ถอดรหัส “เดอะทอยส์” อะไรคือความสำเร็จของนักร้องรุ่นใหม่

ยิ่งไม่เข้าใจยิ่งดัง ยิ่งมีดรามาซ้ำ ก็ยิ่งส่งกระแส ถ้าผ่านเวทีเมืองนอกมาแล้ว คนไทยยิ่งยอมรับง่ายขึ้น คุณสมบัติเหล่านี้เหมือนจะกลายเป็นส่วนประกอบความดังของนักร้องยุคนี้ไปแล้ว เพราะดูเหมือนว่าอะไรที่มันไม่ลงตัว ชวนเอ๊ะนี่แหละ ที่กลายเป็นแรงดึงดูดทำให้ “นักร้องรุ่นใหม่” ได้รับความสนใจและอาจจะถึงกับเป็นสปริงบอร์ดให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น

เรื่องแบบนี้ปฏิเสธไม่ได้ เพราะไม่ว่าวงการเพลงเมืองไทยจะพัฒนาไปแค่ไหน และนักฟังเพลงของไทยจะเริ่มรู้จักหันไปโฟกัสนักร้องที่ความสามารถมากขึ้นกว่าเดิมแล้วก็ตาม แต่สไตล์ผู้บริโภคไทยก็ยังสนใจและมองข้ามไม่พ้นชีวิตส่วนตัวรวมถึงบุคลิกภาพของนักร้อง และไม่เคยวางเรื่องเหล่านี้แยกจากผลงาน ทำให้องค์ประกอบเหล่านี้ยังต้องมีผลต่อความสำเร็จและความดังของนักร้องไทยจนถึงปัจจุบัน

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ต้องเริ่มมาจาก “ความสามารถ” ที่นักร้องเหล่านั้นมีอยู่แล้วในตัวเสียก่อน ไม่ใช่ว่าไม่มีของ ไม่มีดี แล้วจะมาอาศัยแค่กระแส ดรามา สร้างแบรนด์ ก็หมดยุคแล้วเช่นกัน เพราะคุณสมบัติแท้เท่านั้นที่จะบ่งบอกได้ว่าเป็นตัวจริงอย่างไร และยิ่งสร้างความมั่นใจให้คนฟังมากยิ่งขึ้น เมื่อเขาอยากรู้จักแล้วเจอข้อมูลที่ทำให้ว้าว

ความรู้สึกพวกนี้ไม่ใช่ของแปลกใหม่ เพราะผู้บริโภคทั่วไป มักจะรู้สึกภูมิใจเสมอถ้าสิ่งที่ตนเลือกเป็นของดีที่สามารถสะท้อนกลับมาเพิ่มความรู้สึกดีๆ เช่น การเลือกใช้ หรือชอบแบรนด์ที่บอกได้ว่าเป็นคนตาถึง ช่างเลือก แต่ก็ไม่แปลกเช่นกัน ที่จะมีผู้บริโภคบางกลุ่มที่มีความมั่นใจในสิ่งที่เลือกโดยไม่แคร์อะไร

ความรู้สึกเหล่านี้ถือเป็นข้อดีของผู้บริโภคยุคนี้ จากที่มีความเป็นตัวของตัวเองที่หลากหลายมากขึ้น พอๆ กับบรรดาสินค้า หรือนักร้องในวงการดนตรี นั่นคือพร้อมจะแสดงออกว่า ตัวเองเป็นแนวไหน เป็นคนอย่างไรผ่านสิ่งที่ชอบ

ไม่ต้องเพอร์เฟกต์แต่ต้องยูนีกและเรียล

สำหรับวงการเพลง ความรู้สึกที่ส่งผลถึงพฤติกรรมผู้บริโภคที่หลากหลายนี่เอง ทำให้วงการได้เห็นนักร้องรุ่นใหม่ๆ ที่อาจจะทำให้บางคนที่ยังติดกับภาพนักร้องรุ่นเก่า ต้องทำความเข้าใจเด็กยุคใหม่จากพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปตามยุคสมัยเสียที

ในวงการตลาด พูดกันถึงแบรนด์ยุคนี้ที่ได้รับผลจากโลกดิจิทัลที่ต้องทำอะไรด้วยความรวดเร็วกว่าเดิมหลายเท่า เพราะโลกการตลาดต้องการความเร็ว เหมือนที่คนนิยามว่า เป็นยุคปลาเร็วกินปลาช้า ปลาตัวเล็กที่ปราดเปรียวก็พร้อมจะตอดปลาใหญ่จนตายได้ ซึ่งมีผลให้แบรนด์ยุคนี้อาจจะไม่จำเป็นต้องเพอร์เฟกต์อีกต่อไป แต่ต้องมีจุดยืนและจุดแข็งของตัวเองที่ชัดเจน และมีเอกลักษณ์ด้วยยิ่งดี

