ปี 2550 ขณะที่ “ชลบุรี เอฟซี” แรงจนเป็นแชมป์ “ไทยแลนด์พรีเมียร์ลีก” แต่ “วิทยา คุณปลื้ม” ซึ่งนั่งเป็นประธานสโมสร กำลังต้องหาเสียงอย่างหนัก เพื่อบรรลุเป้าหมายชนะการเลือกตั้งเป็นนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ชลบุรี หลังจากต้องพลาดหวังในการเลือกตั้ง ส.ส. ในสนามการเมืองระดับประเทศก่อนหน้านี้ เพราะไม่เพียงต้องต่อสู้ท่ามกลางภาวะที่ “บิดา” คือ “กำนันเป๊าะ” “สมชาย คุณปลื้ม” ผู้ทรงอิทธิพลในภาคตะวันออกต้องหลบหนีคดี แต่ยังต้องเจอกับคู่แข่งทางการเมืองอย่าง “พรรคประชาธิปัตย์” ที่เข้ามาครองใจชาวจังหวัดชลบุรี ด้วยผลเลือกตั้ง ส.ส. ก่อนหน้านี้กวาดไปเกือบทั้งจังหวัด
ในเวลานั้นแรงส่งจาก “ชลบุรี เอฟซี” เป็นสิ่งที่ “วิทยา” สัมผัสได้ด้วยตัวเอง ระหว่างการหาเสียงในพื้นที่ก่อนเลือกตั้งเมื่อเดือนเมษายน 2008 เพราะไม่ว่า “วิทยา” จะเดินไปที่ใดใน อำเภอ ตำบล หรือหมู่บ้าน เรื่องฟุตบอลคือหัวข้อสนทนากันอย่างคึกคัก
“เดินจนทั่ว มีแต่คนพูดถึงเรื่องฟุตบอล” “วิทยา” พูดกับคนใกล้ชิดในช่วงนั้น ด้วยน้ำเสียงที่ทำให้เขามั่นใจได้มากยิ่งขึ้นว่า เลือกตั้งครั้งนี้เขาต้องชนะ
ผลก็คือ เขาชนะเหนือคู่แข่งอย่างขาดลอย และกำลังทำหน้าที่เป็นนายก อบจ. จนถึงขณะนี้
ครั้งนั้นคือบทพิสูจน์ชัดเจนว่า “ฟุตบอล” ช่วยทำให้เขาชนะเกมการเมือง และแน่นอน เขาไม่ลังเลที่จะทำให้ทีมชลบุรี เอฟซี และทีมใหญ่อีก 2 ทีมของจังหวัดชลบุรี คือ พัทยา ยูไนเต็ด และ ศรีราชา เอฟซี เติบโตยิ่งขึ้น
กว่า 10 ปีมาแล้ว ที่ “วิทยา” และ “สนธยา คุณปลื้ม” พี่ชายที่ช่วยสนับสนุนทีมฟุตบอลและกีฬาต่างๆ ในจังหวัดชลบุรี ในฐานะที่เป็นทั้งศิษย์เก่าโรงเรียนอัสสัมชัญ ศรีราชา และนักการเมือง ด้วยงบส่วนตัวในช่วงแรกๆ ประมาณปีละ 2-3 ล้านบาท จนมาปัจจุบันปีหนึ่งควักไม่ต่ำกว่า 10 ล้านบาท นอกเหนือจากการจัดสรรงบประมาณจาก อบจ. อีกไม่ต่ำกว่า 10 ล้านบาท จากงบสนับสนุนกีฬาประเภทอื่นๆ อีกรวมประมาณ 40 ล้านบาท
“เราทำ ไม่เคยโปรโมต ที่เราจ่ายไม่มีใครรู้ เราจ่ายปีหนึ่ง 5-10 ล้าน เราไม่เคยพีอาร์ เพราะเราไม่หวังฐานเสียง แต่คนพื้นที่รู้ คนท้องถิ่นรู้เอง กองเชียร์เขารู้เอง” “วิทยา” ยืนยันให้เห็นว่า “ฟุตบอล” ไม่ใช่แผนแรกที่วางไว้ในเส้นทางการเมืองของเขา
