จุดเปลี่ยนบอลไทย ! กฎเหล็กคุณภาพ-การตลาดต้องแรง

“ถ้าไม่ปรับตัว ก็ต้องถูกเขี่ยไปเป็นประเทศชั้นสองของวงการลูกหนังเอเชีย” ทางเลือกเดียวนี้ทำให้วงการฟุตบอลไทยพลิกโฉมภายในเวลาไม่ถึงปี กลายเป็นส่วนหนึ่งในไลฟ์สไตล์ของคนไทยจำนวนนับล้านคน ที่ทั้งตีตั๋วแห่เข้าสนามไปเชียร์ พร้อมกับซื้อเสื้อ ผ้าพันคอมาใส่และชูในสนาม กลายเป็นสื่อใหม่มาแรงธุรกิจตื่นตัวมาเป็นสปอนเซอร์ เกิดเม็ดเงินสะพัดหลายร้อยล้านบาท และยังกลายเป็นฐานคะแนนเสียงให้นักการเมืองนำมาใช้อย่างคึกคัก

ปรากฎการณ์ใหม่นี้เกิดจากจุดเปลี่ยนสำคัญคือ Vision Asia ที่สมาพันธ์ฟุตบอลแห่งเอเชีย หรือ AFC (Asian Football Confederation) ตั้งเป้าให้ฟุตบอลเอเชียทั้งทวีปต้องเป็นมืออาชีพและเติบใหญ่เทียบมาตรฐานยุโรป นำมาสู่การออกกฎเข้มที่บังคับให้สโมสรฟุตบอลต้องสร้างสินค้าที่ได้คุณภาพพร้อมกลยุทธ์การตลาดครบวงจร ทำให้บอลไทยสามารถดึงคนให้เข้ามาเป็นแฟนบอลได้เต็มสนาม หล่อเลี้ยงความเติบโตด้วยเม็ดเงินจากคนดูและสารพัดแหล่ง ให้ไหลบ่าเข้าสู่วงการฟุตบอลของไทยชนิดเหนือความคาดหมาย

เบื้องหลังการรื้อปรับระบบบริหารจัดการของสโมสรฟุตบอลของไทยและระบบไทยพรีเมียร์ลีก ไปจนถึงลีกดิวิชั่น1 และดิวิชั่น2 จนสามารถปลุกกระแสความตื่นตัวของแฟนบอลและสื่อได้สำเร็จนั้น ต้องยกเครดิตให้ มาตรการใหม่ของ AFC หรือสมาพันธ์ฟุตบอลแห่งเอเชีย เป็น”ยาแรง” ให้สโมสรฟุตบอลต้อยกเครื่องใหม่ถอดด้าม

กลางปี 2551 AFC ได้ประกาศ “Vision Asia” ให้วงการฟุตบอลของทุกประเทศในเอเชีย ต้องเป็นธุรกิจ เต็มตัว บริหารการตลาด การเงิน และทุกด้านอย่างเป็นมืออาชีพ พร้อมทั้งลงดาบประเมินและบังคับให้ไทยกับอีกหลายประเทศต้องรีบปฏิบัติตาม มิฉะนั้นจะถูกตัดสิทธิส่งทีมลงเล่นในถ้วยสูงสุดของสโมสรในเอเชียคือ AFC Champion League ที่มีรางวัลใหญ่และสร้างรายรับให้สโมสรที่มีโอกาสเข้าร่วมได้อย่างมากมาย

จากผลการประเมินนั้น ไทยได้รับเพียง 221 คะแนนจากคะแนนเต็ม 500 และอยู่ในอันดับ 12 จากทั้งหมด 21 ชาติ ทำให้ทีมสโมสรจากประเทศไทยมีโควตาเหลือเพียงทีมเดียว และต้องไปเริ่มที่รอบคัดเลือก หากแพ้ก็ตกรอบทันที แทนที่จะเป็นรอบแบ่งกลุ่มเหมือนเดิมซึ่งเล่นได้หลายนัดสร้างรายได้ให้มากกว่า

นอกจากนี้ไทยยังเสี่ยงที่จะตกไปอยู่ท้ายตารางเสมอ เพราะชาติที่อยู่ล่างกว่าลงไปเช่นซีเรียกับจอร์แดนนั้นมีคะแนนสูงกว่าไทยเพียงแต่ยังส่งเอกสารไม่ครบ ซึ่งหากเกิดขึ้นจริง ไทยก็จะได้สิทธิเล่นแค่บอลถ้วยเล็กๆ ที่ชื่อ AFC Cup ที่มีรางวัล เงินสนับสนุน และผลประโยชน์ที่ด้อยกว่า AFC Champion League ซึ่งมีเงินรางวัลให้ทีมแชมป์คิดเป็นเงินไทย 45 ล้านบาท รองแชมป์ 36 ล้านบาท และมีเงินเข้ารอบอีกมากมายอย่างลิบลับ