ภาพจาก : facebook.com/thisisthetoy

คุณสมบัติแบบนี้คือสิ่งที่นักร้องที่กำลังมาแรงอย่าง เดอะทอยส์ (The Toys) ธันวา บุญสูงเนิน มีอยู่ในตัวเองโดยธรรมชาติ และจากพัฒนาการด้านดนตรีที่สะสมมาหลังจากที่เขาตัดสินใจชัดเจนแล้วว่าจะเอาจริงเอาจังกับงานดนตรีตั้งแต่วัยรุ่น จนเลือกที่จะเดินออกจากระบบการศึกษาซึ่งต่างจากเด็กไทยวัยเดียวกัน

จนผ่านเส้นทางที่ทำให้หลอมรวมกันจนกลายเป็นความเรียล (Real) ที่มีเอกลักษณ์ และกลายเป็นแรงดึงดูดที่ทำให้คนได้ฟังเพลง ได้เห็นผ่านการแสดง เริ่มสนใจ และสามารถเพิ่มน้ำหนักความชอบมากขึ้นเมื่อได้รู้ที่มาที่ไปเบื้องหลังผลงานเพลงและภาพลักษณ์ที่ได้เห็น

เดอะทอยส์เริ่มเป็นที่สนใจจากเสียงเพลงและเนื้อหาที่สะดุดหู ท่อนแร็ปรัวๆ ที่ฟังไม่ทัน จับใจความไม่ได้ แต่มันเหมือนจังหวะดนตรีที่ทำให้ต้องฟังซ้ำ หาความหมาย จนคนฟังไม่ปล่อยผ่าน และภายใต้หน้านิ่งๆ ไม่หยิ่ง ไม่ยิ้ม ดูสื่อสารกับคนรอบตัวไม่รู้เรื่อง รวมทั้งดูเหมือนว่าจะไม่มีคำว่า “แฟนเซอร์วิส” อยู่ในหัวแม้ในยามที่ต้องปรากฏตัวต่อสาธารณชน ก็เป็นภาพที่ขัดแย้งจากนักร้อง หรือไอดอลทั่วไป

นี่คือภาพของเดอะทอยส์ โดยเฉพาะจากการไปร่วมงาน MAMA หรือ MNet Asian Music Award 2018 เมื่อต้นเดือนธันวาคม 2018 ที่ผ่านมาที่ประเทศเกาหลี พร้อมกับคว้ารางวัล Best New Asian Artist Thailand และโชว์เพลงก่อนฤดูฝนที่มีท่อนแร็ปรัวเร็วที่เจ้าตัวเผยว่า ตั้งใจร้องให้คนร้องตามไม่ได้ แต่กลายเป็นท่อนที่ส่งให้คนไทยรวมทั้งคนเกาหลีถูกเดอะทอยส์ตกมาเป็นแฟนจำนวนมาก โดยเฉพาะสถิติที่ยืนยันได้จากชื่อ The Toys ขึ้นเทรนด์คำค้นอันดับหนึ่งของเกาหลีในช่วงนั้น

สิ่งที่เกิดขึ้นย้ำไอเดียของทอยในการทำเพลงที่ว่า เพลงที่เข้าถึงง่าย ไม่มีสเต็ป จะไม่มีแรงดึงดูด และเขาก็เลือกทำเพลงที่อยากจะทำโดยให้น้ำหนักถึง 80% มากกว่าที่จะเลือกทำเพลงตามใจตลาด

งาน  MAMA 2018 ยังเป็นที่มาให้เกิดบทดรามาจากฝั่งประเทศไทย จากจุดเล็กๆ เพียงแค่ทอยทำมือเป็นรูปมินิฮาร์ทผิดทรง แล้วหลังจากมีการค้นข้อมูลที่ไม่รู้เป็นอะไรจะต้องเกิดทัศนคติลบๆ ปนมากับงานเพลงและศิลปินที่น่าชื่นชมทุกทีไป เป็นเรื่องแม้กระทั่งชื่อเล่นที่แท้จริง ความเป็นธรรมชาติซื่อๆ ใสๆ ที่ถูกมองเป็นเรื่องเด๋อด๋าของคนบางกลุ่ม ที่แรงสุดก็น่าจะเป็นเซียนเพลงสมัครเล่นที่ออกมาถอดรหัสทำนองสไตล์เพลงที่หาว่าย้อนไปก๊อปไกลถึงงานเพลงในยุค 80 กันเลยทีเดียว

โชคดีที่ได้กระแสชื่นชมจากต่างประเทศ เพราะขณะที่คนบางกลุ่มในไทยมองว่าเด๋อด๋า อย่างในเกาหลีกลับมองเป็นเรื่องน่ารักใสๆ ของหนุ่มขี้อาย บวกกับขาใหญ่ในวงการเพลงอย่าง ป๋าเต็ด-ยุทธนา บุญอ้อม ที่ออกมาดับดรามาไปได้เสียก่อนจนได้สติขึ้นมา

