เศรษฐกิจไทยกับปากท้องประชาชน

อิษณาติ วุฒิธนากุล

ช่วงนี้ได้ยินข่าวที่บอกว่า “เศรษฐกิจไทย” ดีขึ้นค่อนข้างบ่อยนะครับ อย่างเมื่อเดือนที่แล้วสภาพัฒน์แถลงว่าอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยปีนี้น่าจะอยู่ที่ราวๆ 4.2-4.7 เปอร์เซ็นต์ด้วยกัน ซึ่งเป็นอัตราการขยายตัวที่สูงที่สุดในรอบหลายไตรมาสที่ผ่านมา ช้อปช่วยชาติปีนี้รัฐบาลก็ตัดเหลือแค่ 3 กลุ่มผลิตภัณฑ์ที่สามารถซื้อเพื่อใช้ในการลดหย่อนภาษีได้ เพราะรัฐบาลบอกว่าเศรษฐกิจดีแล้วก็จริงครับ ถ้าเราดูจากตัวเลขอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างเดียวก็คงต้องเห็นด้วยกับสภาพัฒน์นะครับ ว่าเศรษฐกิจไทยดีขึ้นจริงๆ เพราะปีนี้น่าจะเป็นปีที่เศรษฐกิจของประเทศเราขยายตัวสูงสุดตั้งแต่ปี 2012 เป็นต้นมา

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าตัวเลขทางเศรษฐกิจจะดีขึ้น แต่หากถามประชาชนชาวไทยส่วนใหญ่ คงมีน้อยคนนะครับที่จะตอบว่าตัวเองร่ำรวยขึ้น เอาตรงๆ คือคนวัยทำงานอย่างเราๆ น่าจะรู้สึกได้ถึงค่าครองชีพที่แพงขึ้นมากกว่าที่จะรู้สึกว่าตัวเองมีเงินมีรายได้เพิ่มขึ้น หากดูจาก CPI (Consumer Price Index) จะพบกว่าตั้งแต่ปี 2000 จนถึงปัจจุบัน ค่าครองชีพในไทยโดยเฉลี่ยเพิ่มขึ้นทุกปีนะครับ ในขณะที่ค่าจ้างแรงงานหากหักลบกับอัตราเงินเฟ้อแล้วไม่ได้เพิ่มขึ้นทุกปี พูดง่ายๆ คืออัตราค่าจ้างแรงงานของเราตามค่าครองชีพไม่ทันนั่นเอง

จริงอยู่ครับว่าตัวเลขเศรษฐกิจนั้นดีขึ้นแต่มันไม่ได้แปลว่าคนที่ได้รับผลประโยชน์คือประชาชนทั่วไป หากอ้างอิงจาก CS Global Wealth Report 2018 ซึ่งหลายๆ สื่อได้นำเสนอไปแล้วนั้นจะพบว่า คนที่ได้ประโยชน์ส่วนใหญ่คือคน 1% ซึ่งเป็นชนชั้นบนของสังคมไทย ปัจจุบันประเทศไทยเป็นประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำทางด้านรายได้หรือความมั่งคั่งสูงที่สุดในโลก 1% ของคนไทยชนชั้นบนเหล่านั้นมีทรัพย์สินเป็น 66.9% ของทรัพย์สินรวมทั้งประเทศนะครับ แปลว่าหากเราต้องการเข้าใจสิ่งที่ประชาชนชาวไทยทั่วไปอย่างเราๆ กำลังเผชิญอยู่นั้น การมองจากตัวเลขการขยายตัวทางเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียวอาจทำให้ความเข้าใจในความเป็นจริงบิดเบือนหรือคลาดเคลื่อนไปพอสมควร

ถ้าถามว่าดูตัวเลขอะไรหรือดูข้อมูลอะไรที่น่าจะพอทำให้เห็นภาพของสภาวะสิ่งที่ประชาชนชาวไทยกำลังเผชิญได้ดี หนึ่งในนั้นคือตัวเลขการขยายตัวของสินค้าอุปโภคบริโภคนะครับ ถ้าถามว่าทำไม ก็เพราะว่าตัวเลขนี้มันสะท้อนภาพปากท้องของคนไทยเราได้ดีที่สุด สะท้อนว่าคนไทยเราพอมีกินมีใช้หรือป่าว มันคงไม่ได้มีความน่าเป็นห่วงมากถ้าคนไทยเราไม่มีตังค์เที่ยวทริปแพงๆ ซื้อของแบรนด์เนม หรือกินอาหารหรู แต่หากคนไทยเรามีปัญหากระทั่งการซื้อของกินของใช้ในชีวิตประจำวัน ตรงนี้มากกว่าที่สามารถพูดได้ว่าสถานการณ์น่าเป็นห่วงแล้ว