“ถ้าเราไม่ได้ไป AFC Champion League ก็จะไม่รู้เขารู้เราว่าชาติอื่นไปถึงไหนแล้ว ไม่ต้องหวังไปบอลโลกเลย” องอาจ ก่อสินค้า เลขาธิการสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทย และกรรมการบริษัทไทยพรีเมียร์ลีก อธิบายให้ POSITIONING ฟัง ถึงผลร้ายที่ทุกฝ่ายตระหนักร่วมกันว่าจะทำให้วงการฟุตบอลโดยรวมให้ขาดแรงจูงใจในการพัฒนา ขาดประสบการณ์ระดับนานาชาติ ทำให้ความฝันให้ทีมชาติได้ไปฟุตบอลโลกนั้นห่างไกลออกไปอีกแบบไม่มีหวัง

ก่อนจะมาเป็นเลขาธิการสมาคมฟุตบอลไทย “องอาจ” เคยเป็นนักฟุตบอล และเคยเป็นผู้จัดการทีมที่มีผลงานพาสโมสร BEC Tero ไปคว้าอันดับสอง AFC Champion League อย่างที่เกือบจะได้แชมป์มาแล้วเมื่อปี 2545 เขาจึงรู้ดีว่าสุดยอดการแข่งขันรายการนี้มีความหมายกับการพัฒนาฟุตบอลไทยแค่ไหน

กฎข้อบังคับใน “Vision Asia” นั้นมีนับสิบข้อ ที่สำคัญๆ เช่นให้สโมสรฟุตบอลสมาชิกของแต่ละประเทศต้องจดทะเบียนนิติบุคคลเชิงพาณิชย์ ต้องแสวงหารายได้และกำไรอย่างเป็นธุรกิจอย่างเต็มตัว จะแจกบัตรฟรีเพื่อประชาสัมพันธ์ให้องค์กรไหนบริษัทใดหรือหาเสียงทางการเมืองก็ไม่ได้ทั้งสิ้น และก็ต้องมีการตั้งองค์กรจัดการแข่งขันส่วนกลางขึ้นมาจัดการแข่งขันตลอดไป

ประสานมือพลิกวิกฤต

วิกฤตนี้เริ่มกลับกลายเป็นผลดีเมื่อสามารถกระตุ้นให้ทุกฝ่ายหันมาหารือจับมือกันเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่

เริ่มจากสมาคมฟุตบอลไทยจึงได้จัดตั้งบริษัท ไทยพรีเมียร์ลีก จำกัด ในเดือนตุลาคม 2551ด้วยทุนจดทะเบียน 5ล้านบาท ขึ้นมา พร้อมกับร่วมมือกับการกีฬาแห่งประเทศไทยรื้อระบบและกฏเกณฑ์จัดการแข่งขันฟุตบอลอาชีพแห่งประเทศไทยใหม่ทั้งหมดโดยอิงกับข้อบังคับของ AFC แล้วออกกฎให้ทุกสโมสรอาชีพต้องปฏิบัติตามข้อบังคับอย่างเคร่งครัด เน้นไปที่การตลาดเพื่อดึงคนมาเป็นแฟนคลับ และการบริหารภายในที่ต้องเป็นธุรกิจเต็มตัว

ผู้บริหารคนแรกของบริษัทไทยพรีเมียร์ลีกก็คือ “ดร.วิชิต แย้มบุญเรือง” ในตำแหน่งประธาน ซึ่ง ดร.วิชิต บอกว่าก่อนสตาร์ททำงาน ต้องมีงบเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายก่อน นอกเหนือจากได้งบจากสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทยแล้ว จึงได้ใช้สายสัมพันธ์ที่เคยทำงานและเป็นผู้บริหารของ ปตท. นานนับสิบปี ดึงเม็ดเงินสนับสนุน 10 ล้านบาทให้มาเป็นสปอนเซอร์หลักรายแรกของไทยพรีเมียร์ลีกปี 2552 ซึ่ง ปตท. จะได้โฆษณาผ่านป้าย Aboard (หลังประตู) ในทุกสนามของทุกสโมสร ได้ออกโฆษณาทีวี 10 ครั้ง และได้พิมพ์โลโก้ที่แขนเสื้อด้านขวา ใต้โลโก้ไทยพรีเมียร์ลีก (TPL) นักฟุตบอลทุกคน ส่วนผู้สนับสนุนรองๆ รายละ 1 ล้านบาท อย่าง M150, Coke, เบียร์ช้าง และ Nike ที่มอบลูกฟุตบอล 500 ลูก กระจายไปทั่วทุกสนามแข่งนั้น จะได้ป้ายโฆษณาในทุกสนามเป็นหลัก