หลุดเรื่องดรามา มาดูเนื้องานความเป็นเดอะทอยส์ ต้องบอกว่า เดอะทอยส์นับเป็นแบรนด์ที่มีพื้นฐานพร้อมดังที่เข้ากับยุคนี้ในหลายประเด็น

ที่ขาดไม่ได้คือ ความเก่งรอบด้าน ที่ได้มาโดยสายเลือดส่วนหนึ่งบวกกับการฝึกฝนด้วยตัวเองและประสบการณ์ทำงานในวงการเพลงตั้งแต่เด็กเมื่อรู้ตัวว่าชอบอะไร

ยุคนี้ไอดอลส่วนใหญ่ โดยเฉพาะไอดอลเกาหลี แต่ละค่ายต่างก็ต้องสอนทุกเรื่องที่นักร้องควรรู้ทั้งดนตรี การเขียนเพลง การเต้น การร้อง แต่เดอะทอยส์ทำทุกอย่างนี้มาด้วยตัวเอง (ปล.อาจจะเว้นการเต้น)

ทอย เป็นคนที่มีความสามารถเล่นดนตรีได้ แต่งเพลงเป็น ทั้งเนื้อร้อง ทำนอง โปรดิวซ์ รวมทั้งร้องเองเมื่อเพลงที่แต่งถูกคนอื่นปฏิเสธ และนี่อาจจะเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เพลงเข้าถึงอารมณ์ได้ดียิ่งขึ้น

ใครเคยฟัง ลาลาลอย ผลงานล่าสุดของเดอะทอยส์ ก็อาจจะพอนึกออกกับเนื้อหาและทวงทำนองเพลงที่ปล่อยไหลไปตามอารมณ์ เพราะเอาจริงๆ คนส่วนใหญ่เวลาฟังเพลงมักจะเน้นอารมณ์เพลงเป็นหลักมากกว่าเนื้อเพลง ซึ่ง ทอย ก็เล่าถึงที่มาของเพลงนี้ว่า ได้ไอเดียมาจากเห็นลูกโป่งที่หลุดลอยผ่านหน้ารถ แล้วก็เลยผ่านไปแค่นั้น จนกลายมาเป็นเพลงหนึ่งเพลง

ประสบการณ์ที่หลอมมาเป็นทอย และทำให้เขามีความสามารถที่จะสร้างผลงานเพลงทั้งหมดได้ด้วยตัวเองเพียงคนเดียว จากเบื้องหลังมาถึงเบื้องหน้าแบบครบ 360 องศา กับงานเพลงที่โดนใจคนรุ่นใหม่ วันนี้เลยทำให้เดอะทอยส์ ได้รับการยอมรับจากกลุ่มคนฟังในช่วงวัยเดียวกัน และกลายมาเป็นไอดอลโดยที่ไม่ต้องพยายามแสดงอะไรให้มากไปกว่าแสดงออกตามธรรมชาติและความเป็นเอกลักษณ์ที่มีอยู่ในตัว ซึ่งรวมถึงไม่ต้องพยายามสื่อสาร เพราะเขากลายเป็นแบรนด์ที่คนพยายามที่จะรู้จักและเข้าใจมากขึ้นเมื่อเกิดความชื่นชอบ

อย่างไรก็ตาม หากสังเกตถ้าเป็นการพูดคุยเรื่องดนตรี ต้องยอมรับว่าบทสนทนาของทอยจะลื่นไหลเป็นพิเศษ

หากให้สรุปเหตุความดังของเดอะทอยส์ ณ วันนี้ ต้องพูดเลยว่า เป็นเพราะเขาพัฒนามาบนสิ่งที่เขาสนใจตั้งแต่ต้นและไม่เคยหยุด จะว่าไปก็เหมือน kaizen หรือ การพัฒนาอย่างต่อเนื่องในสไตล์ญี่ปุ่นดีๆ นั่นเอง อีกทั้งการพัฒนานั้นเกิดขึ้นบนจุดแข็งหรือความสามารถที่ตัวเองมีโดยไม่ได้ปรับเปลี่ยนไปตามกระแส จนทำให้สิ่งที่ทำมันกลายเป็นกระแสขึ้นมาในที่สุด และที่ขาดไม่ได้อย่างวงการเพลงซึ่งถือเป็นงานสร้างสรรค์คือการใช้ครีเอทีฟมายด์เป็นตัวขับเคลื่อนเหมือนปล่อยเพลงไหลไปตามอารมณ์มากกว่าเน้นเรื่องความคิดในเนื้อหาเพลง ขณะเดียวกันก็แสดงความรู้สึกและเป็นตัวของตัวเองด้วยการแสดงออกตรงไปตรงมาโดยไม่พยายามต้องเป็นแบบใครหรือเพื่อทำให้ดูดี ซึ่งสำหรับเดอะทอยส์ความตั้งใจที่ไม่จำเป็นต้องเหมือนใครนี่เอง ทำให้เขาไม่เหมือนใครโดยธรรมชาติจนเป็นเอกลักษณ์.