อยู่ดีๆ ก็หาย หมุนหาคลื่นไม่เจอ “Get 102.5” ถูกยุบแบบไม่บอกกล่าว

Thanatkit

เริ่มศักราชใหม่ไม่ทันไร ในแวดวงวิทยุก็มีข่าวให้ได้ใจหายอีกครั้ง เมื่อคลื่นเพลงสากลเก็ต 102.5 (Get 102.5)” ที่ออกอากาศมายาวนาน 17 ปี จู่ๆ ได้หายไปจากหน้าปัดวิทยุ ทำเอาคนฟังงงไปตามๆ กัน

ก่อนหน้านั้นทางคลื่นหันมาเปิดเพลงไทย กระทั่งทราบข่าวว่าสถานีได้ปิดตัวลงตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2562 ที่ผ่านมา และส่งมอบคลื่นให้กองทัพอากาศไปดูแล โดยที่ไม่มีการแจ้งข่าวแก่ผู้ฟังผ่านช่องทางของสถานีอย่างเป็นทางการแต่อย่างใด

ทำให้กลุ่มผู้ฟังจำนวนหนึ่งรู้สึกเสียดาย ที่คลื่นถูกยุบกะทันหันโดยไม่ได้บอกกล่าว โดยก่อนนั้นใน Facebook ของ “Get 102.5” ยังโพสต์รูป Happy New Year ในวันที่ 1 เวลา 01.00 .อยู่เลย

สำหรับคลื่นเก็ต (Get) 102.5 ผลิตรายการโดย บริษัท อินดิเพ็นเดนท์ คอมมิวนิเคชั่น เน็ทเวอร์ค จำกัด ของ นายชเยนทร์ คำนวณ อดีตเจ้าของนิตยสารเปรียว ออกอากาศผ่านทางสถานีวิทยุกองทัพอากาศ เอฟเอ็ม 102.5 เมกะเฮิรตซ์ ก่อนหน้านี้ เป็นส่วนหนึ่งของบริษัท คลิก เรดิโอ จำกัด ออกอากาศผ่านห้องส่งย่านอาร์ซีเอ ก่อนที่นายชเยนทร์จะขอนำคลื่นไปทำเอง ที่ห้องส่งในซอยลาดพร้าว 18 เขตจตุจักร กทม.

การตัดสินใจยุบคลื่น Get 102.5 มีตั้งแต่เดือนธันวาคมที่ผ่านมา เนื่องจากรายได้โฆษณาลดลง ซึ่งหากไปดูรายงานที่ส่งให้กรมพัฒนาธุรกิจการค้า จะพบว่ารายได้ช่วง 2 ปีมานี้ลดลงทุกปี โดยเฉพาะในปี 2560 ที่รายได้หายไปกว่า 41.75% ส่วนกำไรก็ลดลงทุกปีตลอด 5 ปีมานี้ ล่าสุดเหลือเพียงล้านกว่าบาท จากที่เคยทำได้ 11 ล้านในปี 2556

ที่ผ่านมาอินดิเพ็นเดนท์ ได้ตัดสินใจยุบคลื่นวิทยุมาแล้ว 2 คลื่น ได้แก่ คลื่นเพลงสากล เลิฟ 104.5 และคลื่นเพลงวัยรุ่น คลิก 98.5 รวมทั้งยังยุบนิตยสารเปรียว ซึ่งตีพิมพ์มานาน 35 ปี ไปเมื่อปี 2559 ยังคงเหลือเพียงคลื่น “103.5 FM One” ซึ่งเป็นคลื่นเพลงไทยแนว Easy Listening เพียงคลื่นเดียว เพราะยังสามารถทำรายได้ให้สถานี

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า การปิดตัวลงของทั้ง “Get 102.5” เป็นผลพวงของภูมิทัศน์สื่อที่เปลี่ยนแปลงไป ตามการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมของผู้บริโภค ที่หันไปบริโภคสื่อผ่านทางช่องทางออนไลน์มากขึ้น จึงทำให้เม็ดเงินโฆษณาในสื่อเดิมจึงลดน้อยลงทุกปี

อย่างใน วิทยุ จากข้อมูลของนีลเส็นพบว่า 5 ปีมานี้เม็ดเงินโฆษณาหายไปราว 823 ล้านบาท ถึงแม้ว่าข้อมูลปีล่าสุด 2561 ที่เพิ่งออกมาสดๆ ร้อนๆ เม็ดเงินโฆษณาในวิทยุจะเพิ่มขึ้นมาถึง 7.28% ก็ตามที

จริงๆ แล้วจะว่าไม่มีคนฟังวิทยุ อยู่เลยก็ไม่ใช่ เพราะจากรายงานตลาดกิจการกระจายเสียงของไทยประจําเดือนพฤศจิกายน 2561 ของสํานักนโยบายและวิชาการกระจายเสียงและโทรทัศน์ ซึ่งเป็นหน่วยงานภายใต้ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. พบว่า

จากข้อมูลจํานวนผู้รับฟังวิทยุคลื่นหลักในระบบเอฟ.เอ็ม. จํานวน 40 สถานี (87.5 MHz – 107.0 MHz) จากทุกช่องทาง (เช่น เครื่องรับวิทยุ โทรศัพทเคลื่อนที่ แท็บเล็ต และคอมพิวเตอร์) ในเขตพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ในเดือนพฤศจิกายน 2561 มีประชากรไทยอายุตั้งแต่ 12 ปีขึ้นไป รับฟังวิทยุประมาณ 10,569,000 คน ซึ่งเป็นจํานวนที่ลดลงจากเดือนก่อนหน้า (ตุลาคม 2561) ประมาณ 37,000 คน หรือประมาณ 0.3%

จากข้อมูลพฤติกรรมการรับฟังวิทยุ (Radio Listening Behavior) พบว่า ผู้คนสวนใหญ่นิยมรับฟังวิทยุที่บ้าน 52.16% ตามมาด้วยการรับฟังวิทยุในรถ 36.17% ในที่ทํางาน 11.07 และอื่นๆ 0.60%

นอกจากนี้ยังพบว่า ส่วนใหญ่นิยมรับฟังวิทยุผ่านทางเครื่องรับวิทยุ 73.12% ตามด้วยผ่านทางโทรศัพท์เคลื่อนที่ 25.83% และผ่านคอมพิวเตอร์ 1.05%

อ้างอิง : https://mgronline.com/onlinesection/detail/9620000001588