เมื่อได้งบแล้ว ดร.วิชิตก็สวมบท “มือประสานสิบทิศ” เดินสายคุยกับเจ้าของและผู้บริหารของสโมสรต่างๆ ด้วยเป้าหมายที่เขาบอกว่า ต้อง Share Vision โดยเฉพาะกับเบอร์ 1 เจ้าของทุนของแต่ละสโมสรของไทย ตั้งแต่ ชลบุรีเอฟซี ที่ก้าวล้ำหน้าทีมอื่นในความเป็นสโมสรอาชีพไปก่อนแล้ว, เมืองทองยูไนเต็ด ของ “ระวิ โหลทอง” แห่งสยามกีฬาที่เพิ่งขึ้นไทยพรีเมียร์ลีกมาขณะนั้น, บางกอกกล๊าสของค่ายเบียร์สิงห์ กับ “ปวิน ภิรมย์ภักดี” ประธานสโมสร ไปจนถึงสโมสรเก่าแก่อย่าง การท่าเรือไทยเอฟซี และอีกเกือบทุกสโมสรในไทยพรีเมียร์ลีก เพื่อให้ผู้บริหารพร้อมทุ่มทุนยกระดับตัวเองขึ้นไปพร้อมกัน เพื่อให้ผ่านเกณฑ์ของ AFC ได้เร็วที่สุด ก่อนที่ AFC จะประเมินครั้งต่อไปในปี 2010 และหากยังไม่ผ่านเกณฑ์อีก หรือคะแนนแย่กว่าเดิม จะถูกลงโทษตัดลดสิทธิทันทีและมีผลไปถึงปี 2012 เลยทีเดียว นั่นหมายถึงอนาคตลูกหนังไทยจะซบเซาจนยากที่จะฟื้นกลับคืน

จากการลงแรงประสานของ ดร.วิชิต และความตื่นตัวของทุกสโมสร ที่ทำให้เริ่มมีกระแสผ่านสื่อ กับแฟนบอลทำให้ก้าวนี้เป็นไปอย่างพร้อมเพรียง ทุกสโมสรกลายเป็นธุรกิจเต็มรูปแบบ มีสีสันและเอกลักษณ์เฉพาะตัว คอบอลเริ่มหันกลับมาเดินเข้าสนามของสโมสรต่างๆ อย่างทั่วถึง เริ่มมีบรรยากาศการเชียร์ที่เร้าใจ เริ่มถูกพูดถึงถี่ขึ้นเรื่อยๆ

8P สูตรเด็ดการตลาดฟุตบอล

“ทีมฟุตบอลเป็นสินค้า เป็นธุรกิจ Show Business อย่างหนึ่ง” ดร.วิชิตเปรียบให้ POSITIONING ฟัง

หลังจากเข้าถึงระดับบิ๊กแต่ละสโมสรแล้ว ดร.วิชิตจึงจัดคอร์สอบรมทางการตลาดให้กับผู้แทนของสโมสรฟุตบอลของไทย หลังจากที่เขาได้ผ่านการประชุมกับทาง AFC มาก่อนหน้านั้น ที่สำนักงานใหญ่ AFC กัวลาลัมเปอร์ มาเลเซีย

หลักการตลาดสำหรับวงการฟุตบอลนั้น ดร.วิชิตสรุปว่าต้องใช้หลัก “8P” มากกว่า 4P ที่หลักการตลาดใช้กับสินค้าทั่วไป ดังนี้
Product คือ นักฟุตบอล
Price คือ ค่าบัตร
Place คือ สนามฟุตบอล
Promotion คือ การสร้างแฟนคลับ การโฆษณาประชาสัมพันธ์ และการทำงานร่วมกับสื่อสารมวลชน เพราะแฟนคลับคือผู้บริโภค ที่ต้องสร้างเพื่อให้เกิดลอยัลตี้ต่อแบรนด์

อีก 4Pที่เพิ่มขึ้นมาเพื่อการสร้างลีกฟุตบอลอาชีพโดยเฉพาะ คือ

Physical Evidence คือสัญลักษณ์ที่เป็นรูปธรรม โลโก้ ตราสโมสรต้องเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวจับต้องได้ ง่ายต่อการจดจำและพูดถึง สื่อผ่านสิ่งที่จับต้องได้ อย่าง Mascot เช่นในอังกฤษที่สโมสรลิเวอร์พูลเป็นหงส์แดง อาร์เซนอลเป็นปืนใหญ่

Process การบริหารต้องมีการจัดองค์กรแบบธุรกิจฟุตบอลอาชีพ ตามรายละเอียดที่ AFC กำหนดไว้ในข้อบังคับ