ถ้าเราดูอัตราการขยายตัวของสินค้าอุปโภคบริโภคซึ่งรวมกลุ่มผลิตภัณฑ์พวกของใช้ในครัวเรือน ของใช้ส่วนตัว อาหาร และเครื่องดื่ม จะเห็นได้ว่าปี 2017 เป็นปีที่อัตราการเติบโตติดลบเป็นครั้งแรกในรอบสิบปี ถึงแม้ว่าปีนี้จะมีสัญญาณกระเตื้องขึ้นแต่จนถึง Q3 2018 ตลาดสินค้าอุปโภคบริโภคก็โตเพียง 0.9% เท่านั้น ในขณะที่ตัวเลขอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย (GDP Growth Rate) เพิ่มสูงขึ้นตั้งแต่ปี 2014 เป็นต้นมา อัตราการขยายตัวของสินค้าอุปโภคบริโภคกลับลดลงอย่างเนื่อง ดูเหมือนว่าไม่เพียงประชาชนคนไทยส่วนใหญ่ไม่มีตังค์ไปถือครองทรัพย์สิน แค่การกินการใช้ในบ้านก็เริ่มฝืดเคืองขัดสนขึ้นเรื่อยๆ การสวนทางระหว่างอัตราการเติบโตของ GDP ที่เพิ่มขึ้นกับสินค้าอุปโภคบริโภคที่ลดลง เป็นอีกตัวชี้วัดหนึ่งที่ชี้ให้เห็นว่าผลประโยชน์จากการที่เศรษฐกิจไทยเติบโตขึ้น ไม่ได้ตกมาสู่ประชาชนทั่วไปสักเท่าไหร่ ที่น่าเป็นห่วงที่สุดคือหากดูจากสินค้าอุปโภคบริโภคหลายประเภทแล้วกลุ่มผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่ม ซึ่งก็คือสินค้าที่ชี้ให้เห็นถึงปากท้องประชาชนได้ตรงที่สุดนั้น มีอัตราการเติบโตลดลงสูงสุดจากบรรดาทุกกลุ่มผลิตภัณฑ์นะครับ จริงๆ แล้วกลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม MAT ไตรมาส 3 ปีนี้ติดลบอยู่ที่ 2.9% อาจจะฟังดูไม่เยอะแต่ในความเป็นจริงที่เทียบกับปีทีผ่านๆ มาแล้วถือว่าสูงมากนะครับ

การที่อัตราการเติบโตของกลุ่มสินค้าบริโภคลดลงนั้น ปัจจัยหนึ่งมาจากการที่ครัวเรือนไทยเริ่มลดจำนวนประเภทสินค้าที่เคยซื้อกินซื้อใช้ในครัวเรือนลง โดยเฉลี่ยแล้วครัวเรือนไทยเราจะซื้อสินค้าราวๆ 40 ประเภทเข้ามาอุปโภคบริโภคต่อปี ในปี 2013 โดยเฉลี่ยครอบครัวไทยซื้อ 45 กลุ่มสินค้าเข้าบ้าน อย่างไรก็ตาม จำนวนประเภทสินค้าที่เราซื้อเหล่านี้กลับมีจำนวนลดลงเรื่อยๆ โดยในปีปัจจุบันครัวเรือนไทยซื้อสินค้าเฉลี่ยอยู่แค่ 41 ประเภทเท่านั้น แปลว่ามีหลายครอบครัวไทยที่พยายามตัดสินค้าที่อาจจะไม่จำเป็นออกไป บางบ้านในชนบทมีการเลิกใช้โฟมล้างหน้าโดยใช้สบู่หรือน้ำเปล่าล้างหน้าแทน หลายบ้านมีการเลิกใช้น้ำยาปรับผ้านุ่ม ในขณะที่หลายบ้านมีการตัดกาแฟ น้ำผลไม้ โยเกิร์ต ไอศกรีม และขนมขบเคี้ยวลง ซึ่งก็ทำให้อัตราการเติบโตของกลุ่มสินค้าเครื่องดื่มและอาหารลดลงเกือบ 3% อย่างที่กล่าวมาข้างต้น

