น้ำมันหมดกลางทางก็ฝาก “ลาล่ามูฟ” ซื้อ โตกระฉูด 123% ทำ “กำไร” ตั้งแต่มีนาคม 2560
นอนอยู่บ้านจิ้มสมาร์ทโฟนสั่งอาหารมาส่งที่บ้าน เลี่ยงรถติดและอากาศร้อน หรือ สั่งสินค้าจากร้านออนไลน์ อยากได้ภายใน 1 วันก็เรียกพี่วินมารับไปส่ง พฤติกรรมที่เริ่มคุ้นชินของคนในกรุงเทพฯ เหล่านี้ กลายเป็นโอกาสให้กับแอปพลิเคชั่นขนส่งสินค้าแบบ “On-demand Delivery”
“ลาล่ามูฟ” กินส่วนแบ่ง 70%
ในตลาดมูลค่าราว 1,500 – 1,600 ล้านบาท เฉพาะในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล “ลาล่ามูฟ” ที่ข้ามน้ำข้ามทะเลจากฮ่องกงมาบุกไทยได้ 4 ปีแล้ว บอกว่าตัวเองเป็นเจ้าตลาดครองส่วนแบ่ง 70% โดยมูลค่ารวมธุรกรรมเติบโตปีละหลัก 100%
- ปี 2558 – 2559 เติบโต 500% มูลค่ารวม 121 ล้านบาท
- ปี 2560 เติบโต 400% มูลค่ารวม 532 ล้านบาท
- ปี 2561 เติบโต 123% มูลค่าการทำธุรกรรมรวม 1,200 ล้านบาท
โดยรายได้ของลาล่ามูฟมาจากการหักค่าธรรมเนียมจากคนขับ 10-15%
ตัวเลขการเติบโตถ้าไม่นับในจีน ที่ลาล่ามูฟมีให้บริการอยู่ใน 100 กว่าเมือง “เมืองไทย” ถือเป็นประเทศที่เติบโตด้านรายได้ และจำนวนการทำธุรกรรมมากที่สุด 3 ปีซ้อน เมื่อเทียบกับ 10 เมืองใน 8 ประเทศ ที่ลาล่ามูฟเข้าไปทำธุรกิจ แต่ทั้งนี้ก็ไม่ได้หมายความว่าไทยจะเป็นประเทศที่บริษัทแม่ให้ความสำคัญมากที่สุด เพราะเมื่อเทียบกับ “อินโดนีเซีย” แล้ว ไทยยังถือว่าเล็กกว่ามาก
จุดแข็งของลาล่ามูฟอยู่ที่การการันตีส่งด่วนภายใน 1 ชั่วโมง จากสถิติพบว่า ค้นหาพนักงานส่งสินค้าได้เร็วที่สุดภายใน 6 วินาที ถึงผู้ส่งเร็วสุด 18 นาที ถึงมือผู้รับเร็วที่สุด 20 นาที และรวมระยะเวลาในการให้บริการทั้งหมดเร็วที่สุด 38 นาที 99% ของคำสั่งประสบความสำเร็จ
จับมือกับ “ไลน์แมน” แลกฐานลูกค้า
มูลค่าการทำธุรกรรม 50% มาจากบริการการที่คนขับสวมเสื้อสีส้มของลาล่ามูฟเอง ทั้งการรับส่งเอกสาร พัสดุด่วน ของต่างๆ ภายใน 1 ชั่วโมง, บริการรับฝากซื้อของ เช่น น้ำมันหมดกลางทางก็ใช้บริการนี้ หรือ ฝากซื้อของในอิเกีย เป็นต้น ลูกค้า 70% เป็นองค์กรธุรกิจต่างๆ อีก 30% เป็นลูกค้าทั่วไป
ส่วนที่เหลืออีก 50% มาจากบริการที่จับมือกับ “ไลน์แมน” ได้แก่ ส่งอาหาร, แมสเซนเจอร์และซื้อสินค้าในร้านสะดวกซื้อ บางครั้งคนขับจึงใส่เสื้อสีเขียวที่ตีตราไลน์แมน ซึ่งการที่คนขับไม่ได้ใส่เสื้อของแบรนด์ ทำให้เมื่อไปถามคนทั่วไปจะมีเพียง 10% เท่านั้นที่ตอบว่ารู้จัก สวนทางกับธุรกิจต่างๆ ที่ตัวเลขกว่า 80%
ชานนท์ กล้าหาญ กรรมการผู้จัดการ ลาล่ามูฟ ประเทศไทย อธิบายว่า ที่เป็นอย่างนั้นก็ไม่แปลก ด้วยที่ผ่านมามีการมุ่งไปที่ลูกค้าธุรกิจเป็นหลัก ส่วนการจับมือกับไลน์แมนก็ไม่ได้ทำให้ลาล่ามูฟเสียโอกาส กลับกันทำให้ทั้งสองฝ่ายเป็นที่รู้จักกันมากขึ้น จากฐานลูกค้าที่แต่ละฝ่ายมี
ปัจจุบันลาล่ามูฟมีคนขับอยู่ในระบบทั้งหมด 80,000 คน เพิ่มขึ้น 250% จากปีก่อนหน้า โดย 70% มีอาชีพเป็นแมสเซนเจอร์อยู่แล้ว อีก 30% เป็นทำเป็นอาชีพเสริม โดยประเภทรถที่มีในระบบ 95% เป็นมอเตอร์ไซค์ ที่เหลือ 5% เป็นรถกระบะและรถ 5 ประตู แต่ละเดือนยอดคนขับแอคทีฟราว 30% รับงานเฉลี่ย 15-20 งานต่อวัน รายได้ของคนขับเฉลี่ย 30,000 บาทต่อเดือน สูงสุดที่เคยได้ 60,000 บาทต่อเดือน