People สโมสรต้องมีบุคลากรทำงานให้อย่าง Fulltime ในตำแหน่งพื้นฐานสำคัญๆ เช่นบัญชี การตลาด ไม่ใช่นำงานไปฝากไว้กับบริษัทหรือรัฐวิสาหกิจต้นสังกัดอย่างที่เคยเป็นมาในวงการฟุตบอลไทยอย่างยาวนาน
Productivity ต้องมีระบบบัญชีและการเงินที่บันทึกต้นทุนรายรับรายจ่ายอย่างชัดเจน มีการบริหารที่มีประสิทธิภาพ เอื้อต่อการที่สโมสรจะยืนได้ด้วยตัวเอง

แม้จะเป็นเสมือนยาขมที่ AFC มาเคี่ยวเข็ญคาดโทษวงการฟุตบอลไทย แต่เป้าหมาย “Vision Asia” และหลักเกณฑ์การสร้างทีม และการวาง Know-how หลักการตลาดฟุตบอลจาก AFC นั้น กลับช่วยยกระดับฟุตบอลไทยได้อย่างมหาศาล เพราะทั้งสมาคมฟุตบอล สโมสรต่างๆ และสื่อ ต่างตื่นตัวกับข่าวนี้ และร่วมแรงกันสร้างองค์ประกอบต่างๆ ใหม่ให้เป็นไปตามกฎหลายสิบข้อของ AFC แบบที่ไม่เคยเป็นมาก่อน

“ตอนนี้เราได้รับการตอบสนองจากทุกสโมสรดีมาก ทั้ง 16 ทีมปรับตัวจนผ่านเงื่อนไขของ AFC ได้เกือบทุกทีมแล้ว” องอาจสรุปให้ POSITIONINGฟัง พร้อมทั้งชื่นชมว่า “ความนิยมของแฟนบอลไทยมาเร็วเกินกว่าที่เราคาดหวังไว้อย่างมาก”

ส่วน ดร.วิชิตยกตัวอย่างกระแสฮิต “เด็กหงส์” และ “เด็กผี” ซึ่งเรียกแทนคนไทยที่คลั่งไคล้ในทีมลิเวอร์พูลกับแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ด ว่าคนไทยยังคลั่งไคล้ทีมต่างชาติ ทั้งที่อยู่ห่างไกลคนละซีกโลกถึงขนาดจำชื่อนักฟุตบอลได้หมด พร้อมจะซื้อเสื้อ ผ้าพันคอ และของที่ระลึกต่างๆ หากไทยพรีเมียร์ลีกทำตลาดได้อย่างครบวงจร บริหารจัดการดี แฟนบอลก็ต้องเทใจให้สโมสรไทยอย่างแน่นอน

“คนไทยมีความ “อิน” กับฟุตบอลอยู่แล้ว แต่ถูกบอลนอกแย่งความนิยมไป บอลไทยถึงจะดึงตรงนี้ออกมาได้ก็ต้องมีการ Organize ที่ดี”

ดร.วิชิตย้อนอดีตว่าสมัยที่ตนเป็นนักฟุตบอลทีมชาติไทยเมื่อเกือบ 50 ปีที่แล้ว มาจนถึงยุคของปิยะพงศ์ ผิวอ่อน เมื่อราวยี่สิบปีก่อนนั้น คนไทยเคยชื่นชอบคลั่งไคล้ฟุตบอลไทย เพราะไม่ค่อยมีการถ่ายทอดสดฟุตบอลนอกและข่าวต่างประเทศไม่มากและฉับไว แต่ยุคหลังๆ เมื่อมีบอลนอกให้ดูมากมายและข่าวสารก็เข้าถึงง่าย บอลสโมสรไทยจึงเสื่อมความนิยม เพราะสโมสรไทยในอดีตทุกทีมเป็นทีมองค์กร นักฟุตบอลก็ไม่ใช่อาชีพ เล่นกันเป็นกิจกรรมเสริมการประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์องค์กรเจ้าของสโมสรเท่านั้น ขาดแผนการตลาดอย่างสิ้นเชิง

แต่ปีนี้เมื่อฟุตบอลไทยเกิดการปฏิรูปตาม 8P และ Vision Asia ไปสู่แนวทางเดียวกับบอลอาชีพแท้ๆ แบบยุโรป ทำให้คนไทยจำนวนมากนั้นพร้อมกันเทใจ ใส่กระแสความคลั่งไคล้ระดับเดียวกันหรือมากยิ่งกว่านั้น ไหลบ่ามาให้กับสโมสรฟุตบอลไทยแห่งต่างๆ อย่างรวดเร็ว เกิดเป็นวรรคทองแห่งปีนี้ที่พูดกันทั่วไปว่า “บอลนอกแค่สะใจ แต่บอลไทยอยู่ในสายเลือด”

