Thai Premier League The success start

ผู้ชมเต็มสนามฟุตบอล ชูผ้าพันคอ ตะโกนร้องเพลงเชียร์ ใส่เสื้อสีเดียวกัน พร้อมป้ายโฆษณาขึ้นพรึ่บรอบสนาม กลายเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างไม่น่าเชื่อในพื้นที่ทั่วประเทศทุกสัปดาห์เกือบตลอดปีที่ผ่านมาในช่วงฤดูกาลแข่งขันไทยพรีเมียร์ลีก เป็น Big Event เหนือความคาดหมาย สร้างเม็ดเงินสะพัดทั้งในวงการกีฬา สื่อ โฆษณา และธุรกิจหลากหลายประเภท

“ไทยพรีเมียร์ลีก” ก้าวกระโดดครั้งใหญ่ จากแรงกดดันของสมาพันธ์ฟุตบอลเอเชีย (Asian Football Confederation) หรือ เอเอฟซี ที่วางวิสัยทัศน์แห่งเอเชีย (Vision Asia) ตามด้วยกฎเกณฑ์คุมเข้มให้ “ฟุตบอล” เป็น “อาชีพ” “มาตรฐาน” และ “ธุรกิจ” ตั้งแต่ตัวนักฟุตบอลไปจนถึงสนาม และแฟนคลับ โดยทุกสโมสรและสมาคมไม่มีทางเลือก ต้องแลกกับตกชั้นหลุดหายไปจากฟุตบอลระดับภูมิภาค และบอลโลก

การลงทุนและกลยุทธ์การตลาดแบบครบวงจร ตามกฎเอเอฟซีจึงเกิดขึ้น พลิกก้าวเข้าสู่ธุรกิจที่มีเม็ดเงินหมุนเวียนสะพัดเกือบพันล้านในปีนี้ และคาดว่าจะถึงหลายพันล้านในปีต่อไป ด้วยฐานแฟนบอลเพิ่มจากพันเป็นหมื่น และถึงล้าน

ไม่เพียงธุรกิจที่ได้ประโยชน์จากสื่อใหม่นี้ แต่ “การเมือง” ก็ลงมาอย่างเต็มตัว พาเหรดกันมาเลือกสนับสนุนทีมสโมสรต่างๆ ไม่ว่าจะระดับท้องถิ่นหรือระดับชาติ

สนามนี้จึงคึกคักแข่งขันสูง จนแต่ละสโมสรต้องวางPositioning และโมเดลการตลาดและการจัดการที่เป็นเอกลักษณ์ของตัวเอง เพื่อชิงส่วนแบ่งทั้งผู้ชมและเม็ดเงินจากสปอนเซอร์ ที่เริ่มเล็งเห็นโอกาสที่จะมีผลต่อแบรนด์และยอดขายมากขึ้น จากกลยุทธ์ Sport Marketingโดยเฉพาะจาก 3 อันดับสูงสุดในลีกนี้ของปี คือเมืองทอง ยูไนเต็ด ชลบุรี เอฟซี และบางกอกกล๊าส เอฟซี ที่ต่างใช้จุดแข็งตั้งแต่แฟนบอลไปจนถึง “เครื่องมือที่เป็นสื่อ” จนได้ประโยชน์สูงสุด

ปรากฏการณ์ไทยพรีเมียร์ลีกที่แรงจนฉุดกระแสไม่อยู่นี้ เป็นจุดเริ่มต้นความสำเร็จ “ฟุตบอลไทย” ที่ไร้สีสันมานานกว่า 50 ปี เมื่อใส่ “มาร์เก็ตติ้ง” เต็มที่แล้ว อะไร อะไร ก็เกิดขึ้นได้