เดกซ์จับ “อุลตร้าแมน” แปลงร่างมาเป็นงานวิ่ง ถึงรายได้ไม่มาก แต่สร้างการรับรู้ได้ดี

Thanatkit

กระแสงานวิ่งในเมื่องไทยยังไม่มีทีท่าจะเสื่อมมนต์เสน่ห์ลงได้ง่ายๆ ตราบใดที่คนไทยยังคงชื่นชอบที่จะออกกำลังกาย จึงไม่ต้องแปลกใจหากวันนี้จะเห็นงานวิ่งฝุดขึ้นมาเต็มไปหมด จนเลือกไม่ถูกว่าจะไปวิ่งที่งานไหนดี ดังนั้นการมีคาแร็กเตอร์ชื่อดังมาทำเป็นกิมมิกจึงสร้างความแตกต่างกับงานอื่นๆ ได้เป็นอย่างดี

เหมือนอย่างที่เดกซ์ (ดรีม เอกซ์เพรส) ตัดสินใจนำอุลตร้าแมนมาปัดฝุ่นทำเป็นงานวิ่งอีกครั้งภายใต้ชื่อ  “Ultraman Run & Trail” หลังจากที่เคยนำคาแร็กเตอร์นี้มาเป็นกิมมิกนำ ตอนที่เดกซ์หันมาจัดงานวิ่งครั้งแรกเมื่อปลายปี 2016 มีผู้เข้าร่วมงานราว 2,500 คน ต่อจากนั้นก็จัดต่อเนื่องปีละ 2 ครั้งแต่เปลี่ยนคาแร็กเตอร์ไปเรื่อยๆ

ครั้งนี้ได้ร่วมกับสวนนงนุช พัทยา เป็นสปอนเซอร์ให้ใช้สถานที่ฟรี และซึบูราญ่า โปรดักชั่นส์ ประเทศญี่ปุ่น โดยโมเดลวิ่งมี 3 รูปแบบ 3 – 16 กิโลเมตร บัตรราคา 600 – 900 คน คาดมีผู้เข้าร่วมทั้งหมด 5,000 คน โดยมีเป้าหมายเป็นกลุ่มครอบครัวเป็นหลัก

สิ่งที่เดกซ์หวังจากงานวิ่งไม่ได้เป็นเรื่องของรายได้เพราะการจัดปีละ 2 ครั้ง คิดเป็นเม็ดเงินรวม 10 ล้านบาท ยังไม่ถึง 5% จากรายได้ปีที่ผ่านมา 300 ล้านบาทด้วยซ้ำ แต่การนำคาแร็กเตอร์มาเป็นงานวิ่ง จะช่วยสร้างการรับรู้ให้กับคาแร็กเตอร์ได้เป็นอย่างดี เพราะคนที่ตัดสินใจมาร่วมงาน คือกลุ่มแฟนคลับที่ต้องการเสื้อและเหรียญไว้เป็นที่ระลึก

อุลตร้าแมน ถือเป็นหนึ่งใน 4 คาแร็กเตอร์หลักที่เดกซ์ถือลิขสิทธิ์อยู่ ร่วมกับมาสไรเดอร์ วันพีช และ กันดั้ม โดยอุลตร้าแมนเป็นคาแร็กเตอร์ที่สร้างรายได้มากที่สุด คิดเป็นสัดส่วน 30% โดยเดกซ์ถือลิขสิทธิ์ในเมืองไทยเข้าสู่ปีที่ 12 แล้ว มีคาแร็กเตอร์อุลตร้าแมนราว 30 รูปแบบที่สามารถทำตลาดได้

ด้วยวัยที่ย่างเข้าสู่ปีที่ 50 ของอุลตร้าแมน หลายคนอาจมองมองว่า เป็นคาแร็กเตอร์ที่อาจไม่นิยมไปแล้วก็เป็นได้ แต่เดกซ์แย้งว่า นี่คือคาร์แร็กเตอร์ที่ผู้คนทั่วโลกรู้จักเป็นอย่างดี โดยเฉพาะในญี่ปุ่น เกาหลี ไต้หวัน ฮ่องกง ไทย มาเลเซีย เวียดนาม จากผลสำรวจพบคนไทย 99% รู้จักอุลตร้าแมน