เมื่อกลุ่มเป้าหมายมีอยู่แล้ว บวกกับการพัฒนาคุณภาพสินค้าให้ได้มาตรฐาน และการตลาดที่มาเต็มสูตร จึงทำให้จุดเปลี่ยนครั้งนี้ของฟุตบอลไทย จุดติดและแรงจนหยุดไม่อยู่

เปิดกฎเหล็ก Vision Asia

ข้อบังคับของ AFC แบ่งได้เป็น 8 ข้อใหญ่ ที่ใช้กับกับสมาคมฟุตบอลประเทศนั้นๆ, บริษัทจัดการแข่งขัน (ในไทยคือ บริษัทไทยพรีเมียร์ลีก) และสโมสรฟุตบอลทุกแห่งในเอเชีย

รูปแบบการแข่งขัน เช่นจำนวนทีมต้องมี 10 ทีมขึ้นไป ต้องแข่งกันรวมแล้วนาน 8 เดือนขึ้นไป ต้องมีการตกชั้นและเลื่อนชั้น ฯลฯ

ผู้ชม ต้องมีการขายตั๋วเข้าชม ห้ามดูฟรี ต้องมีผู้ชมเฉลี่ยต่อนัด 5 พันคนขึ้นไป และต้องมีการเก็บข้อมูลผู้ชมอย่างเป็นระบบเชื่อถือได้

การจัดการ ห้ามมีการแทรกแซงจากการเมืองในประเทศ แต่ละสโมสรต้องมีระบบบริหาร ระบบการเงิน มี CEOแบบเต็มเวลา และมีการตรวจสอบจาก Auditor

การตลาดส่วนกลาง (ของบริษัทไทยพรีเมียร์ลีก) ต้องมีการถ่ายทอดสด มีการขายลิขสิทธิ์ มีสปอนเซอร์ มีการทำหนังสือโปรแกรมการแข่งขัน มีการทำเว็บไซต์เพื่อประชาสัมพันธ์

การจัดการในวันแข่งขัน ต้องมีผู้รับผิดชอบประจำแมตช์ (Match Commissioner) ต้องมีการรักษาความปลอดภัยให้ผู้ชม สื่อ นักฟุตบอล บุคคล VIP และต้องมีการเขียน Guidline รักษาความปลอดภัย

สื่อมวลชน ต้องมีการลงทะเบียนสื่อ ต้องมีห้องทำงานให้สื่อ ต้องมีที่จัดการถ่ายทอดสด ต้องมีห้องแถลงข่าวหลังเกม ต้องมีโซนนักข่าวพบนักฟุตบอล ต้องมีการลงข่าวใน นสพ.ท้องถิ่น และโทรทัศน์ต้องถ่ายทอดสดไม่ต่ำกว่า 30% ของทุกแมตช์

สนาม ทั้งลีกต้องมีสนาม A-Class ไม่ต่ำกว่า 2 สนาม ซึ่ง A-Class คือต้องจุ 5 พันที่นั่งขึ้นไป ต้องห่างจากสนามบินนานาชาติไม่เกิน 200 กม. ใช้เวลาเดินทางไม่ถึง 2 ชม.ครึ่ง ขนาดและพื้นต้องได้มาตรฐานฟีฟ่า มีแสงสว่างมากกว่า 1,200 lux มีหลังคาที่ฝั่งอัฒจันทร์หลัก ฯลฯ

การจัดการสโมสร
– มีนักฟุตบอลอาชีพ 18 คนขึ้นไป
– มีสนามความจุ 3,000 คนขึนไป
– ต้องมีรายได้จากค่าตั๋ว สปอนเซอร์ การขายสินค้า ค่าลิขสิทธิ์ เงินจากการขายผู้เล่น และส่วนแบ่งรายได้จาก
องค์กรลีก
– มีงบการเงินอย่างถูกต้อง
– ไม่มีหนี้สินล้นพ้นตัว
– เจ้าของสโมสรห้ามเป็นเจ้าของมากกว่า 1 แห่ง
– ผู้บริหารและพนักงานห้ามมีส่วนเกี่ยวข้องกับสโมสรอื่น
– มีทีมเยาวชนและศูนย์ฝึก
– โค้ชต้องได้ AFC A-License
– มีสายสัมพันธ์และกิจกรรมร่วมกับผู้คนในชุมชนที่สโมสรตั้งอยู่

*เรียบเรียงจาก “Criteria for Participation in AFC Champions league” (หลักเกณฑ์การคัดเลือกทีมเพื่อเข้าแข่งขันเอเอฟซีแชมเปี้ยนส์ลีก) ในเว็บไซต์ของ AFC