ความหอมหวานของ On-demand Delivery ทำให้ตลอด 4 ปีที่ “ลาล่ามูฟ” เข้าสู่ตลาดเมืองไทยมีผู้เล่นหน้าใหม่เข้ามาเรื่อยๆ แต่ก็มีทั้งรายที่วันนี้ยังเห็นอยู่ในตลาด ซึ่งเป็นคู่แข่งโดยตรงทั้ง Grab, Skootar, Deliveree และ Get ที่เพิ่งเข้ามาสดๆ ร้อนๆ กับรายออกไปแล้ว ช่น Uber ที่ถูก Grab เข้าซื้อกิจการไป หรือ Now ที่เพิ่งประกาศปิดตัวไป
การจะอยู่ในตลาดท่ามกลางการแข่งขันที่รุนแรง “ชานนท์” บอกว่า ต้องวางเป้าหมายของธุรกิจให้ชัดเจน บางรายต้องการแค่ยอดลูกค้า ไม่ได้วางแผนธุรกิจระยะยาว ช่วงแรกที่เข้าสู่ตลาดจึงทุ่มเงินอัดโปรโมชั่นเต็มที่ เพื่อดึงคนให้เข้ามาใช้บริการ แต่เมื่อหยุดโปรโมชั่นคนก็หายไปหมด สุดท้ายอยู่ไม่ได้
ต่างจากลาล่ามูฟที่วางแผนธุรกิจระยะยาว ต้องการให้ยั่งยืนจึงพัฒนาบริการที่ตอบโจทย์ลูกค้าเป็นหลัก ใช้เงินทำโปรโมชั่นไม่มาก เงินลงทุนไม่เยอะจึงทำกำไรตั้งแต่เดือนมีนาคม ปี 2560 เป็นต้นมา
ขณะเดียวกันพฤติกรรมที่รักความสะดวกของคนไทย ทำให้ผู้ที่บริการส่งสินค้าภายในวันเดียวกัน (Same Day Delivery) สนใจที่จะเข้ามาในตลาดนี้มากขึ้น แต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เพราะความต่างในโมเดลธุรกิจ โดย Same Day เน้นบริการต้นทุนต่ำที่สุด คิดค่าส่งตามน้ำหนัก
สวนทางกับ On-demand คิดการส่งตามระยะทาง บีบต้นทุนให้ต่ำไม่ได้ เพราะต้องใช้คนส่งจำนวนมากคอยรับคำสั่งใช้บริการ Same Day บางรายเลือกที่จะเข้ามาเจรจากับลาล่ามูฟ เพื่อให้เข้ามาแต่สุดท้ายก็ตกลงกันไม่ได้
เตรียมขยายสู่เชียงใหม่และพัทยา
สำหรับแผนธุรกิจในปี 2019 ลาล่ามูฟวางกลยุทธ์ไว้ 3 ข้อ คือ
1. เชื่อมต่อ API กับเว็บไซต์ขายของออนไลน์ต่างๆ
2. การเพิ่มรถใหญ่เข้ามา เพื่อรองรับการขนส่งไปยังต่างจังหวัด ตอนนี้ได้เพิ่มให้บริการแล้ว 8 จังหวัด มีค่าบริการ 500 – 2,500 บาท
3. การเพิ่มพันธมิตรทางธุรกิจ โดยเมื่อปลายปีที่แล้วลาล่ามูฟได้เข้าไปเพิ่มจุดให้บริการที่อิเกียบางใหญ่ เพื่อรองรับคนที่ซื้อสินค้าแล้วนำกลับเองไม่ได้ ช่วง 2 เดือนที่ผ่านมาพบสถิติคือใช้เวลาเฉลี่ย 49 นาที และราคา 690 บาท
ในภาพรวมคาดใช้งบการลงทุนทุกอย่างไม่น้อยกว่า 100 ล้านบาท โดยปีนี้เป้าตั้งมูลค่าการทำธุรกรรมไม่ต่ำกว่า 2,500 – 3,000 ล้านบาท และคนขับเพิ่มขึ้นมาเป็น 2.4 แสนคน ซึ่งเชื่อว่าเป็นไปได้ เพราะในกรุงเทพฯ มีคนที่ขับรถมอเตอร์ไซค์รับจ้างไม่ต่ำกว่า 5 แสนคน
“ด้วยจำนวนของลูกค้าและคนขับที่คาดว่าจะเพิ่มมากขึ้น ความท้าทายของลาล่ามูฟ คือต้องควบคุมคุณภาพการให้บริการให้ได้ตามมาตรฐาน ซึ่งถือเป็นเรื่องสำคัญที่มองข้ามไปไม่ได้”
อย่างไรก็ตาม ลาล่ามูฟวางแผนที่จะขยายไปที่ต่างจังหวัด เริ่มที่หัวเมืองก่อน ซึ่งลาล่ามูฟบอกว่า จะไปตามที่พันธมิตรทางธุกิจไป ซึ่งอาจจะเริ่มที่เชียงใหม่และพัทยา
อย่างที่เชียงใหม่แม้จะมีผู้บริโภคเปิดแอปขึ้นมาเช็กหาบริการจำนวนมาก แต่ก็ต้องดูให้แน่ใจว่า เป็นคนเชียงใหม่จริงๆ หรือคนกรุงเทพฯ ที่ขึ้นไปเที่ยว ส่วนพัทยามีความเป็นไปได้สูง เพราะความหนาแน่นของเมืองกระจุกตัว ไม่ได้กระจายเหมือนหัวเมืองอื่นๆ.