จริงๆ แล้วไม่เพียงแค่กลุ่มประเภทสินค้าที่ครัวเรือนไทยพยายามตัดลดลง ความถี่ในการเข้าร้านค้าเพื่อซื้อข้าวของในชีวิตประจำวันก็ยังลดลงเช่นกัน ในปี 2013 ครัวเรือนไทยเราไปช้อปปิ้งโดยเฉลี่ย 215 ครั้งต่อปี แต่ในปีล่าสุดตัวเลขนี้เหลือเพียง 188 ครั้งต่อปี เรียกว่าจำนวนครั้งที่ครัวเรือนไทยไปช้อปปิ้งซื้อข้าวของในชีวิตประจำวันลดลงเกือบ 30 ครั้งตั้งแต่ปี 2013 เป็นต้นมาสิ่งทีเกิดขึ้นคือไม่เพียงที่ผู้บริโภคชาวไทยเราจะพยายามตัดข้าวของที่คิดว่าไม่จำเป็นออกไป แต่ยังพยายามบังคับตัวเองไม่ให้ไปช้อปปิ้งเพื่อหวังว่าจะลดค่าใช้จ่ายลงด้วยเช่นกัน พฤติกรรมของครัวเรือนไทยในลักษณะนี้ดำเนินต่อเนื่องมาเป็นเวลากว่า 5 ปีแล้ว ก็เป็นที่น่าแปลกใจนะครับว่าทั้งๆ ที่รัฐบาลบอกเศรษฐกิจดีขึ้น แต่ประชาชนชาวไทยทั่วไปอย่างเราๆ กลับมีความอัตคัดขัดสนจนต้องกระเบียดกระเสียรกระทั่งกับแค่ของกินของใช้ในชีวิตประจำวัน

นโยบายอย่างหนึ่งที่รัฐบาลเริ่มใช้มาสักพักเพื่อช่วยเหลือกลุ่มชาวไทยที่อ่อนไหวต่อสภาพเศรษฐกิจที่สุด คือ บัตรคนจน หากเรามองข้ามผลประโยชน์ทางการเมืองว่ารัฐบาลชุดนี้จะได้เสียงโหวตแค่ไหนจากการออกบัตรนี้ ก็จะพบว่าบัตรนี้มีส่วนช่วยในชีวิตประจำวันของกลุ่มคนถือบัตรจริงๆ เพราะกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่ผู้ถือบัตรนำไปใช้มากที่สุดก็คือสิ่งจำเป็นต่อชีวิตประจำวันของพวกเขาจริงๆ เช่น น้ำยาล้างจาน ผงซักฟอก สบู่ ยาสีฟัน แชมพูสระผม กาแฟ และอื่นๆ

อย่างไรก็ตาม หากตรองดูสักนิดจะพบว่าหากเศรษฐกิจนั้นดีขึ้นจริง และผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจนี้ได้กระจายตัวมาสู่ประชาชนทั่วไปอย่างที่ควรจะเป็นแล้ว เหตุใดยังมีคนหมู่มากที่ต้องพึ่งบัตรคนจนนี้แค่เพื่อให้ได้มาซึ่งผลิตภัณฑ์ขั้นพื้นฐานที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต? หากเศรษฐกิจและรายได้ของประชาชนเพิ่มขึ้นจริงๆ สินค้าอุปโภคบริโภคซึ่งเป็นกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่มีความจำเป็นและไม่ได้มีราคาแพงควรจะเป็นกลุ่มสินค้าแรกๆ ที่ประชาชนทั่วไปน่าจะหาซื้อได้ด้วยตัวเองไม่ใช่เหรอ?

รัฐบาลไม่ได้หลอกลวงว่าเศรษฐกิจมหาภาคนั้นดีขึ้นจริงๆ แต่อาจลืมมองไปว่าหากไม่มีกฎระเบียบ มาตรการด้านภาษี หรือกระบวนการกระจายรายได้ที่ดีแล้วนั้น ตัวเลขเศรษฐกิจที่โตขึ้นจะไม่ได้สะท้อนภาพปากท้องของประชาชนเลย น่าคิดนะครับว่าจริงๆ แล้วจะมีเศรษฐกิจใหญ่โตไปทำไมหากกระทั่งประชาชนของประเทศตัวเองยังต้องกระเสือกกระสนกับการได้มาซึ่งสินค้าอุปโภคบริโภคขั้นพื้นฐาน?