“ไทยพรีเมียร์ลีก” บริหารร้อยล้าน

บริษัทไทยพรีเมียร์ลีก จำกัด เป็นบริษัทที่เกิดขึ้นตามกฎของสมาพันธ์ฟุตบอลแห่งเอเชีย หรือ AFC เพื่อมาจัดการแข่งขันฟุตบอลไทยฯลีก จดทะเบียนบริษัทเมื่อวันที่ 25 กันยายน 2551 ทุนจดทะเบียน 5 ล้านบาท โดยมีผู้ถือหุ้นใหญ่คือกรรมการสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทย ซึ่งถือแทนสมาคมฯ มีกรรมการเช่น ดร.วิชิต แย้มบุญเรือง องอาจ ก่อสินค้า ดร.กษม ชนะวงศ์ ธารา พฤกษ์ชะอุ่ม และ ประดิษฐ์ นิธิยานันท์ ระบุวัตถุประสงค์ในการตั้งบริษัทคือ จัดการแข่งขันกีฬาทุกชนิด ฝึกอบรมและพัฒนาทักษะการเล่นกีฬาทุกประเภท

“องอาจ” บอกว่า ไทยแลนด์พรีเมียร์ลีก 2552 เป็นฤดูกาลแรกที่บริษัทเข้ามาบริหารจัดการ โดยมีงบประมาณหรือรายได้มาจาก 2 ส่วนหลักๆ คือ
1. สปอนเซอร์ประมาณ 15 ล้านบาท จากสินค้าบริการรายใหญ่คือ ปตท. จ่าย 10 ล้านบาท โอสถสภา เอ็ม 150 และโค้ก จ่ายแบรนด์ละ 1 ล้านบาท
2. งบประมาณจากรัฐบาล คือการกีฬาแห่งประเทศไทย 60 ล้านบาท

ส่วนค่าใช้จ่าย ประกอบด้วยการบริหารจัดการแข่งขัน ค่าจ้างกรรมการตัดสิน ค่าบุคคลากร เงินรางวัลสำหรับทีมชนะ เงินอุดหนุนแต่ละสโมสร ทีมละ 6 แสนบาท

สำหรับในฤดูกาล 2553 โอกาสของรายได้จะเพิ่มขึ้นจาก
1. การถ่ายทอดฟุตบอลผ่านทีวี แม้จะมีต้นทุนในการเช่าเวลาสถานีเพิ่มขึ้น แต่ก็สามารถบริหารจัดการให้สปอนเซอร์จ่ายเพิ่ม โดยมีบริษัทลูกของสยามกีฬารับหน้าที่จัดสรรเวลาให้ลงตัวในการถ่ายทอดผ่านช่อง 9 และ 11 รวมไปถึงในทรูวิชั่นส์ เคเบิลทีวี ที่อยู่ระหว่างการเจรจา
2. เปอร์เซ็นต์ส่วนแบ่งค่าตั๋ว อยู่ระหว่างการเจรจากับทีมต่างๆ
3. สปอนเซอร์ที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะจาก Named Sponsor หรือชื่อแบรนด์ที่อยู่คู่กับไทยพรีเมียร์ลีก 2010 ที่อยู่ระหว่างการเจรจาเช่นกัน

สำหรับผลประโยชน์สิ่งที่สปอนเซอร์จะได้คือพื้นที่โฆษณาจากไทยพรีเมียร์ลีกในส่วนต่างๆ ประกอบด้วย
1. A Board ป้ายโฆษณาในสนามด้านหลังประตู ในทุกสนามแข่ง
2. โฆษณาทีวีระหว่างการถ่ายทอดสดทางทีวี
3. สปอนเซอร์หลัก ได้พื้นที่โฆษณาบนแขนของนักฟุตบอลทุกคน บนหัวกระดาษสำหรับการสื่อสารประชาสัมพันธ์ในนามของบริษัทไทยพรีเมียร์ลีก
4. โลโก้บนแบ็กดร็อปในการแถลงข่าว
5. โลโก้บนเว็บไซต์ สื่อสิ่งพิมพ์คู่มือการชมการแข่งขัน

