เมื่อกำลังซื้อไม่คงที่ ยอดขายสินค้าลดลง สิ่งที่ “แบรนด์” จะทำจึงเป็นการปรับลดต้นทุน ซึ่งเป้าหมายแรกถูกมุ่งไปที่ “ลดงบโฆษณา” เพราะทำได้ทันที ทำให้หลายปีมานี้ภาพรวมของเม็ดเงินโฆษณาอยู่ในภาวะ “ทรงๆ ทรุดๆ” มาตลอด ขณะเดียวกัน “ยุคดิจิทัล” ที่กำลังเฟื่องฟูทำให้เงินเทไปยังสื่อชนิดใหม่มากขึ้น ด้วยแบรนด์มองว่าผู้บริโภคอยู่ที่ไหนก็ต้องตามไปหาที่นั้น
สถานการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้ “สื่อดั้งเดิม” พลอยได้รับผลกระทบกันถ้วนหน้า หากจะถามว่าสื่อไหนที่วิกฤตมากที่สุดคงไม่พ้น “สิ่งพิมพ์” รองลงมาก็ไม่ต้องเดาให้ยุ่งยาก “วิทยุ” นั้นเอง ข้อมูลจากนีลเส็นพบว่า 5 ปีมานี้เม็ดเงินโฆษณาหายไปราว 823 ล้านบาท ถึงแม้ว่าปี 2018 ที่ผ่านมาจะเพิ่มขึ้นมาถึง 7.28% หรือคิดเป็นเม็ดเงินราว 4,802 ล้านบาท ก็ตาม
แต่ช่วง 5 เดือนแรกของปี 2019 สถานการณ์ก็ใช่ว่าจะดีขึ้น ภาพรวมงบโฆษณาลดลง 1.25% เหลือ 41,000 ล้านบาท ส่วนวิทยุหายไปราว 5% จาก 1,848 ล้านบาท เหลือ 1,758 ล้านบาท จึงไม่ต้องแปลกใจหากช่วงที่ผ่านมาหลายคลื่นจะทยอยหายไปจากหน้าปัด บ้างก็ผันตัวเองไปเป็นคลื่นออนไลน์ก็มี
อ่านต่อ : อยู่ดีๆ ก็หาย หมุนหาคลื่นไม่เจอ “Get 102.5” ถูกยุบแบบไม่บอกกล่าว
ถึงเม็ดเงินโฆษณาที่เป็นรายได้หลักจะลดลง แต่บรรดาคลื่นวิทยุต่างก็เชื่อว่า “วิทยุไม่มีวันตาย” ด้วยยังมีเสน่ห์ที่แพลตฟอร์มสตรีมมิ่งไม่สามารถทำแทนได้คือ เพลง ดีเจที่พูดให้ฟังเป็นเพื่อน และข่าวสารต่างๆ ที่อัพเดตให้ฟังทุกชั่วโมง ซึ่งคนยังฟังวิทยุอยู่ เพียงแต่เปลี่ยนช่องทางเฉยๆ จากเครื่องรับวิทยุไปอยู่ในรูปแบบอื่น
ยืนยันด้วยข้อมูลจาก สํานักนโยบายและวิชาการกระจายเสียงและโทรทัศน์ ซึ่งเป็นหน่วยงานภายใต้ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. ได้ออกรายงานสภาพตลาดกิจการกระจายเสียงของไทย ประจําเดือนพฤษภาคม 2019 พบว่า
จํานวนผู้รับฟังวิทยุคลื่นหลักในระบบ เอฟ.เอ็ม. จํานวน 40 สถานี (87.5 MHz – 107.0 MHz) จากทุกช่องทาง ในเขตพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล พบมีประชากรไทยอายุตั้งแต่ 12 ปีขึ้นไป รับฟังวิทยุ ประมาณ 10,211,000 คน ซึ่งเป็นจํานวนที่เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า (เมษายน 2019) ประมาณ 125,000 คน
จากข้อมูลพฤติกรรมการรับฟังวิทยุ (Radio Listening Behavior) พบว่า ผู้คนส่วนใหญ่ นิยมรับฟังวิทยุที่บ้านถึง 52.18% ตามมาด้วยการรับฟังวิทยุในรถ 40.45% ในที่ทํางาน 7.08% และอื่นๆ 0.29% นอกจากนี้ยังพบว่า ส่วนใหญ่นิยมรับฟังวิทยุผ่านทางเครื่องรับวิทยุ 72.18% ตามมาด้วยผ่านทางโทรศัพท์เคลื่อนที่ 26.37% และคอมพิวเตอร์ 1.42% อื่นๆ 0.03%
