ข้าวโพดอบเนยโกอินเตอร์

จะดีแค่ไหนหากจะมีสินค้าไทย ข้าวโพดอบเนยบรรจุกระป๋องกินได้ทันทีวางขายให้ชาวญี่ปุ่น เป็นที่มาไอเดียสดใหม่ของ “มุกดา สำแดงฤทธิ์ และ ภคีพัธน์ รักตะบุตร” สองสาววัย 17 ปี จากโรงเรียนสามเสนวิทยาลัย ที่คว้ารางวัลชนะเลิศ ประกวดแผนธุรกิจจากบริษัทเฟดเอ็กซ์ เอ็กซ์เพรส ในโครงการ International Trade Challenge 2009

ไอเดียสร้างสรรค์รอบนี้ เป็นของสองสาวจากชั้นมัธยม 6 สายศิลป์คำนวณ ภาคภาษาอังกฤษ จากโรงเรียนสามเสนวิทยาลัย สามารถคว้าชัยชนะในการออกแบบแผนธุรกิจ ผลิตสินค้าเพื่อส่งออกสู่ตลาดโลก ภายใต้โครงการ International Trade Challenge 2009 ซึ่งบริษัทเฟดเอ็กซ์ เอ็กซเพรส จัดแข่งขันมาแล้ว 2 ปี โดยผู้เข้าประกวดต้องเป็นนักเรียนมัธยมปลาย อายุระหว่าง 18-22 ปี

ในไทยนั้น เฟดเอ็กซ์เริ่มจัดประกวดเป็นปีแรก โดยมีนักเรียนระดับมัธยมปลาย 100 กว่าทีม จากทั่วประเทศ เข้าร่วมประกวด ต้องออกแบบผลิตภัณฑ์เพื่อส่งออกสู่ตลาดโลก ยังรวมไปถึงการวางกลยุทธ์การตลาด การส่งเสริมการขาย การกำหนดราคาที่เหมาะสมด้วย

สองสาวจาก Buzz Team เล่าว่า ไอเดียของเธอได้มาจากสิ่งใกล้ๆ ตัว และนำมาต่อยอดแนวคิดการทำผลิตภัณฑ์ ที่เฉือนทีมจากนักเรียนระดับมัธยมปลาย 100 กว่าทีม จากโรงเรียนทั่วประเทศ

“วันนั้นเห็นคุณแม่ซื้อข้าวโพดมา เราเห็นช่องทางว่าข้าวโพดเป็นขนมที่กินได้ทุกเพศทุกวัย พอค้นข้อมูลเพิ่มก็รู้ว่าข้าวโพดไทยมีคุณภาพ ส่งออกไปยังหลายประเทศ รวมถึงประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นประเทศที่คนชอบกินขนม ชอบลองของใหม่ และมีขนมเยอะมาก ถ้าทำข้าวโพดอบเนยแบบกระป๋องไปขายที่นั่น เจาะตลาดใหม่แบบเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายที่เป็นวัยรุ่น” มุกดาเล่าถึงแนวคิดเริ่มแรกของการคิดข้าวโพดอบเนยบรรจุกระป๋องแบบกินได้ทันที (Instant Snack ‘Corn in butter sauce’) โดยมีจุดหมายปลายทางอยู่ที่ประเทศญี่ปุ่น

สิ่งที่ทั้งสองขาดไม่ได้ ก็คือ การสำรวจข้อมูลประกอบ พบว่าคนญี่ปุ่นชอบกินขนมรสหวาน สะอาด อร่อย และดีต่อสุขภาพ ซึ่งขนมเหล่านี้ราคาต่อชิ้นอยู่ที่ร้อยกว่าบาท ข้าวโพดจัดว่าเป็นอาหารเพื่อสุขภาพที่ราคาไม่แพง และหากจะให้ข้าวโพดอบเนยแบบกระป๋องเป็นสินค้าส่งออกก็น่าจะตั้งราคาสูงได้

ต้นทุนของสินค้า สองสาวมาจากการประเมิน และคิดคำนวณมาจากข้อมูลที่ได้มา หากทำยอดขายได้ 5 หมื่นกระป๋อง จะต้องใช้ต้นทุนการผลิต 27,500 บาท ค่าขนส่ง 10,500 บาท และงบการตลาด 3,000,000 บาท เฉลี่ยต้นทุนต่อกระป๋องอยู่ที่ 64 บาท ขายราคา 96 บาท หรือ 300 ? จะได้กำไรกระป๋องละ 32 บาท และหากมีการผลิตมากขึ้น ต้นทุนก็จะลดลง (ดูตารางประกอบ)

Production cost Cost Plus (Bht.)
Material 1.5
Fixed cost 5.5
Export 10.0
Production overhead 0.5
Total production cost 17.5
Japan marketing cost 30
Administration cost 15
Other cost 1.5
Subtotal 64
Profit margin (50%) 96
Selling Price 96 Baht > 300 Yen