ไทยฯลีกฮอต
ศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ (กรุงเทพโพลล์) สำรวจเรื่อง “ไทยแลนด์พรีเมียร์ลีก กับความหวังพัฒนาฟุตบอลไทยไปบอลโลก” จากกลุ่มเป้าหมายอายุ 18 ปีขึ้นไปในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลที่สนใจติดตามข่าวการแข่งขันฟุตบอล จำนวน 426 คน เมื่อวันที่ 1-4 ตุลาคมที่ผ่านมา พบว่าคำถามที่เกี่ยวกับไทยแลนด์พรีเมียร์ลีก จะได้คำตอบที่มีแนวโน้มชัดเจนว่าฤดูกาลหน้าไทยฯลีกจะร้อนกว่าที่ผ่านมา โดย เกือบ 100% ติดตามการแข่งขันไทยฯลีก ส่วนใหญ่ดูผ่านสื่อทีวี และถ้ามีการถ่ายทอดสดในฤดูกาลหน้าเกือบ 100% บอกว่าสนใจติดตามชม โดยทีมที่เรทติ้งสูงสุดคือ “ชลบุรี เอฟซี” แต่ก็มี “เมืองทองยูไนเต็ด” ฮิตตามมาติดๆ

1. การติดตามการแข่งขันกีฬาฟุตบอลไทยแลนด์พรีเมียร์ลีก 
ติดตามชม94.4%
ไม่ได้ติดตามชม 5.6%
(ส่วนใหญ่รับชมจากสื่อ โทรทัศน์ รองลงมาคือ หนังสือพิมพ์ อินเทอร์เน็ต วิทยุ และไปชมที่สนามแข่งขัน ตามลำดับ)

2. ความสนใจติดตามชมการถ่ายทอดสดศึกฟุตบอลไทยแลนด์พรีเมียร์ลีกถ้ามีการถ่ายทอดสดในฤดูกาลหน้า
จะติดตามชม 95.8%
ชมทุกแมตช์ 25.6%
ติดตามชมบางแมตช์ 70.2%
จะไม่ติดตามชม 4.2% (เพราะไม่สนใจทีมฟุตบอลไทย รองลงมาคือ ไม่มีเวลาเนื่องจากต้องทำงาน)

3. สโมสรในศึกฟุตบอลไทยแลนด์พรีเมียร์ลีกที่มีผลงานน่าชื่นชมมากที่สุด 3 อันดับแรก (ถามเฉพาะผู้ที่ติดตามชม) คือ
อันดับ 1 ชลบุรี เอฟซี 30.8%
อันดับ 2 เมืองทองฯ ยูไนเต็ด28.7%
อันดับ 3 บางกอกกล๊าส เอฟซี 13.4%

Big Event คิกออฟ สะพัดพันล้าน

ตลอด13 ปีของบอลลีกสูงสุดของประเทศไทย ตั้งแต่เริ่มแข่งขันในระบบพบกันหมดเป็นปีแรกเมื่อ พ.ศ. 2539 ไม่เคยมีปีไหนที่จะทำยอดผู้ชม สร้างรายได้ให้กับแต่ละสโมสรและสร้างกระแสความนิยมได้เท่าปีล่าสุดคือ 2552 ที่มีเม็ดเงินทั้งจากค่าตั๋วเข้าชม ค่าของที่ระลึก ค่าสปอนเซอร์ และอื่นๆ รวมแล้วประมาณ 350 ล้านบาท

จากยอดรายได้นี้ ถูกใช้จ่ายไปเป็นเงินเดือนนักฟุตบอล เป็นค่าสร้างหรือเช่าสนาม และเป็นค่าใช้จ่ายในการเช่าเวลาถ่ายทอดสด รวมแล้วกว่า 200 ล้านบาท ทำให้เม็ดเงินที่สะพัดทุกด้านในไทยพรีเมียร์ลีกปีที่ผ่านไปนี้อยู่ที่เกือบ 600 ล้านบาท

ที่สำคัญ เฉพาะครึ่งฤดูกาลหลัง (สิงหาคม – ตุลาคม) ปี 2552 เองก็ทำสถิติจำนวนผู้ชมพุ่งทะลุไปถึงกว่า 3 เท่าของฤดูกาลแรก ฉะนั้นยอดรายได้ของปีหน้าจึงถูกคาดหมายว่าจะสูงขึ้นอย่างน้อย 2 เท่าขึ้นไป นั่นหมายถึงว่าไทยพรีเมียร์ลีกจะเป็น “Big Event พันล้าน” ในปี 2553อย่างแน่นอน

สถิติรายได้รวมทั้งฤดูกาล 2552 (มีนาคม – ตุลาคม)

จำนวนทีม 16 สโมสร แข่งแบบพบกันหมด คู่ละ 2 ครั้ง เหย้า-เยือน รวม 240 นัด

ผู้ชมในสนามรวมทั้งฤดูกาลทุกทีมประมาณ 1 ล้านคน
ผู้ชมในสนามเฉลี่ยต่อนัด 4,100 คน
รายได้ค่าตั๋วรวมทุกนัดราว 50 ล้านบาท (บัตรใบละ 50 บาททุกที่นั่ง ทุกสนาม)
รายได้ค่าตั๋วเฉลี่ยต่อนัด 205,000 บาท