กฤษณ์ สกุลพานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทเดกซ์ (ดรีม เอกซ์เพรส) บอกว่าอุลตร้าแมน ยังถือเป็นคาแร็กเตอร์ที่ไม่ล้าสมัย แม้จะมีอายุที่เยอะแล้ว ด้วยที่ผ่านมาเจ้าของลิขสิทธิ์ก็มีการสร้างแบรนด์อยู่ตลอดเวลา อย่างปีที่ผ่านมาก็เพิ่งมีการรีแบรนด์ โดยทำโลโกขึ้นมาให้ชัดเจน ซึ่งหลังจากนี้จะถูกใช้ในทุกสินค้าและโชว์ที่เป็นของอุลตร้าแมน

ในเมืองไทยฐานแฟนคลับหลักของอุลตร้าแมนคือเด็กในอายุ 6-12 ปี ซึ่งชื่นชอบสินค้าประเภทนาฬิกา หุ่นยนต์ ของเล่นที่สามารถแปลงร่างได้ วัยถัดจากนั้น 13-22 ก็จะไปสนใจสื่อชนิดอื่นๆ แทนก่อนที่จะกลับมาสนใจอีกครั้ง หลังจากการทำงานและมีเงินเดือนก็จะหันมาซื้อโมเดล หรืออย่างงานวิ่งก็เป็นอีกหนึ่งวิธีที่ทำให้คนกลุ่มนี้หันมาติดตามคาแร็กเตอร์ที่เคยชื่นชอบในวัยเด็กอีกครั้ง

ความท้าทายหลักของการทำตลาดคาแร็กเตอร์ไม่ได้อยู่ที่การแข่งกับคาแร็กเตอร์ตัวอื่นเพราะคนหนึ่งคนสามารถชอบคาแร็กเตอร์ได้หลายตัว ซึ่งคาแร็กเตอร์ส่วนใหญ่มาจากญี่ปุ่นที่คนไทยชื่นชอบอยู่แล้ว แต่คือการแย่งเวลาว่างที่มีอยู่น้อยนิดของเด็กกับสื่อชนิดอื่นๆต่างหาก

การแก้เกมของเดกซ์จึงต้องหากิมมิกใหม่ๆ เข้ามาเสริม เช่น เตรียมนำโมมายเกมเข้ามา หรือการฉายการ์ตูนทันทีในวันถัดมาหลังจากฉายที่ประเทศญี่ปุ่น นอกจากจะดึงเวลาของเด็กให้สนใจได้แล้ว ยังเป็นวิธีป้องกันการไปดูของเถื่อนได้ดี ถึงแม้ในระยะหลังการละเมิดสิขสิทธิ์ในไทยจะลดน้อยลงก็ตาม

แต่ละปีเดกซ์จะนำการ์ตูนอุลตร้าแมนเข้ามาฉายปีละ 1 ซีรีส์ 26 ตอน ในช่องทางต่างๆ เช่นทีวี ที่เพิ่งจบไปมีช่องเอ็มไทย หรือ ช่อง 9 และช่องทางออนไลน์เช่น Youtube และ LineTV มีการจัดโชว์ปีละ 20 ครั้งทั่วประเทศ ปีนี้วางแผนเพิ่มเป็น 25 ครั้ง และภาพยนตร์ 1 เรื่องฉายในโรงภายนตร์บ้าง หรือหากไม่เข้าก็จะไปอยู่ในแอป FLIXER

ตัว “FLIXER” เป็นสตรีมมิ่งที่เป็นของเดกซ์ โดยทำขึ้นมาเนื่องจากไม่อยากไปพึ่งพาแพลตฟอร์มอื่นมากเกินไป เปิดขึ้นมาได้ 1 ปีแล้ว มียอดดาวน์โหลดทั้งหมด 5 แสนครั้ง แอคทีฟราว 2 แสนราย โดยปีนี้เดกซ์ตั้งเป้ารายได้ในภาพรวมไว้ที่ 400 ล้านบาท.