แต่อะไรๆ ก็ไม่แน่ไม่นอนทั้งนั้น ที่ผ่านมารายที่อยู่รอดก็ต้องปรับตัวกันยกใหญ่อย่าง “เอ–ไทม์” ที่อยู่ภายใต้ร่มเงาแกรมมี่ ก็ออกมาระบุกลยุทธ์ในปี 2019 ต้องเป็นมากกว่าวิทยุ โดยจะนำรายการยอดฮิตที่อยู่จากหน้าปัด 3 คลื่นนำไปต่อยอดสู่แพลตฟอร์มอื่นๆ
อ่านต่อ : ถอดสูตร “เอ-ไทม์” ผ่าคลื่นลม “วิทยุ” อันผันผวน หาโอกาสโตในยุคดิจิทัล
จากฝั่งอโศกข้ามมาฝั่งลาดพร้าว แม้ภาพใหญ่ของ “อาร์เอส” จะไดเวอร์ซิฟายตัวเองจาก “ธุรกิจสื่อ” ไปสู่ “ธุรกิจพาณิชย์และค้าปลีก” ไปเรียบร้อยแล้ว แต่ธุรกิจวิทยุเองอย่างคลื่น “คูลฟาเรนไฮต์” ก็ทำอยู่ไม่ได้ทิ้งไปไหน หากก็ต้องปรับตัวเพื่อรับมือกับพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป
ที่ผ่านมา ปริญญ์ หมื่นสุกแสง กรรมการผู้จัดการ บริษัท คูลลิซึ่ม จำกัด ระบุว่า คูลฟาเรนไฮต์ใช้กลยุทธ์ Living Young & Beyond ผ่านการวิเคราะห์ถึง Data ของผู้ฟังเหล่านั้นว่าเป็นใคร อายุเท่าไหร่ มาช่วยทำให้มั่นใจได้ว่าเป็นตัวเลขของคนที่ฟังจริงๆ มีตัวตนจริงๆ จับต้องได้
ไม่ใช่ตัวเลขที่ไม่รู่ว่าเป็นใครอยู่ที่ไหน ซึ่งทำให้สามารถเสิร์ฟความบันเทิงได้ตรงใจ ตอบโจทย์ความต้องการของผู้ฟังไว้ได้อย่างเหนียวแน่น
ในปี 2019 มีผู้ฟังผ่านระบบออนไลน์เดือนละ 49 ล้านครั้ง รับฟังผ่านเว็บไซด์สูงสุด 35 ล้านครั้ง รองลงมาเป็นการรับฟังผ่านระบบ iOS อีกกว่า 11 ล้านครั้งและระบบ Android 3 ล้านครั้ง มีผู้ฟังเฉลี่ยวันละ 1.62 แสนคน ใช้เวลาฟัง 3:40 ชั่วโมงต่อคนต่อวัน
และผู้ฟังผ่านระบบ iOS ฟังต่อเนื่องนานมากที่สุดถึง 4:24 ชั่วโมงต่อคนต่อวัน ตลอด 1 เดือน คูลฟาเรนไฮต์สามารถเข้าถึงผู้ฟังมากกว่า 1 พันล้านนาทีทุบสถิติการเข้าถึงผู้ฟังสูงสุด
ซึ่งจากการจัดอันดับของ www.shoutcast.com เว็บไซต์ที่รวบรวมสถานีวิทยุออนไลน์กว่า 90,000 สถานีทั่วโลก พบคูลฟาเรนไฮต์คว้าแชมป์สถานีวิทยุออนไลน์ streaming อันดับ 1 ของเอเชียปี 2018 และ 2019
นอกจากนี้คูลฟาเรนไฮต์ยังครองแชมป์อันดับ 1 สถานีวิทยุในเมืองไทยต่อเนื่องเป็นปีที่ 19 ครองใจกลุ่มผู้ฟัง โดยเฉพาะกลุ่ม GEN C ที่มีอายุระหว่าง 20-44 ปี และกลุ่มมิลเลนเนียล หรือ กลุ่มคนวัยทำงาน ช่วงเวลาที่มีผู้ฟังมากที่สุดในแต่ละวันคือ ช่วงออฟฟิศอาวร์ ตั้งแต่ 9.00-17.00 น.
“ในปี 2019 บริษัทคาดว่าจะมีรายได้รวม เติบโตกว่า 30% และมีส่วนแบ่งการตลาดจากธุรกิจวิทยุกว่า 50% จากข้อมูลของนีลเส็น มีเดียรีเสิร์ช”
รายได้และกำไร บริษัท คูลลิซึ่ม จำกัด
- ปี 2557 รายได้ 454 ล้านบาท กำไร 159 ล้านบาท
- ปี 2558 รายได้ 461 ล้านบาท กำไร 183 ล้านบาท
- ปี 2559 รายได้ 426 ล้านบาท กำไร 149 ล้านบาท
- ปี 2560 รายได้ 342 ล้านบาท กำไร 106 ล้านบาท
- ปี 2561 รายได้ 32 ล้านบาท กำไร 7 ล้านบาท
ที่มา : กรมพัฒนาธุรกิจการค้า
อย่างไรก็ตาม ในช่วงไตรมาส 3 นี้ คูลฟาเรนไฮต์คอนเสิร์ตใหญ่ “COOLfahrenheit presents Raptor Evolution #25ปีไม่มีเกรงใจ“ เอาใจคนที่เติบโตมาในยุค 90 โดยใช้งบกว่า 30 ล้านบาท