รายได้จากการขายของที่ระลึกของทุกสโมสรรวม 24 ล้านบาท
รายได้จากการขายของที่ระลึกเฉลี่ยต่อนัดราว 1 แสนบาท

รายได้จาก Sponsor รวมกันทั้งปีราว 160 ล้านบาท
รายได้สปอนเซอร์เฉลี่ยต่อทีม 10 ล้านบาท

เงินอุดหนุนจากรัฐทีมละ 6 แสนบาท
รวมทุกทีมเป็น 9.6 ล้านบาท

รางวัลของแชมป์ รองแชมป์ และอันดับรองๆ ลงมารวมแล้ว 20 ล้านบาท

งบลงทุนและเงินอุดหนุนอื่นๆ (เช่น เงินส่วนตัวของประธานสโมสร และนายทุนผู้สนับสนุนทีม) ราว 90 ล้านบาท

ที่มา: ดร.วิชิต แย้มบุญเรือง ประธานบริษัทไทยพรีเมียร์ลีก

เม็ดเงินสะพัดต่อ

จากรายรับรวมประมาณ 350 ล้านบาทของปี 2552 นี้ ได้ถูกนำไปใช้จ่ายกับค่าแรงนักฟุตบอล ค่าสร้างหรือเช่าสนาม และค่าถ่ายทอดสด เกิดเม็ดเงินสะพัดต่อถึงกว่า 300 ล้านบาท แบ่งได้เป็น

เงินลงทุนสร้างและเช่าสนามของทุกทีมรวมทั้งปีราว 200 ล้านบาท

เงินเดือนนักฟุตบอลเฉลี่ยคนละ30,000 บาท
จำนวนนักฟุตบอลในไทยพรีเมียร์ลีกรวมประมาณ 320 คน (ทีมละ 20 คน)
รวมเงินเดือนนักฟุตบอลทั้งปีราว 115 ล้านบาท

ค่าบุคลากรตั้งแต่โค้ช ซึ่งเงินเดือนขั้นต่ำหลักแสนบาท ไปจนถึงทีมผู้ช่วย นักกายภาพ เวชศาสตร์การกีฬา อีกไม่ต่ำกว่า 10 ล้านบาท

ค่าเช่าเวลาถ่ายทอดสดผ่านช่อง 11 และสยามกีฬาทีวี รวมทั้งปี 10 ล้านบาท

(ประมาณการโดยนิตยสาร POSITIONING)

โตกว่า 3 เท่าในปีเดียว

จากข้อมูลอย่างเป็นทางการของ บริษัทไทยพรีเมียร์ลีก ครึ่งฤดูกาลแรก มีนาคม – มิถุนายน 2552
ยอดคนดูเฉลี่ยต่อนัด 1,936 คน

แต่เมื่อถึงเดือนกันยายน-ตุลาคมซึ่งเป็นที่สุดแห่งความบูม ไทยพรีเมียร์ลีกสามารถทำยอดคนดูเฉลี่ยต่อนัดถึง 4,904 คน
โตขึ้นกว่า 3 เท่า

และหากดูเฉพาะทีมใหญ่ๆ ปรากฏการณ์นี้ยิ่งชัดเจนมากขึ้น

เมืองทองยูไนเต็ด : ครึ่งฤดูกาลแรก 2,891 คน / กันยายน-ตุลาคม ราว 14,500 คน – โต 5 เท่า
ชลบุรี เอฟซี : ครึ่งฤดูกาลแรก 4,200 คน / กันยายน-ตุลาคม ราว 12,000 คน – โต 3 เท่า
ราชนาวีระยอง : ครึ่งฤดูกาลแรก 3,534 คน / กันยายน-ตุลาคม ราว 11,800 คน – โตเกือบ 3 เท่า
บางกอกกลาส ครึ่งฤดูกาลแรก 1,823 คน / กันยายน-ตุลาคม ราว 5,000 คน (เต็มความจุสนาม) – โตเกือบ 3 เท่า

รายรับ
-ผู้ชม 1 ล้านคน ซื้อตั๋ว 50 ล้านบาท
-ของที่ระลึก (เช่น เสื้อ ผ้าพันคอ) 24 ล้านบาท
-สปอนเซอร์ 160 ล้านบาท
-งบรัฐ 9.6 ล้านบาท
-เงินรางวัล 20 ล้านบาท
-ทุนส่วนตัว และทุนอื่นๆ90 ล้านบาท

รายจ่าย
-สร้างและเช่าสนาม 200 ล้านบาท
-เงินเดือนนักฟุตบอล 115 ล้านบาท
-ค่าจ้างโค้ช ทีมงาน 10 ล้านบาท
-ค่าถ่ายทอดสด 10 ล้านบาท