ส่วนชื่อแบรนด์ ‘Hurly Burly’ หมายถึงความรีบเร่ง เพื่อให้สอดคล้องกับสังคมในปัจจุบัน และตัวสินค้าก็สามารถตอบสนองความรีบเร่งได้ เพราะเปิดแล้วกินได้ทันที และเก็บไว้ได้นานหลายวัน การออกแบบโลโก้และบรรจุภัณฑ์ต้องเน้นความทันสมัย

ทั้งนี้ การสร้างแบรนด์ให้เป็นที่รู้จัก สองสาว Buzz Team เลือกใช้ TVC เป็นสื่อแรก เพราะคนญี่ปุ่นนิยมดูโทรทัศน์ ตามด้วยโฆษณาในนิตยสาร เพราะชาวญี่ปุ่นรักการอ่าน ต่อด้วย New Media ช่องทางที่กำลังได้รับความนิยม ซึ่งผู้บริโภคจะได้รับข่าวสารจากสื่อประเภทนี้เฉพาะกลุ่ม และจะจัดโรดโชว์ เดินสายแจกสินค้าให้ทดลองชิมฟรี เรียกว่าใช้สื่อทั้ง Above the line และ Below the line

“การจัดส่งสินค้า เราเลือกใช้ทางเรือเพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย ส่วนในด้านการจัดจำหน่ายจะใช้ร้านสะดวกซื้อ (Convenient Store) หรือสายส่งในการกระจายสินค้าไปยังสาขาต่างๆ ซึ่งที่ญี่ปุ่นมีห้างสรรพสินค้าและร้านสะดวกซื้อเกือบ 30,000 สาขา การกระจายสินค้าให้ทั่วถึงจะทำให้ผลิตภัณฑ์เข้าถึงผู้บริโภคมากขึ้น กระตุ้นการซื้อได้ โดยจะเริ่มวางสาขาละ 14-20 กระป๋อง ภคีพัธน์อธิบายแผนกระจายสินค้าในญี่ปุ่น ซึ่งไม่ต้องกังวลกับคู่แข่ง เพราะเป็นสินค้า Unique ที่ยังไม่มีใครผลิต

มร. เดวิด คาร์เด็น กรรมการผู้จัดการ บริษัท เฟดเอ็กซ์ เอ็กซ์เพรส ประจำประเทศไทยและภูมิภาคอินโดจีน และผู้ดูแลการประกวดแผนธุรกิจ เชื่อมั่นว่า การประกวดแผนธุรกิจในระดับนักเรียนเป็นการส่งเสริมให้ใช้ความคิดสร้างสรรค์ และสนับสนุนเยาวชนให้มีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับธุรกิจและการค้า อันเป็นรากฐานสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ ถ้าแผนธุรกิจใดดีและมีความพร้อม ก็จะส่งเสริมให้ได้ทำจริงในอนาคต เช่น แบรนด์ Hurly Burly ที่คิดขึ้นโดยนักเรียนอายุสิบเจ็ด

Core Idea
โครงการที่ส่งเข้าประกวด International Trade Challenge 2009
สินค้า ข้าวโพดอบเนยแบบพร้อมรับประทาน ยี่ห้อ Hurly Burly ที่หาซื้อง่าย เหมาะเป็นสินค้าส่งออกไปยังตลาดญี่ปุ่น และที่นั่นไม่มีการผลิตข้าวโพด วัยรุ่นญี่ปุ่นนิยมบริโภคขนมรูปแบบใหม่
การบริโภค ฉีกซองแล้วคลุกข้าวโพดกับเนยให้เข้ากัน บริโภคได้ทันที หรือเข้าเตาอบไมโครเวฟก่อนเพื่อความหอมอร่อย
จุดเด่นที่ทำให้ได้รับรางวัล/ แผนการผลิตและการตลาดของข้าวโพดอบเนย Hurly Burly แสดงถึงความคิดสร้างสรรค์ของนักเรียนมัธยม ที่มีความเข้าใจเกี่ยวกับการวิจัย การวางแผนการตลาด มีทักษะของการเป็นผู้ประกอบการที่พร้อมเข้าไปเปิดตลาดใหม่ และแผนดังกล่าวมีความเป็นไปได้ในทางธุรกิจ แต่ยังต้องรอจังหวะและโอกาสที่เหมาะสม

วิเคราะห์ SWOT
Strength
– โรงงานมีความสามารถในการผลิต
-มีทักษะทางด้านการตลาดที่ดี
– มีระบบการจัดการวัตถุดิบที่ดี
-ยังไม่เคยมีใครทำมาก่อน
-มีระบบการจัดการด้านการเงินที่ดี

Weakness
-ไม่มีโปรดักต์ไลน์
– เป็นแบรนด์ใหม่ เพิ่งมีในตลาด

Opportunity
– การเจาะตลาดขนมญี่ปุ่นไม่ใช่เรื่องยาก
– ข้าวโพดไทยมีคุณภาพสูง และได้ส่งออกไปยังประเทศญี่ปุ่นอยู่แล้ว

Threat
– การที่จะสร้างแบรนด์ใหม่ให้ประสบความสำเร็จจะต้องเวลา และต้องการการวิเคราะห์และวางแผนตลาดอย่างใส่ใจ