สิ่งที่เขาคาดว่าจะมองเห็นคือวงการฟุตบอลที่เป็นอาชีพ และเป็นธุรกิจมากขึ้นเท่านั้น เป็นการต่อยอดจากจุดประสงค์แรกเริ่มที่เข้ามาเกี่ยวพันกับฟุตบอล ด้วยการรวมกลุ่มของศิษย์เก่าอัสสัมฯ ศรีราชา ซึ่งรวมทั้ง “อรรณพ สิงห์โตทอง” ผู้จัดการทีมชลบุรีเอฟซี เพื่อนร่วมรุ่นของ “สนธยา” ที่อยากพัฒนาทีมฟุตบอลเยาวชนของโรงเรียน และเมื่อทีมเติบโตพร้อมๆ กับนักฟุตบอลที่โตขึ้น ทำให้การทำทีมไม่อาจหยุดอยู่ที่เยาวชนเท่านั้น จนกระแสเดินมาถึงจุดที่ว่า “ฟุตบอล” สามารถสร้างอาชีพ และเป็นธุรกิจได้มากกว่าที่เคยคาดไว้
ทุกวันนี้ ไม่เพียงทีมฉลามชลจะทำให้เส้นทางการเมืองของ “วิทยา” สดใสมากขึ้นเท่านั้น ในทางกลับกัน ในฐานะที่ประธานสโมสรมีตำแหน่งทางการเมือง ก็ยังทำให้สิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ สำหรับทีมหาได้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะการเช่าใช้สนามของอบจ.เป็นสนามของทีม หรือแม้แต่สนามของสถาบันการศึกษาต่างๆ เป็นสนามซ้อม นอกเหนือจากก็หาสปอนเซอร์มาสนับสนุน เช่นค่าย “เบียร์ช้าง” ที่ส่งต่อมาจาก “สนธยา” เมื่อครั้งนั่งเก้าอี้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา จนเบียร์ช้างเป็นสปอนเซอร์หลักให้กับชลบุรีเอฟซีมานานกว่า 3 ปี รวมไปถึงทีมอื่นๆ ในจังหวัดชลบุรี นอกเหนือจากนี้ยังมีสินค้าและแบรนด์อื่นๆ ที่ “วิทยา” บอกว่า ก็มีบ้างที่เขาต้องไปคุยกับ “สปอนเซอร์เอง”
ไม่เพียง “ชลบุรี เอฟซี” จะเป็นจุดพลิกผันให้ “วิทยา” ก้าวย่างกลับเข้ามาในเส้นทางการเมืองเท่านั้น แต่ในทางกลับกัน “สโมสรฟุตบอล” ที่มีประธานเป็น “นักการเมือง” ก็มีโอกาสพร้อมเติบโตได้ไกลเช่นกัน
“ขุมกำลัง” ฉลามชล
ชื่อทีม ชลบุรี เอฟซี
บริษัท “ชลบุรี เอฟซี” จำกัด
ประธาน “วิทยา คุณปลื้ม” นักการเมืองท้องถิ่น อดีตส.ส. ปัจจุบันเป็นนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.)
โค้ช “ซิกโก้ เกียรติศักดิ์ เสนาเมือง” (ฤดูกาลไทยฯลีก 2552 ประกาศลาออกตามคำประกาศหลังจากไม่สามารถพาทีมได้แชมป์)
จำนวนนักเตะ 34 คน (ชุดไทยฯลีก) ต่างชาติ 4 คน
แฟนคลับ มากกว่า 5 พันคน
คนดูเฉลี่ย ต่อนัด เลกแรก 4,200 คน เลกสอง 12,000 คน
สนาม “วิทยาลัยพลศึกษา” ความจุผู้ชม 9,000 คน
สปอนเซอร์หลัก “ช้าง” สปอนเซอร์รอง เช่น อมตะ กระทิงแดง
กลุ่มนายทุน พี่น้องตระกูล “คุณปลื้ม” นักธุรกิจในท้องถิ่น จังหวัดชลบุรี
พื้นที่กลุ่มเป้าหมาย จังหวัดชลบุรี
สื่อ เว็บไซต์ แฟนคลับ กลยุทธ์การบอกต่อคนต่อคน วิทยุชุมชน