาว
ซีอีโอ ซีพีแรม ระบุ
หลังการลองผิดลองถูกเพื่อเฟ้นหาสเป็กใบกะเพราที่ใช่ก็ถึงเวลาที่ซีพีแรมต้องขยายตลาดอาหารแช่เย็นให้ครอบคลุมทั่วประเทศจากเดิมที่กระจุกตัวอยู่เฉพาะในกรุงเทพฯ และปริมณฑลเพราะข้อจำกัดเรื่องการขนส่ง
หนึ่งในการแก้ปัญหาที่ตรงจุดเพื่อให้อาหารแช่เย็นกระจายตัวไปทั่วประเทศได้และไม่ติดปัญหาการขนส่ง คือ การดึงเอาบรรดาเกษตรกรในพื้นที่ใกล้เคียงกับโรงงานมาเป็นแนวร่วมพลิกฟื้นผืนดินให้เป็นทองคำด้วยการส่งเสริมอาชีพการเพาะปลูกกะเพราภายใต้โครงการ “เกษตรกรคู่ชีวิต”
โดยซีพีแรมเริ่มต้นดีเดย์ที่โรงงานขอนแก่นเป็นแห่งแรก ใช้เงินลงทุนขยายโรงงาน 1,390 ล้านบาท แบ่งเป็นสายการผลิตอาหารกล่อง 767 ล้านบาท และเบเกอรี่ 623 ล้านบาท ดูแลตลาดในพื้นที่ภาคอีสาน 20 จังหวัด
เฉพาะในส่วนของเมนูกะเพรามีความต้องการใช้ใบกะเพราเป็นจำนวนมากตลอดทั้งปีสามารถรวบรวมเกษตรกรในเขต อ.โนนศิลา จ.ขอนแก่น ได้ทั้งหมด 19 ครัวเรือน มีพื้นที่เพาะปลูก 50-50 ไร่ สามารถรองรับการผลิตได้ 60 กิโลกรัมต่อวัน และสร้างรายได้ให้เกษตรกรในชุมชนเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 2.5 เท่าจากการรับซื้อทั้งหมด
เป้าหมายของซีพีแรมต้องการรวมกลุ่มเกษตรกรและส่งเสริมอาชีพการเพาะปลูกกะเพราทั่วประเทศเพื่อให้ได้ผลผลิตเพียงพอกับความต้องการในลักษณะ win-win game ซึ่งในระยะแรกที่เพิ่งเปิดตัวโครงการเกษตรกรคู่ชีวิต ผลผลิตยังไม่มากพอ แต่ในระยะต่อไปเมื่อโรงงานผลิตอาหารซีพีแรมเดินเครื่องเต็มที่พร้อมกันทั่วประเทศ ก็มีแนวโน้มว่าอาชีพปลูกกะเพราจะอยู่ในความสนใจของเกษตรกร และทำให้บริษัทมีวัตถุดิบมากพอที่จะไปขยายตลาดอาหารแช่เย็น
โดยหลังจากเปิดตัวโครงการที่ขอนแก่น จะขยายความมือกับเกษตรกรในพื้นที่โรงงานลำพูน ซึ่งรับผิดชอบดูแลเขตการขายภาคเหนือ โรงงานสุราษฎร์ธานี ดูแลพื้นที่ในเขตภาคใต้ โรงงานชลบุรี ดูแลพื้นที่ภาคตะวันออก และโรงงานอีกสองแห่งที่ปทุมธานี ที่ดูแลพื้นที่การขายในภาคกลาง กรุงเทพฯ และปริมณฑล เป็นตัวยืนอยู่ก่อนแล้ว
การส่งเสริมเกษตรกรปลูกกะเพราผลิตป้อนโรงงานโดยไม่ผ่านคนกลางส่งผลดีระยะยาวกับซีพีแรม ทำให้คุณภาพวัตถุดิบดีขึ้นเพราะไม่ต้องขนส่งทางไกล และตอบโจทย์การผลิตอาหารกล่องแบบแช่เย็นที่ต้องรีบส่งตรงถึงพื้นที่ชั้นวางหลังการบรรจุไม่เกิน 6-7 ชั่วโมง โดยปี 2561 นี้เป็นปีแรกที่บริษัทขยายตลาดมาต่างจังหวัดพร้อมกันทุกภูมิภาคเต็มรูปแบบ จากเดิมที่ตลาดต่างจังหวัดจะเน้นขายเฉพาะอาหารแช่แข็ง (frozen food) อย่างเดียว
พฤติกรรมผู้บริโภคยุคนี้ให้การยอมรับอาหารกล่องในเซเว่นฯ มากขึ้นจากการมองว่าสะอาดปลอดภัยราคาถูกและประหยัดเวลาโดยเฉพาะอาหารแช่เย็นใช้เวลาอุ่นเวฟเพียงนาทีครึ่งให้รสชาติความใหม่สดไม่ต่างจากอาหารตามสั่งซึ่งตอบโจทย์ทั้งผู้บริโภคที่ต้องการความใหม่สดและรวดเร็วและตอบโจทย์บริษัทแม่อย่างเซเว่นฯ ที่เปลี่ยนจุดยืนมาเน้นขายอาหารเร็วด่วนสอดรับกับพฤติกรรมสมัยใหม่ที่เร่งรีบ
ปัจจุบันมีสินค้าซีพีแรมวางขายในเซเว่นฯ 900 SKU. และ 23% ของทั้งหมดเป็นสินค้าใหม่ที่บริษัทพัฒนาอย่างต่อเนื่อง จากการวิจัยว่าผู้บริโภคในกลุ่มอาหาร อยากเห็นเมนูใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา สินค้าในเซเว่นฯ จึงต้องเปลี่ยนตลอด ไม่เปลี่ยนก็ไม่ได้เพราะลูกค้าอยากเห็นแต่ของใหม่จุ๋มจิ๋ม ซีพีแรมจึงต้องปรับปรุงรสชาติ เอาสินค้าออกจากชั้น ปรับปรุงสูตรและกลับเข้าไปใหม่ เรียกว่าโมดิฟายน์และเมกอัพกันสุดฤทธิ์ เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภคขี้เบื่อยุคนี้.